การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอทำสัญญาจ้างนายบีเป็นพนักงานเก็บเงินที่ร้านขายขนมปัง  โดยมีกำหนดเวลาจ้าง  1  ปี  ในการนี้  นายซีได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายบี  โดยข้อความในสัญญาค้ำประกันข้อหนึ่งมีใจความว่า  นายซีขอรับผิดในความเสียหายร่วมกับนายลบี  หลังจากนั้น  3  วัน  นายซีได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์ของนายซีไว้เป็นประกันการชำระหนี้ให้นายเอ  ต่อมาเมื่อนายบีทำงานได้  3  เดือน  นายซีต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงได้ส่งจดหมายบอกเลิกการค้ำประกันไปยังนายเอ  แต่ปรากฏว่านายเอไม่อยู่ไปต่างจังหวัด  หลังจากที่มีจดหมายบอกเลิกการค้ำประกันแล้ว  นายบีได้ยักยอกเงินนายเอไปเป็นจำนวน  10,000  บาท  เมื่อนายเอกลับจากต่างจังหวัด  นายบีได้ยื่นจดหมายลาออกและนายเอได้อนุมัติให้นายบีลาออกไปและคืนรถจักรยานยนต์ให้นายบีไป  โดยนายเอยังไม่ทราบว่านายบีทุจริตยักยอกเงินของตนเองไป  เช่นนี้

1       นายเอจะเรียกร้องให้นายซีรับผิดได้หรือไม่อย่างไร

2       ถ้าหากนายซีจะต้องรับผิด  นายซีจะมีสิทธิตามกฎหมายค้ำประกันอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

 หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

 หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ เพราะทำด้วยความสำคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่ เข้าทำสัญญาผูกพันตน

มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกัน จะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษา ให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดใน พระราชอาณาเขต

มาตรา  689  ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม  ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้  และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  691  ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา  688, 689, และ  690 

มาตรา  699  การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้

ในกรณีเช่นนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้

วินิจฉัย

การค้ำประกันการจ้างแรงงานเป็นการค้ำประกันหนี้ในอนาคตซึ่งอาจมีการค้ำประกันได้ตามมาตรา  681  วรรคสอง  ดังนั้นนายซีจึงมีความผูกพันติองรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายบี  แม้เป็นหนี้ในอนาคตก็ตาม

 1       เมื่อปรากฏว่าการจ้างมีกำหนดเวลา  1  ปี  จึงเป็นการค้ำประกันที่มีกำหนดเวลา  แม้ว่าการจ้างแรงงานจะเป็นกิจการเนื่องกันไปหลายคราวก็ตาม  นายซีผู้ค้ำประกันก็ไม่อาจบอกเลิกก่อนครบกำหนด  1  ปีได้  ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายซีได้ส่งจดหมายบอกเลิกการค้ำประกันไปแล้วก็ตาม  การบอกเลิกสัญญานั้น  ก็ไม่มีผลบังคับทางกฎหมายตามมาตรา  699  เพราะมิใช่การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลา  นายซียังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  เมื่อนายบีได้ยักยอกเงินนายเอไปจำนวน  10,000 บาท  นายซีผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อนายเอเจ้าหนี้ด้วย

2       นายซีเป็นผู้ค้ำประกัน  โดยขอรับผิดร่วมกับนายบีลูกหนี้  ตามมาตรา  691  จึงไม่มีสิทธิตามมาตรา  688  690  ในเรื่องการเกี่ยงต่างๆกล่าวคือ

1)    ไม่มีสิทธิเกี่ยงให้นายเอเจ้าหนี้ไปเรียกให้นายบีลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน (มาตรา 688)

2)    ไม่มีสิทธิเกี่ยง  โดยขอพิสูจน์ว่านายบีลูกหนี้มีทรัพย์สินที่สามารถชำระหนี้ให้นายเอได้ (มาตรา 689)

3)    ไม่มีสิทธิเกี่ยงให้นายเอเจ้าหนี้บังคับเอากับหลักประกันที่ลูกหนี้ได้ให้ไว้เป็นประกัน (มาตรา  690)

กรณีที่นายเอเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้คืนรถจักรยานยนต์ที่นายซีส่งมอบไว้เป็นการจำนำให้นายบีไป  โดยไม่ปรากฏว่านายซีผู้จำนำซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์  ได้มอบหมายให้นายบีเป็นตัวแทนในการรับมอบนี้  จึงยังไม่มีการส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่จำนำกลับไปสู่ความครอบครองของนายซีผู้จำนำ  การจำนำจึงยังไม่ระงับตามมาตรา  769 (2)  ดังนั้น  นายเอเจ้าหนี้จึงยังคงเป็นผู้รับจำนำ  มีสิทธิเหนือรถจักรยานยนต์ของนายซีผู้จำนำ  และนายเอยังมีสิทธิเรียกร้องให้นายซีผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ด้วยจนกว่านายเอจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน

สรุป

1       นายซีผู้ค้ำประกันหนี้ในอนาคตต้องรับผิดตามมาตรา  681  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  699

2       นายซีผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิเกี่ยงตามมาตรา  688  690 (ตามมาตรา 691)

 

ข้อ  2  นางกาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้  นางกีเป็นลูกหนี้ของนางกา  นางกีได้นำที่ดินจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินยืมเป็นเงิน  100,000  บาท โดยการจำนองครั้งนี้นางกาได้กำหนดเงื่อนไขในการจำนองว่า

1       ห้ามมิให้นางกีนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองคนอื่นอีก

2       ให้ใช้ที่ดินดังกล่าวชำระหนี้โดยยกที่ดินให้นางกาทันทีหากนางกีผิดนัดชำระหนี้

ดังนี้  เงื่อนไขดังกล่าวใช้บังคับตามกฎหมายได้เพียงใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  711  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  ถ้าไม่ชำระหนี้  ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง  หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้  ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา  712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น  ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

วินิจฉัย

การจำนองที่ดินดังกล่าวถือเป็นการจำนองที่ถูกต้องตามกฎหมาย  เพราะมีการจดทะเบียนแล้ว  แต่เนื่องจากข้อกำหนดในสัญญาที่ว่า

1       ห้ามจำนองที่ดินดังกล่าว  (ที่ดินที่ได้นำมาจำนองนั้น)  กับคนอื่นอีกใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้  เนื่องจากเป็นการขัดกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  712  ที่ให้สิทธิเจ้าของที่ดินที่ติดจำนองไปทำสัญญาจำนองอีกได้  เงื่อนไขในการจำนองที่ห้ามจำนองซ้อนนี้  จึงเป็นการตกลงยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ผลคือ ตกเป็นโมฆะ

2       ให้ที่ดินที่จำนองตกเป็นของเจ้าหนี้  หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั้นใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้เช่นกัน  เป็นการขัดต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  711  ทั้งนี้ก็เพราะว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับจำนองตามที่กฎหมายบัญญัติ  และบทบัญญัติตามมาตรา  711 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  คู่สัญญาจะทำสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นไม่ได้  หากฝ่าฝืน  ผลคือ  ตกเป็นโมฆะ  ใช้บังคับไม่ได้

อย่างไรก็ดี  เฉพาะเงื่อนไขในการจำนอง  2  ข้อดังกล่าวเท่านั้นที่มีผลเป็นโมฆะ  ใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้  ส่วนสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองก็ยังคงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุป  เงื่อนไขดังกล่าวใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้  เป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นาย  ก  เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์จากนาย  ข  ในระหว่างที่นาย  ก  ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่หมด  นาย  ก  ได้นำเครื่องรับโทรทัศน์นั้นไปจำนำไว้กับนาย  ค  กรณีหนึ่งหรือ  นาย  ก  ได้นำเครื่องรับโทรทัศน์นั้นไปจำนำไว้กับโรงจำนำอีกกรณีหนึ่ง  โดยจำนำทั้งสองกรณีไว้เป็นจำนวนเงิน  8,000  บาท  และทั้งนาย  ค  และโรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริต

ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  ทั้ง  2  กรณีดังกล่าวข้างต้นนี้  นาย  ข  มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเครื่องรับโทรทัศน์นั้นโดยไม่ต้องไถ่ถอนทรัพย์จำนำได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  757  บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ  13  นี้  ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรงรับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย  หรือกฎข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

มาตรา  1336  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย  เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น  กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้  และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัย

กรณีจำนำไว้กับนาย ค   นาย  ก  เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไปจำนำไว้กับนาย  ค  กรรมสิทธิ์ในเครื่องรับโทรทัศน์ยังเป็นของนาย  ข  อยู่  นาย  ก  ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงจึงไม่มีสิทธิที่จะเอาเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำตามมาตรา  747  ดังนั้นในฐานะเจ้าของ  นาย  ข  จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้  ตามมาตรา  1336  นาย  ข  จึงฟ้องเรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนจากนาย  ค  ได้  โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ  การที่นาย  ก  เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไปจำนำไว้กับโรงรับจำนำนั้น  แม้นาย  ก  จะไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์ที่นำมาจำนำ  ตามมาตรา  747  แต่  โรงรับจำนำได้รับความคุ้มครองตาม  พ.ร.บ.  โรงรับจำนำ  พ.ศ.2505  และมาตรา  757  ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ  อีกทั้งตามปัญหาโรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริต  โรงรับจำนำจึงไม่ต้องคืนทรัพย์แก่เจ้าของที่แท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะเสียค่าไถ่ถอน

ดังนี้  นาย  ข  จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา  1336  โยนาย  ข  ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์จำนำ

สรุป

นาย  ข  มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเครื่องรับโทรทัศน์ได้  ตามมาตรา  1336  โดย

1       กรณีจำนำไว้กับนาย  ค  นั้น  นาย  ข  ไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

2       กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ  นาย  ข  ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์จำนำ

Advertisement