การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ดำกู้เงินแดง  ห้าหมื่นบาท  โดยมีขาว  เป็นผู้ค้ำประกัน  โดยคู่กรณีได้นำแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมและค้ำประกันมาใช้ในการทำสัญญา  แต่ดำ  (ผู้กู้)  แต่ผู้เดียวที่ลงลายมือชื่อในหนังสือกู้ยืม  โดยที่แดง  (ผู้ให้กู้)  มิได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย  สำหรับหนังสือสัญญาค้ำประกันก็มีเพียงแค่ลายมือชื่อของขาวผู้ค้ำประกัน  โดยที่แดง  (เจ้าหนี้)  มิได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย  ต่อมาดำผิดนัดไม่ชำระหนี้  แดงจึงฟ้องดำกับขาวให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันที่ทำไว้  ขาวต่อสู้คดีว่า  สัญญากู้ยืมและค้ำประกันเป็นโมฆะเพราะเหตุว่า  เจ้าหนี้มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับ  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์  ดังนี้ข้อต่อสู้ของขาวผู้ค้ำประกันรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

วินิจฉัย

สัญญาประเภทใดก็ตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือนั้น  ถือว่าเป็นแบบของสัญญา  สาระสำคัญก็คือ  คู่สัญญาต้องลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือสัญญานั้นๆ  ครบถ้วนทั้งสองฝ่าย  ถ้าขาดลายมือชื่อของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปย่อมถือว่าเป็นการผิดแบบของสัญญา  และตกเป็นโมฆะตามมาตรา  152  ซึ่งจะมีผลต่อการทำสัญญาค้ำประกัน  เพราะตามมาตรา  681  กำหนดว่าการค้ำประกันจะมีขึ้นได้เฉพาะเพื่อหนี้ประธานอันสมบูรณ์เท่านั้น

กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  สัญญากู้ยืมเงินที่มิได้ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมเป็นโมฆะหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 653  วรรคแรกในเรื่องการกู้ยืมเงินแล้วจะเห็นว่า  สัญญากู้ยืมเงินย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ยืมส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว  แม้การกู้ยืมนั้นจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือยังไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่อย่างไรก็ตามหากจะมีการฟ้องร้องคดีกัน  กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายได้  ดังนั้น  เรื่องของหลักฐานการฟ้องร้องบังคับคดีดังกล่าว  มิใช่เรื่องแบบของสัญญา  การที่สัญญากู้ยืมเงินขาดลายมือชื่อของผู้ให้กู้  ก็ไม่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด  ข้อต่อสู้ของขาวในประเด็นนี้รับฟังไม่ได้

กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาคือ  สัญญาค้ำประกันที่มิได้ลงลายมือชื่อผู้เป็นเจ้าหนี้จะตกเป็นโมฆะหรือไม่  เห็นว่า  ในเรื่องการค้ำประกันมีเหตุผลเช่นเดียวกับการกู้ยืมเงิน  คือ  หนังสือสัญญามิใช่แบบของการค้ำประกัน  แต่เป็นเพียงหลักฐานการฟ้องร้องบังคับคดีเท่านั้น สัญญาค้ำประกันที่ขาดลายมือชื่อเจ้าหนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด  ข้อต่อสู้ของขาวในประเด็นดังกล่าวก็รับฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน 

ดังนั้นเมื่อหนี้ประธาน  คือ  หนี้กู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆะ  จึงมีการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ประธานดังกล่าวได้ตามมาตรา  680  ประกอบมาตรา  681  วรรคแรก  เช่นนี้เมื่อปรากฏว่า ดำลูกหนี้ผิดนัด  แดงจึงฟ้องดำให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก  และฟ้องขาวให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ตามมาตรา  680  วรรคสอง

สรุป  ข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกันรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  เอถูกฟ้องคดีแพ่งเรื่องหนึ่งว่า  ได้ว่าจ้างโทเป็นทนายว่าความแก้ต่างโดยจะให้ค่าจ้าง  20,000  บาท  โดยมีบี  มอบนาฬิกาจำนำเป็นประกันค่าจ้างว่าความไว้  การว่าจ้างและจำนำไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ  เพราะต่างก็เป็นเพื่อนและไว้วางใจต่อกัน  ต่อมาคดีเสร็จโทได้มีจดหมายบอกกล่าวให้เอและบีชำระค่าจ้าง  แต่คนทั้งสองไม่ชำระ  โทจึงนำนาฬิกาออกขายทอดตลาดได้เงิน  15,000  บาท  ดังนี้ โทจะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  5,000  บาท  จากเอและบีได้หรือไม่  ให้ท่านวินิจฉัย

ธงคำตอบ

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

การจำนำเป็นสัญญาที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  เพียงแต่ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้แก่ผ็รับจำนำแล้ว  จึงจะถือว่าเป็นการจำนำตามกฎหมาย  ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำจึงบังคับจำนำโดยเอาทรัพย์จำนำนั้นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้

เมื่อมีการบังคับจำนำแล้วได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่  ตามมาตรา  767  วรรคสอง

สำหรับหนี้ที่ค้างชำระหลังจากที่มีการบังคับจำนำนั้น  กฎหมายกำหนดให้ลูกหนี้เท่านั้นต้องรับผิดและผู้เป็นเจ้าหนี้จะฟ้องร้องเรียกส่วนที่ยังขาดได้ต่อเมื่อหนี้ประธานใช้ฟ้องร้องบังคับตามกฎหมายได้ด้วย  เช่น  ในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง  จึงจะฟ้องร้องได้  เป็นต้น

ตามอุทาหรณ์หนี้ประธานที่ลูกหนี้นำนาฬิกามาจำนำเป็นประกัน  คือ  หนี้ค่าจ้างว่าความซึ่งการจ้างว่าความจัดเป็นสัญญาจ้างทำของ กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องบังคับคดีได้แต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อบังคับจำนำนาฬิกาได้เงิน  15,000  บาท  โทจึงฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่อีก  5,000  บาท  จากเอลูกหนี้ได้

ส่วนบีนั้น  โทฟ้องเรียกไม่ได้  เพราะบีมิใช่ลูกหนี้เป็นแต่เพียงผู้เอาทรัพย์สินมาจำนำเป็นประกันเท่านั้น  และเมื่อมีการบังคับจำนำแล้ว  การจำนำย่อมระงับสิ้นไป

สรุป  โทสามารถฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  5,000  บาท  จากเอได้  แต่จะเรียกจากบีไม่ได้

 

ข้อ  3  ให้นักศึกษาจงอธิบายถึงบทบัญญัติในมาตรา  725  ว่ามีความหมายเช่นใด  และมีความสอดคล้องกับทางปฏิบัติหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  725  เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้  แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  และมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองคนอื่นๆต่อไปได้ไม่

อธิบาย

หลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่ผู้จำนองและลูกหนี้มิได้เป็นบุคคลคนเดียวกัน  โดยผู้จำนองหลายคนได้จำนำทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้รายเดียวกัน  แต่มิได้ระบุลำดับการบังคับจำนองไว้

ตัวอย่างเช่น  นาย  ก  กู้ยืมเงินนาย  ข  50,000  บาท  โดยมีนาย  ค  จำนองที่ดินและนาย  ง  จำนองเรือเป็นประกันการชำระหนี้  โดยมิได้ตกลงกันว่าจะต้องบังคับจำนองทรัพย์จำนองใดก่อน  หากต่อมาผู้จำนองคนใดได้เป็นผู้ชำระหนี้  หรือเจ้าหนี้จะเลือกบังคับจำนองเรือของนาย  ง  ก่อน  เช่นนี้  นาย  ง  เจ้าของเรือไม่มีสิทธิเกี่ยงว่าต้องไปบังคับจำนองเอาจากที่ดินก่อน  เพราะในกรณีที่ไม่มีการระบุลำดับไว้  เจ้าหนี้มีสิทธิตามมาตรา  734  ที่จะบังคับจำนองเอาจากทรัพย์ใดก่อนก็ได้  ทั้งในเรื่องจำนอง  กฎหมายมิได้ให้นำมาตรา  688  690 มาใช้บังคับแต่อย่างใด

ผลก็คือ  นาย  ค  และนาย  ง  ซึ่งเป็นผู้ได้ชำระหนี้หรือถูกบังคับจำนองไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองคนอื่นๆ  ต่อไปเช่นอย่างกรณีของผู้ค้ำประกัน  ตามมาตรา  682  วรรคสอง  แต่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม  แม้การจำนองจะระบุลำดับไว้  และเจ้าหนี้ได้บังคับจำนองตามลำดับ  ผู้จำนองคนใดทรัพย์ของตนถูกบังคับจำนอง  ผู้จำนองคนนั้นก็ไม่สามารถไปไล่เบี้ยผู้จำนองคนอื่นๆได้เช่นเดียวกัน  เพราะหากให้สิทธิไล่เบี้ยกันได้แล้ว  การระบุลำดับการบังคับจำนองก็จะไม่มี่ความหมายใดเลย  หาจำต้องบัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่  ดังนั้นหลักกฎหมายตามมาตรา  725  จึงไม่สอดคล้องกับทางปฏิบัติในทางบังคับจำนอง

Advertisement