การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมายืมรถจักรยานยนต์ของเดชาเพื่อนบ้านเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดหกเดือน  เมื่อบุญมารับรถจักรยานยนต์แล้ว  ก็นำไปใช้งานตามปกติและในตอนเย็นนำไปรับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  เย็นวันหนึ่งถูกรถยนต์ของอับโชคชนท้าย  ทำให้รถจักรยานยนต์ที่ยืมมาเสียหายโยมิใช่ความผิดของบุญมาแต่อย่างใด  ดังนี้ถ้าเดชามีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์  เดชาจะเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนดหกเดือนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

สัญญายืมระหว่างบุญมาและเดชาเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  บุญมาผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถจักรยานยนต์ตามที่ตกลงกับเดชาไว้  กล่าวคือ  เพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนด  6  เดือน  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในตอนเย็นบุญมาผู้ยืมนำรถจักรยานยนต์ที่ยืมนั้นไปใช้รับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  ซึ่งมิได้มีการตกลงกับเดชาผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปใช้สอยนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น  ผู้ยืมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืมก็ตาม  ทั้งนี้เพราะมาตรา  643  กำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดในกรณีใดๆ  รวมทั้งเหตุสุดวิสัยหากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม

นอกจากนี้  ในกรณีที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของตนตามมาตรา  643  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้ยืมบอกเลิกสัญญา  และเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมก่อนครบกำหนดได้ตามมาตรา  645  ดังนั้นเดชาสามารถเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนด  6  เดือนได้

สรุป  เดชาผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกรถจักรยานยนต์คืนก่อนครบกำหนด  6  เดือนได้

 

ข้อ  2  นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันมีใจความว่า  จะขอยืมเงินนายโทจำนวนสักสามหมื่นบาทไปทำทุน  ถ้าได้กำไร  มีเงินเหลือพอแล้วจะใช้คืนให้ในปีหน้า  ลงชื่อนายเอก  นายโทจึงฝากเงินจำนวนสามหมื่นบาทกับนายตรีเพื่อส่งมอบให้กับนายเอก  ผ่านไป  1  ปี  นายโทเห็นนายเอกเงียบเฉยไม่พูดถึงการชำระหนี้เงินที่ยืมไป  จึงเกิดความร้อนใจและขอให้ผู้ใหญ่บ้านไปทวงหนี้ให้  นายเอกจึงเขียนจดหมายฝากผู้ใหญ่บ้านมาถึงนายโทใจความในจดหมายมีดังนี้  เรียนนายโทผมไม่เคยยืมเงินคุณมาทำทุนเลย  จะชดใช้คืนให้ได้อย่างไร  ลงชื่อ  เอก

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  จดหมายดังกล่าวและตัวนายตรีนั้นนายโทจะใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีกู้ยืมเงินตามมาตรา  653 วรรคแรกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงิน  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ตามมาตรา  650

มาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นว่าจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่า เป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ข้อเท็จจริงปรากฏคือ  จดหมายฉบับแรกอ่านแล้วได้ความว่านายเอกจะขอยืมเงินนายโทจำนวนสักสามหมื่น  ส่วนนายโทจะส่งมอบเงินจำนวนนั้นให้กับนายเอกหรือไม่  ไม่มีข้อความกล่าวถึง  จึงถือว่าการกู้เงินดังกล่าวไม่ได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้  และนายตรีนั้นก็เป็นพยานบุคคลไม่สามารถนำสืบว่ามีการส่งมอบเงินแล้วได้  ส่วนจดหมายฉบับที่สองนายเอกก็ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินนายโทแต่อย่างใด  ดังนั้นนายโทจะใช้จดหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวและตัวนายตรีซึ่งเป็นพยานบุคคลเป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีกู้ยืมเงินตามมาตรา  653  วรรคแรกไม่ได้

สรุป  นายโทจะใช้จดหมายทั้งสองฉบับและนายตรีมาเป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีกู้ยืมเงินไม่ได้

 

ข้อ  3  นายแดงรับฝากรถยนต์ของนายดำไว้  โดยตกลงจะให้บำเหน็จค่าฝากกัน  เมื่อนายดำมารับรถยนต์คืน  ปรากฏว่าเบาะรถมีกลิ่นเหม็นชื้น  พรมขึ้นรา  ทั้งนี้เนื่องจากนายแดงปล่อยทิ้งให้รถตากฝน  ไม่คอยดูแลปิดกระจกรถ  ฝนสาดเข้ามาให้พรมรถชื้น  ขึ้นรา  ต้องไปให้อู่ซ่อมรถซักพรมเสียค่าใช้จ่ายไป  5,000  บาท  นายดำจึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย  แต่นายแดงต่อสู้ว่าแม้รถของนายแดงเองก็ปล่อยทิ้งตากฝนเช่นกัน 

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายแดงรับฟังได้หรือไม่  นายแดงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  5,000  บาทต่อนายดำหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องการฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จค่าฝากซึ่งมาตรา  659  วรรคสองกำหนดให้ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่รับฝากไว้เหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติปฏิบัติแต่จากข้อเท็จจริงการที่นายแดงละเลยไม่ดูแลทรัพย์กลับปล่อยรถยนต์ที่รับฝากตากฝนจนเบาะรถมีกลิ่นเหม็นชื้น  พรมในรถชื้นขึ้นรา  โดยอ้างการปฏิบัติที่เคยทำต่อรถยนต์ของตนเองเป็นข้อต่อสู้  จึงผิดหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จ  ข้อต่อสู้ของนายแดงจึงฟังไม่ขึ้น  เพราะเรื่องนี้มิใช่การฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จ  หากจะใช้เกณฑ์ของตนเองในการปฏิบัติต่อทรัพย์ที่รับฝากนั่นย่อมหมายถึงการฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จตามมาตรา  659  วรรคแรก

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังไม่ขึ้น  นายแดงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่นายดำ  5,000  บาท

Advertisement