การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมในกรณีใช้สอยทรัพย์สินไม่ถูกต้อง  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643  มีอย่างไรบ้าง  ให้อธิบายหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  คือ  ผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งคือผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า  โยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ  และผู้ยืมก็ตกลงว่าเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว  ก็จะนำทรัพย์สินนั้นมาคืนให้  ดังนี้จะเห็นว่าผู้ยืมเป็นผู้ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว  กล่าวคือ  ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมและยังไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอีกด้วย  แต่การใช้ทรัพย์สินที่ยืมผู้อื่นเขามามิได้หมายความว่า  จะใช้เอาประโยชน์ของตนตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้ให้ยืมนั้น

จากบทบัญญัติตามมาตรา  643  ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้  4  ประการ  คือ  ใช้ทรัพย์สินที่ยืมตามการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  ไม่เอาไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญา  ไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  หรือไม่เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้  และยังกำหนดอีกว่า  ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลาย  ถึงแม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  ก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว  หากความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิด

สำหรับกรณีที่จะถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ตามมาตรา  643  มีดังนี้คือ

 1       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์นั้น  เช่น  ขอยืมใบมีดโกนเขามาแทนที่จะโกนหนวดโกนเครา  กลับเอาไปเหลาดินสอหรือหั่นเนื้อหั่นหมู  หรือยืมม้าแทนที่จะเอาไปขี่กลับเอาไปลากรถ  ลากซุง  เป็นต้น

2       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  เช่น  ขอยืมรถไปทำงานในกรุงเทพฯ  แต่กลับขัยรถออกไปนอกเส้นทางไปเที่ยวชลบุรี  เป็นต้น

3       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหาย  เช่น  ขอยืมวัวไปไถนา  2  เดือน  ผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วภายใน  1  เดือน  แต่ไม่ส่งคืน  กลับเอาไปให้บุคคลใช้สอยจนเกิดความเสียหายขึ้น  เช่นนี้ถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว

4       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  กล่าวคือ  เป็นการที่ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์ที่ยืมล่าช้า  เช่น  ขอยืมรถมาใช้  3  วัน  เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่เอามาคืน  หรือในกรณีที่สัญญามิได้กำหนดเวลาส่งคืน  แต่ไม่ปรากฏว่ายืมเพื่อการใด  หากผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้ว  หรือเวลาล่วงเลยไปพอแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นแล้วก็ยังไม่ส่งคืน  เป็นต้น

ดังนั้น  เมื่อผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ผู้ยืมก็ต้องรับความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

อนึ่งคำว่า  เหตุสุดวิสัย  หมายความว่า  เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น  จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น  เช่น  ฟ้าผ่า  แผ่นดินไหว  น้ำท่วม  ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น  นาย  ก.  ยืมรถยนต์นาย  ข.  ไปท่องเที่ยวพัทยา  แต่นาย  ก.  กลับขับรถไปนครสวรรค์เพื่อไปรับเพื่อนก่อน  ในระหว่างทางนั้นมีพายุฝนตกหนัก  ฟ้าผ่ารถคันที่นาย  ก.  ยืมไปเสียหาย  เช่นนี้  ถือว่านาย  ก.  ประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม  โดยเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญาแล้ว  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  นาย  ก.  ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่  นาย  ข.  ผู้ให้ยืมด้วย

สรุป  ผู้ยืมใช้คงรูปมีหน้าที่และความรับผิด  ในกรณีการใช้สอยทรัพย์สิน  ตามมาตรา  643  ดังกล่าวข้างต้น 

 

ข้อ  2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  653  วรรคสอง  บัญญัติว่า  ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  คำว่า  การใช้เงิน  ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร

นายเอกยืมเงินนายโทมา  10,000  บาท  ต่อมาโทฟ้องเอกขอเรียกเงินยืมคืน  ดังนี้  เอกจะต่อสู้ว่าได้โอนรถจักรยานยนต์ชำระหนี้แทนเงินไปแล้ว  โดยขอนำสืบพยานบุคคลคือนายตรี  ผู้อยู่ด้วยขณะที่นำรถจักรยานยนต์มามอบให้  จะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

คำว่า  การใช้เงิน  ตามมาตรา  653 วรรคสอง  จะเกิดขึ้นต่อเมื่อการกู้ยืมเงินนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือตามบทบังคับของกฎหมายการใช้เงินจึงต้องมีหลักฐานการใช้เงิน  จึงจะนำสืบต่อศาลว่าได้มีการใช้เงินนั้นแล้ว

ฉะนั้น  การใช้เงินตามนัยมาตรา  653  วรรคสอง  หมายความถึง  การใช้เงินต้นเท่านั้นไม่รวมถึงดอกเบี้ย  กล่าวคือ  เป็นการนำเงินสดที่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายมาชำระหนี้เงินต้นเท่านั้น  หากเป็นการใช้เงินต้นด้วยวิธีอื่น  เช่น  ชำระหนี้ด้วยบัตรเครดิต  เช็ค  หรือชำระหนี้ด้วยสร้อยเพชร  ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานการใช้เงิน  สามารถนำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการใช้เงินต้นกันแล้วได้  เช่นเดียวกันหากการกู้ยืมเงินกันมีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่การใช้เงินต้นคืนไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ซึ่งผู้กู้ก็ได้ชำระคืนไปแล้ว  เช่นนี้  ผู้กู้จำต้องชำระเงินคืนให้ผู้ให้กู้อีกครั้งหนึ่ง  จะนำพยานบุคคลมานำสืบการใช้เงินไม่ได้

อนึ่งการใช้ดอกเบี้ยคืน  ก็หามีบทบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานการใช้คืนดอกเบี้ยแต่อย่างใด  สามารถนำพยานบุคคลมาสืบการใช้คืนดอกเบี้ยได้  (ฎ.  243/2503,  1051/2503)

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นายเอกยืมเงินนายโท  10,000  บาท  และถูกนายโทฟ้องเรียกเงินคืนนายเอกต่อสู้ว่าได้โอนรถจักรยานยนต์ชำระหนี้แทนเงิน โดยขอนำสืบพยานบุคคลผู้อยู่ด้วยขณะชำระหนี้คือนายตรี  กรณีนี้สามารถขอนำสืบพยานบุคคลได้  เพราะเอกมิได้นำสืบการใช้เงินต้นจึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงต่อศาลตามมาตรา  653  วรรคสอง  แต่อย่างใด

สรุป  นายเอกนำพยานบุคคลมานำสืบได้

 

ข้อ  3  นายรุ่งเรืองเอารถยนต์ไปฝากไว้กับนายเอกโดยไม่ได้อนุญาตให้นายเอกใช้รถ  และไม่ได้ตกลงเรื่องบำเหน็จกัน  เมื่อนายเอกรับฝากแล้วกลับนำรถไปใช้รับจ้างเป็นรถโดยสาร  วันหนึ่งผู้โดยสารรายหนึ่งจ้างนายเอกขับรถไปขึ้นศาลที่จังหวัดลพบุรี  และชวนนายเอกให้ไปนั่งในห้องพิจารณาคดีด้วย  นายเอกจึงจอดรถไว้ที่หน้าศาลจังหวัดลพบุรี  เมื่อลงมาพบว่ารถถูกขโมยไป  นายรุ่งเรืองรู้ว่ารถถูกขโมยจึงเรียกให้นายเอกชดใช้ค่าเสียหาย  นายเอกปฏิเสธว่าตนรับฝากรถโดยไม่มีบำเหน็จ  และได้ใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินเหมือนเช่นประพฤติปฏิบัติในกิจการของตนเองแล้วจึงไม่ต้องรับผิด  เช่นนี้  ข้อต่อสู้ของนายเอกฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

มาตรา  660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ  ข้อต่อสู้ของนายเอกที่ว่าตนรับฝากรถโยไม่มีบำเหน็จ  และได้ใช้ความระมัดระวังสงวนรักษาทรัพย์สินเหมือนเช่นเคยประพฤติปฏิบัติในกิจการของตนเองแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดฟังขึ้นหรือไม่    เห็นว่า  การที่นายเอกรับฝากรถโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝากตามมาตรา  659  วรรคแรก  ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้รับฝากใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ตนรับฝากไว้นั้นไม่มากหรือน้อยไปกว่าการสงวนรักษาทรัพย์สินของตน  กล่าวคือ  นอกจากผู้รับฝากจะไม่ได้ค่าตอบแทนในการรับฝากทรัพย์สินนั้นแล้ว  ผู้รับฝากยังต้องรับภาระหน้าที่ดูแลระมัดระวังทรัพย์สินที่รับฝากอีกด้วย  กฎหมายกำหนดหน้าที่เท่านั้นก็นับว่าเพียงพอแล้ว  ดังนั้นการที่นายเอกไปนั่งในห้องพิจารณาคดี  โดยจอดรถไว้หน้าศาล  จึงไม่เป็นการประพฤติผิดหน้าที่ตามมาตรา  659  ดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ตาม  แม้นายเอกจะไม่ได้ผิดหน้าที่สงวนทรัพย์สิน  แต่นายเอกก็ผิดหน้าที่ตามมาตรา  660  โดยนำรถยนต์ที่รับฝากออกใช้สอยโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ฝากก่อน  เมื่อทรัพย์สินที่ฝากสูญหายโดยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายอยู่นั่นเอง  นายเอกก็ต้องรับผิด  จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบของผู้รับฝากตามมาตรา  660  แม้เป็นกรณีการรับฝากโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝาก  ผู้รับฝากก็คงต้องรับผิดจากผลที่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว  หากนายเอกไม่นำรถยนต์ออกมาใช้สอยก่อนแล้ว  การที่รถยนต์จะถูกขโมยไปอาจจะไม่เกิดมีขึ้น  ดังนั้นแม้จะอ้างว่าได้สงวนทรัพย์สินเช่นที่ได้ปฏิบัติกับทรัพย์สินของตนก็คงไม่ได้  ข้อต่อสู้จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเอกฟังไม่ขึ้น

Advertisement