การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายดำให้นายแดงยืมรถยนต์ทีกำหนดหนึ่งปี  เมื่อนายแดงใช้รถยนต์ไปได้สามเดือน  นายดำพบว่านายแดงไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์เช่นคนโดยทั่วไป  ปล่อยให้รถยนต์ชำรุดทรุดโทรม  นายดำเห็นว่าถ้าให้นายแดงใช้รถยนต์ต่อไปคงจะเกิดความเสียหายมากขึ้น  ถ้านายดำต้องการบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเอาค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา  213  วรรคท้าย  อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

วินิจฉัย

นายดำให้นายแดงยืมรถยนต์มีกำหนดหนึ่งปี  เป็นการที่ผู้ให้ยืมใช้สอยรถยนต์ได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนรถยนต์เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว  จึงเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640

กรณีสัญญายืมใช้คงรูปที่ปรากฏว่าผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์ที่ยืมอย่างเช่นวิญญูชน  กล่าวคือ  ไม่ดูแลรักษาทรัพย์สินที่ยืมไปอย่างเช่นบุคคลธรรมดาสามัญทั่วๆไป  ทำให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมสภาพหรือเสียหายไปอย่างใดอย่างหนึ่งเร็วเกินไป  ตามมาตรา  644  ซึ่งผลทางกฎหมายตามมาตรา  645  ให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

1       บอกเลิกสัญญา  และเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืมได้ทันที  โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลาในสัญญา  หรือ

2       เรียกให้ผู้ยืมดูแลรักษาทรัพย์สินตามหน้าที่ที่บัญญัติในมาตรา  644

อย่างไรก็ดีแม้ผู้ให้ยืมจะใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว  หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการไม่สงวนทรัพย์สินของผู้ยืมนั้น  ผู้ให้ยืมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  ตามมาตรา  213  วรรคท้าย  แม้ว่ามาตรา  644  จะมิได้กำหนดความรับผิดไว้ก็ตาม

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นกรณีที่นายแดงไม่สงวนรถยนต์ที่ยืมอย่างเช่นวิญญูชนตามมาตรา  644  เป็นผลให้รถยนต์ชำรุดทรุดโทรม  ย่อมทำให้นายดำผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  ตามมาตรา  645  และมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายได้ตามมาตรา  213  วรรคท้าย

สรุป  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้อกเอาค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ข้อ  2  นาย  ก.  ยืมเงินนาย  ข.  2,000  บาท  โดยมีข้อตกลงว่าถ้าหากนาย  ก.  คืนเงินไม่ได้ภายใน  10  วัน  นาย  ข.  จะยึดเอาสายสร้อยคอทองคำของนาย  ก.  มาชำระหนี้

ดังนี้เมื่อพ้น  10  วันแล้ว  นาย  ข.  เจ้าหนี้จะยึดเอาสร้อยคอทองคำดังกล่าว  เพื่อการชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  656  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน  และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้  ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ  ณ  สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใดๆ  ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้  ท่านว่าเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา  650  และตามมาตรา  653  ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินไว้ดังนี้

1       ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะฟ้องร้องคดีกันได้  กล่าวคือ  หากเป็นกรณีการกู้ยืมเงิน  2,000  บาทหรือน้อยกว่านั้นหากไม่มีการทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้  แต่หากเป็นจำนวนเงินมากกว่า  2,000 บาท  ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้  และ

2       ต้องลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  หากมีการทำหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสือ  แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้ยืม  จะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้เลย

กรณีตามอุทาหรณ์  นาย  ก.  กู้ยืมเงินนาย  ข.  2,000  บาท  ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่เกิน  2,000  บาท  จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม  ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

สำหรับการชำระหนี้เงินกู้นั้น  โดยหลักแล้วเมื่อกู้ยืมเงิน  การชำระหนี้ก็ต้องชำระด้วยเงินเท่านั้น  จะชำระหนี้เป็นอย่างอื่นไม่ได้  เว้นแต่จะมีข้อตกลงให้ชำระหนี้เป็นอย่างอื่นได้  ซึ่งตามมาตรา  656  วรรคสองได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้  คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดของทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบ  หนี้ก็เป็นอันระงับไป  และหากมีข้อตกลงที่แตกต่างไปจากนี้  ข้อตกลงนั้นก็จะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  656  วรรคสาม

ข้อตกลงที่ว่าถ้าหากนาย  ก.  คืนเงินไม่ได้ภายใน  10  วัน  นาย  ข.  จะยึดเอาสร้อยคอทองคำมาใช้หนี้นั้น  ถือว่าเป็นข้อตกลงให้ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้เป็นอย่างอื่นแทนเงินได้  ตามมาตรา  656  วรรคสอง  แต่นาย  ข.  จะยึดเอาสร้อยคอทองคำทันทีไม่ได้  เพราะตามหลักกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ตีราคาสร้อยคอทองคำตามราคาท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบก่อน  ดังนั้นเมื่อไม่มีการตีราคาทรัพย์สินก่อนชำระหนี้  ผู้ให้กู้ยืมจะยึดทรัพย์สินตามที่ตกลงกันทันที่ไม่ได้

สรุป  นาย  ข.  จะยึดสร้อยคอทองคำเพื่อชำระหนี้เงินกูทันทีไม่ได้

 

ข้อ  3  นางสมศรีเป็นเจ้าสำนักโรงแรมแห่งหนึ่งได้ต้อนรับนายเข้มเข้าพักในโรงแรมของตน  ในระหว่างพักอยู่ในโรงแรมของนางสมศรี นายเข้มได้ชวนนางสุดสวยมานอนเป็นเพื่อนเพื่อคลายความเหงา  เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้านางสุดสวยกลับออกไปโดยขโมยเงินสดไปด้วยห้าพันบาท  นายเข้มจึงรีบลงไปแจ้งให้นางสมศรีทราบ  แต่ระหว่างลงไปได้แวะเข้าห้องน้ำชั้นล่างในโรงแรมและถอดนาฬิกาข้อมือราคา  2,500  บาท  ลืมทิ้งไว้ที่อ่างล้างหน้า  ปรากฏว่านาฬิกาหายไป

ดังนี้  นางสมศรีจะต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายเข้มอย่างไรบ้าง  หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  675  วรรคสาม  แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

นางสมศรีไม่ต้องรับผิดชอบเงิน  5,000  บาท  ของนายเข้มเพราะความเสียหายเกิดจากคนที่แขกต้อนรับเข้ามาในห้องพักเอง  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในความผิดของโรงแรม  ตามมาตรา  675  วรรคสาม

ส่วนนาฬิกาข้อมือราคา  2,500  บาท  หายไปขณะเข้าห้องน้ำชั้นล่างของโรงแรม  ก็เกิดจากความผิดของนายเข้มเองที่ประมาทเลินเล่อลืมทิ้งไว้  จึงเป็นข้อยกเว้นที่โรงแรมไม่ต้องรับผิดเช่นกัน

สรุป  นางสมศรีไม่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายเข้มทั้งสองกรณี

Advertisement