การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  ถ้าผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์สินอย่างเช่นวิญญูชนและทรัพย์สินที่ยืมนั้นเกิดความเสียหาย  ผู้ยืมจะต้องรับผิดหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีสัญญายืมใช้คงรูปที่ปรากฏว่าผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์สินที่ยืมอย่างวิญญูชน  และทรัพย์สินที่ยืมนั้นเกิดความเสียหายนั้น  แม้ตามมาตรา 644  มิได้บัญญัติกำหนดลงชัดเจนเลยว่า  ให้ผู้ยืมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม  แต่ถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายเอกเทศสัญญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงก็ต้องนำหลักกฎหมายในบรรพ  2  หนี้  ลักษณะ  1  บทเบ็ดเสร็จทั่วไป  หมวด  2  ผลแห่งหนี้  ส่วนที่  1  การไม่ชำระหนี้มาตรา  213  มาใช้บังคับ  ซึ่งวางหลักไว้ว่า  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้…อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากกระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่  

ตัวอย่างเช่น  ผู้ยืมขอยืมรถยนต์เข้ามาเก็บไว้กลางแดด  ถือว่าเป็นกรณีที่ผิดวิสัยวิญญูชนจะพึงกระทำ  เพราะฉะนั้นถ้ารถยนต์เสียหายเช่นสีที่ทาลอกหลุดออกไป  เจ้าหนี้คือผู้ให้ยืมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายได้  ตามนัยมาตรา  213  วรรคท้าย  ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น  ในกรณีดังกล่าวผู้ยืมยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ให้ยืม

 

ข้อ  2  นางสาวจุ๊บแจงขอยืมเงินนางสาวน้อยพี่สาวแท้ๆ  ของตนไปเล่นหวยใต้ดินเป็นจำนวนเงิน  5,000  บาท  โดยทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของนางสาวจุ๊บแจงเป็นผู้กู้  แต่ในการกู้ยืมนี้มี  ด.ช.เอก  และ  ด.ญ.แจ๋ว  ลงชื่อเป็นพยาน  ทั้งคู่กำลังเรียนอยู่ชั้น  ม.2  อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ  นอกจากนั้นในสัญญากู้ยืมเงินยังระบุอีกว่า  ผู้กู้ยืมจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  3  บาทต่อเดือน  ดังนี้  นางสาวจุ๊บแจงจะต้องชำระเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

การที่นางสาวจุ๊บแจงขอยืมเงินนาวสาวน้อยพี่สาวแท้ๆ  จำนวน  5,000  บาท  โดยทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ  และลงลายมือช่อของนางสาวจุ๊บแจงเป็นผู้กู้  เช่นนี้ตามปกติแล้วก็ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา  653  แม้การกู้ยืมเงินครั้งนี้จะมี ด.ช.เอก  และ  ด.ญ.แจ๋ว  ลงชื่อเป็นพยาน  ซึ่งทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ก็ไม่ทำให้สัญญากู้ยืมเงินเสียไป  เพราะสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวผู้ยืมได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง  มิใช่กรณีการพิมพ์ลายนิ้วมือที่จะต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแต่อย่างใด  อีกทั้งตามมาตรา  653  ก็บัญญัติแต่เพียงว่า  ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  เท่านั้น  สัญญากู้ยืมเงินก็สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว 

อย่างไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  การกู้ยืมเงินครั้งนี้นางสาวจุ๊บแจงขอยืมไปเพื่อเล่นหวยใต้ดิน  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของสัญญากู้ยืมเงินเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามมาตรา  150  สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนางสาวจุ๊บแจงกับนางสาวน้อยจึงตกเป็นโมฆะ  เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ  จึงไม่จำต้องพิจารณาในส่วนของดอกเบี้ยแต่อย่างใด  แม้ดอกเบี้ยจะเรียกเกินอัตราของกฎหมายตามมาตรา  654  หรือตาม  พ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  เช่นนี้ทั้งสองจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกัน  นางสาวจุ๊บแจงจึงไม่ต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแต่อย่างใด

สรุป  นางสาวจุ๊บแจงไม่ต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  เพราะสัญญาเป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์เอารถยนต์ไปฝากไว้กับนายจันทร์เป็นเวลา  3  เดือน  โดยไม่อนุญาตให้เอารถไปใช้งานและไม่ได้ตกลงว่าจะให้บำเหน็จค่าฝากกัน  เมื่อนายจันทร์รับฝากแล้วกลับนำออกใช้งานและดูแลรักษาอย่างดีเหมือนเป็นรถของตน  วันหนึ่งเมื่อขับรถไปซื้ออาหารที่ตลาดกลับมาพบว่ากระจกรถถูกทุบแตกและคนร้ายได้ขโมยของมีค่าที่วางไว้ในรถไป  ต่อมานายอาทิตย์มารับรถคืนจึงเรียกให้นายจันทร์จ่ายค่าเสียหายที่กระจกรถแตก  นายจันทร์ปฏิเสธ  อ้างว่าตนรับฝากทรัพย์ไว้โดยไม่มีบำเหน็จ  และขณะรับฝากได้ใช้ความระมัดระวังสงวนรักษาทรัพย์สิน  เหมือนเช่นดูแลรถยนต์ของตนเองแล้วจึงไม่ต้องรับผิด  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของนายจันทร์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

มาตรา  660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  คือ  ข้อต่อสู้ของนายจันทร์ที่ว่า  ตนรับฝากรถโดยไม่มีบำเหน็จ  และได้ใช้ความระมัดระวังสงวนรักษาทรัพย์สินเหมือนเช่นเคยประพฤติปฏิบัติในกิจการของตนเองแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิด  ฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายจันทร์รับฝากรถโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝากตามมาตรา  659  วรรคแรก  ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้รับฝากใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ตนรับฝากไว้นั้นไม่มากหรือน้อยไปกว่าการสงวนรักษาทรัพย์สินของตน  กล่าวคือ  นอกจากผู้รับฝากจะไม่ได้ค่าตอบแทนในการรับฝากทรัพย์สินนั้นแล้ว  ผู้รับฝากยังต้องรับภาระหน้าที่ดูแลระมัดระวังทรัพย์สินที่รับฝากอีกด้วย  กฎหมายกำหนดหน้าที่เท่านั้นก็นับว่าเพียงพอแล้ว  ดังนั้นการที่นายจันทร์ขับรถยนต์ของนายอาทิตย์ไปซื้ออาหารที่ตลาดกลับมาพบว่ากระจกรถถูกทุบแตกและคนร้ายได้ขโมยของมีค่าในรถไป  เช่นนี้การกระทำดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการที่นายจันทร์ประพฤติผิดหน้าที่ตามมาตรา  659  แต่อย่างไรก็ตามแม้นายจันทร์จะไม่ได้ผิดหน้าที่สงวนทรัพย์สินแต่นายจันทร์ก็ผิดหน้าที่ตามมาตรา  660  โดยนำรถยนต์ที่ผู้รับฝากออกใช้สอยโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ฝากก่อน  เมื่อทรัพย์สินที่ฝากสูญหายโดยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายอยู่นั่นเอง  นายจันทร์ก็ต้องรับผิด  จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบของผู้รับฝากตามมาตรา  660  แม้เป็นกรณีการรับฝากโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝาก  ผู้รับฝากก็คงต้องรับผิดจากผลที่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว  หากนายจันทร์ไม่นำรถยนต์ออกใช้สอยแล้ว  การที่รถยนต์จะถูกขโมยไปอาจจะไม่เกิดมีขึ้น  ดังนั้นแม้จะอ้างว่าได้สงวนทรัพย์สินเช่นที่ได้ปฏิบัติกับทรัพย์สินของตนก็คงไม่ได้  ข้อต่อสู้จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายจันทร์ฟังไม่ขึ้น

Advertisement