การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นิกรยืมรถยนต์ของนิยมเพื่อนบ้านเพื่อใช้ขับไปทำงานในกรุงเทพฯ  แต่นิกรได้ใช้รถยนต์เพื่อขับไปทำงานเท่านั้น  ในวันหยุดสุดสัปดาห์นิกรได้พาสุดสวยแฟนสาวไปเที่ยวชายทะเลที่หัวหิน  ขณะที่นิกรขับรถยนต์ที่ยืมไปถึงชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  เกิดฟ้าคะนองพายุพัดอย่างรุนแรงโดยฉับพลัน  ต้นไม้ข้างทางล้มถูกรถยนต์เสียหาย  ซึ่งถ้าจะซ่อมกลับคืนสภาพเดิมต้องใช้เงินสี่หมื่นบาท  ดังนี้นิกรผู้ยืมจะต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่รถยนต์นั้นอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

สัญญายืมระหว่างนิกรกับนิยมจึงเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  นิกรผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ตามที่ตกลงกับนิยมไว้  กล่าวคือ  ใช้ขับไปทำงานในกรุงเทพฯ  เมื่อปรากฏว่าในวันหยุดสุดสัปดาห์นิกรผู้ยืมได้ใช้รถยนต์เป็นพาหนะเพื่อพาสุดสวยแฟนสาวไปเที่ยวที่หัวหิน  ซึ่งมิได้มีการตกลงกับนิยมผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนอกจากการอันปรากฏในสัญญาและเมื่อเกิดความเสียหายกับรถยนต์  เพราะต้นไม้ที่ถูกพายุพัดอย่างรุนแรงล้มทับ 

นิกรผู้ยืมจะอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้  เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อนิกรทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้นอกจากการที่ปรากฏในสัญญาซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนในเหตุทรัพย์สินที่ยืมนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดแม้เพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  เว้นแต่ผู้ยืมจะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินที่ยืมนั้นคงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเองตามมาตรา  643

สรุป  นิกรจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับนิยม

 

ข้อ  2  ดำมอบเงิน  5,000  บาทแก่ขาว  เพื่อให้ขาวนำไปฝากธนาคารแทนตน  แต่ขาวกลับนำเงินนั้นไปใช้ชำระค่าหอพักจนหมด  ต่อมาดำทราบความจริงจึงขอให้ขาวนำเงินมาคืน  และได้ให้ขาวเขียนหนังสือไว้  1  ฉบับมีใจความว่า  ข้าพเจ้านายขาวค้างชำระเงินนายดำจำนวน  5,000  บาท  ลงชื่อ  ขาว  ต่อมาขาวพยายามหลบหน้าไม่นำเงินมาคืนดำ  ดำจึงปรึกษาทนายความเพื่อขอให้ฟ้องขาวตามเอกสารที่ขาวทำไว้ให้ดำ  ถ้าท่านเป็นทนายความท่านจะให้คำปรึกษาดำอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การที่ดำมอบให้ขาวนำเงินไปฝากธนาคารแทนตนนั้น  เป็นการที่ดำเป็นตัวการให้ขาวเป็นตัวแทนนำเงินไปฝาก

ธนาคาร  ความรับผิดระหว่างดำกับขาวจึงเป็นเรื่องตัวการตัวแทน  แต่ต่อมาทั้งคู่ได้เขียนเป็นหนังสือกู้ยืมเงินไว้แก่กัน  จึงถือว่าหนี้เดิมได้ถูกแปลงใหม่เป็นหนี้กู้ยืมแล้ว  จึงสามารถบังคับได้ในเรื่องกู้ยืม  เมื่อขาวเขียนสัญญากู้ในหนังสือมีข้อความว่า   ข้าพเจ้านายขาวค้างชำระเงินนายดำจำนวน  5,000  บาท  ลงชื่อ  ขาว”  ย่อมถือว่าหลักฐานเป็นหนังสือที่ขาวเขียนไว้ให้ดำ  มีข้อความแสดงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินครบถ้วนตามมาตรา  653  วรรคแรก  กล่าวคือ  มีการระบุจำนวนเงินและรับว่าจะใช้หนี้  และลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  ดังนั้นดำจึงฟ้องขาวได้โดยอาศัยเอกสารนี้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาว่า  ให้นายดำฟ้องนายขาวโดยอาศัยเอกสารดังกล่าวได้

 

ข้อ  3  เอกนำหนังสือที่ตนพิมพ์เพื่อจำหน่ายจำนวน  500  เล่มไปฝากขายที่ร้านหนังสือของโท  โดยแบ่งเงินที่ขายหนังสือได้ให้โทเล่มละ  20  บาท  และจะฝากขายไปจนกว่าหนังสือจำหน่ายหมด  โทนำหนังสือของเอกวางจำหน่ายเป็นเวลากว่าหกเดือนแล้วเพิ่งมียอดจำหน่ายเพียง  5  เล่ม  โทจึงแจ้งให้เอกมารับหนังสือกลับไปเพื่อวางจำหน่ายที่อื่น  เอกตกลงแต่ไม่ยอมรับหนังสือกลับจนเวลาล่วงไปอีกหกเดือน โทจึงตัดสินใจนำหนังสือของเอกไปเก็บไว้ในห้องเก็บของใต้ดินรวมกับหนังสืออื่นๆ  ของโท  ต่อมาเกิดน้ำท่วมบรรดาของที่เก็บไว้ในห้องเก็บของเสียหายหมด  รวมทั้งหนังสือของเอกด้วย  ดังนี้จงวินิจฉัยความรับผิดของโท 

ธงคำตอบ

มาตรา  657  อันว่าฝากทรัพย์นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้

วินิจฉัย

การที่เอกนำหนังสือไปฝากโทขายมิใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา  657  เพราะการฝากทรัพย์ต้องเพื่อให้ผู้รับฝากเก็บรักษาที่ฝากไว้ในความดูแล  แล้วจะคืนให้ในภายหลัง  แต่กรณีนี้เป็นตัวแทนในการจำหน่ายความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างเอกกับโทจึงไม่ต้องพิจารณาตามสัญญาฝากทรัพย์  แต่ต้องพิจารณาตามสัญญาที่แท้จริงคือตัวการ  ตัวแทน

เมื่อตัวแทนมิได้กระทำการประมาทเลินเล่อในการเป็นตัวแทน  แม้หนังสือจะเสียหายก็มิต้องรับผิดแต่อย่างใด

สรุป  นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายเอก

Advertisement