การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายองอาจยืมรถยนต์ที่นายดำรงเพิ่งซื้อมาได้เพียง  1  เดือน  โดยไม่ได้บอกกับนายดำรงว่าจะเอาไปใช้อย่างไรและจะเอามาคืนเมื่อใด  แต่นายองอาจเอารถยนต์ไปให้สดศรีแฟนสาวใช้ขับไปทำงานเป็นประจำ  นายดำรงมาพบเข้าจึงบอกเลิกสัญญาและเรียกให้นายองอาจนำรถมาคืน  แต่นายองอาจไม่ได้นำรถไปคืน  หลังจากนั้นอีก  7  วันต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้หมู่บ้านที่นายองอาจและนายดำรงอาศัยอยู่ต้องรับผลจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างหนักคือน้ำท่วมระดับสูง  2  เมตร  เป็นเวลากว่า  10  วัน  รถที่นายองอาจยืมมาถูกน้ำท่วมและแช่น้ำอยู่ตลอด  ถ้าจะบำรุงรักษาให้กลับคืนสภาพเดิมต้องใช้เงินถึง  1  แสนบาท

ดังนี้  นายองอาจจะต้องรับผิดต่อนายดำรงชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันที่ยืมไปหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  8  เหตุใดๆ  อันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมระหว่างนายองอาจและนายดำรงเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640  นายองอาจผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย  กล่าวคือ  ต้องใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามภาวะของวิญญูชนที่จะพึงใช้ทรัพย์สินชนิดนั้น  สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม  รวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายองอาจเอารถยนต์ไปให้สดศรีแฟนสาวใช้ขับไปทำงานเป็นประจำ  ซึ่งมิได้รับความยินยอมจากนายดำรงผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  ถือว่านายองอาจประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม  ตามมาตรา  643  ผลทางกฎหมายคือ  นายดำรงผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญายืมได้  ตามมาตรา  645

นอกจากนี้การที่นายองอาจไม่ได้นำรถไปคืน  หลังจากนั้นอีก  7  วันต่อมาก็เกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้รถยนต์ที่ยืมได้รับความเสียหายซึ่งถ้าจะบำรุงรักษาให้กลับคืนสภาพเดิมต้องใช้เงินถึง  1  แสนบาท  แม้เหตุน้ำท่วมใหญ่จะเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา  8  คือ  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น  จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นก็ตาม  นายองอาจผู้ยืมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว  ทั้งนี้สืบจากบทบัญญัติมาตรา  643  กำหนดให้ผู้ยืมยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีใดๆ  ที่เกิดกับทรัพย์สินที่ยืม  หากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืมหรือความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา  643  ตอนท้ายได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ให้ผู้ยืมหลุดพ้นจากความรับผิดได้  หากผู้ยืมพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไร  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง  ดังนั้นในกรณีนี้หากนายองอาจพิสูจน์ได้  เช่น  แม้ต้นจะนำรถยนต์ไปคืนตามที่นายดำรงเรียกคืน  นายดำรงก็คงเก็บรักษารถยนต์ไว้ที่บ้าน  และต้องได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเสียหายอยู่ดี  เช่นนี้  นายองอาจอาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้

สรุป  นายองอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  ตามมาตรา  643  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องเสียหายอยู่นั่นเอง

 

ข้อ  2  ยอดทองยืมเงินยอดธงไป  60,000  บาท  ยอดทองเขียนเอกสารมีข้อความว่า  วันที่  11  กันยายน  2551  ยอดทอง  สุขสำราญ ยืมเงินพี่ธงไป  60,000  บาท  จะใช้คืนในวันที่  12  มีนาคม  2552  ดังนี้  ถ้ายอดทองไม่ใช้เงินคืน  ยอดธงจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงิน  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ตามมาตรา  650

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไปจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับการลงลายมือชื่อในหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายบังคับว่าต้องมีลายมือชื่อของผู้ยืมเท่านั้น  ส่วนผู้ให้ยืมจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่  ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ  ไม่ทำให้หลักฐานแห่งการฟ้องคดีนั้นเสียไป  และการลงลายมือชื่อนั้น  ผู้ยืมอาจเขียนเป็นชื่อตัวเอง  หรือลายเซ็นก็ได้  และอาจจะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่น  จะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้  แต่ถ้ามิได้ลงลายมือชื่อเลย  แม้ผู้ยืมจะเป็นผู้ทำหลักฐานเป็นหนังสือนั้นเอง  หลักฐานนั้นก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ยอดธงจะใช้เอกสารที่ยอดทองเขียนไว้เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่  เห็นว่า แม้ยอดทองจะเขียนเอกสารมีข้อความว่า  วันที่  11  กันยายน  2551  ยอดทอง  สุขสำราญยืมเงินพี่ธงไป  60,000  บาท  จะใช้คืนในวันที่  12  มีนาคม  2552  ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงก็ตาม  แต่ในเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อยอดทองลงไว้เป็นผู้ยืม  ทั้งจะถือเอาการที่ยอดทองเขียนเอกสารดังกล่าวด้วยลายมือตนเองเป็นการลงลายมือชื่อของยอดทองหาได้ไม่  เมื่อเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อยอดทองลงไว้ในฐานะเป็นผู้ยืมก็ถือไม่ได้ว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามความมุ่งหมายของมาตรา  653  วรรคแรก  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ยอดธงจึงจะใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่ยอดทองหาได้ไม่  (ฎ.1989/2538)

สรุป  ยอดธงจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

 

ข้อ  3  นายเอกและภรรยาได้เข้าพักแรมที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง  โดยจอดรถยนต์ของตนไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม  และเข้าพักแรมโดยใช้ชื่อนายเอกลงทะเบียนเป็นแขกพักแรม  ในตอนค่ำได้ออกไปรับประทานอาหารข้างนอกโรงแรมโดยภรรยานายเอกได้ถอดสร้อยเพชรมูลค่า  50,000 บาท  ไว้บนโต๊ะข้างเตียง  เมื่อกลับมาปรากฏว่าสร้อยเพชรหายไปและมีรอยงัดแงะของคนร้ายที่หน้าต่างห้องพัก  ในขณะเดียวกันพนักงานคนหนึ่งก็ได้ขึ้นมาแจ้งว่ารถที่นำเข้าจอดไว้ในลานจอดรถถูกรถของแขกอีกคนหนึ่งชนไฟท้ายแตก  เมื่อชนแล้วก็รีบขับหนีไป  สำหรับไฟท้ายที่แตกคิดราคาประมาณ  2,000  บาท  นายเอกจึงรีบแจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันที  ทางโรงแรมปฏิเสธไม่ยอมรับผิดต่อสู้ว่าโรงแรมมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะทรัพย์ของนายเอกเท่านั้น  จึงไม่ขอรับผิดในทรัพย์ของภรรยานายเอกที่ถูกขโมยไป ส่วนรถยนต์ที่ถูกชนก็เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร  ชนแล้วหนีไป  ทางโรงแรมไม่มีหน้าที่ต้องรับผิด  ดังนี้  ข้ออ้างของโรงแรมรับฟังได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้เป็น  2  กรณี  คือ

1       กรณีที่สร้อยเพชรราคา  50,000  บาท  ของภรรยานายเอกที่หายไป  เจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เจ้าสำนักโรงแรมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัย  ซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลที่เข้าพักอาศัยร่วมกับผู้เดินทางด้วย  ความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมหาได้จำกัดเฉพาะทรัพย์สินของผู้ลงทะเบียนเข้าพักแรมเท่านั้นไม่  กรณีนี้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่สร้อยเพชรของภรรยานายเอกหายไป

ส่วนเจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น  เห็นว่า  ทรัพย์สินที่หายคือ  สร้อยเพชรราคา  50,000  บาท  ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวด้วยอัญมณีและของมีค่าอื่นๆ  บทบัญญัติมาตรา  675  วรรคสอง  ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง  5,000  บาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง  ภรรยาของนายเอกเป็นบุคคลผู้เข้าพักร่วมกับผู้เดินทาง  เมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้  เจ้าสำนักจึงรับผิดเพียง  5,000  บาท  ไม่ว่าของมีค่านั้นภรรยาของนายเอกจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตามและหาใช่ว่าต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมไม่  (ฎ.9284/2544)

2       กรณีที่รถยนต์ของนายเอกถูกชน  เสียหายเป็นจำนวน  2,000  บาท  เจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  675  วรรคแรก  ได้กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ความเสียหายจะเกิดจากผู้คนไปมาเข้าออกยังโรงแรม  ดังนั้น  แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ขับรถมาชนรถของนายเอก  โรงแรมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวน  2,000  บาท  กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675  วรรคสามแต่อย่างใด  ข้อต่อสู้ของโรงแรมที่ว่า  รถยนต์เป็นของบุคคลภายนอกไม่ทราบว่าเป็นของใคร  ชนแล้วหนีไป  ทางโรงแรมไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดจึงฟังไม่ขึ้น  (ฎ.1370/2526,  ฎ. 2196/2523)

สรุป  ข้อต่อสู้ของโรงแรมรับฟังไม่ได้ทั้งสองประการ  ทางโรงแรมต้องรับผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น  7,000  บาท 

Advertisement