การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552
ข้อสอบกระบวนวิชา  
LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สามย่านยืมมอเตอร์ไซค์ของแกลง  โดยบอกว่าจะเอาใช้ขับขี่ไปทำงาน  แกลงได้ส่งมอบมอเตอร์ไซค์ให้สามย่านไปใช้งานโดยไม่คิดค่าตอบแทน  และไม่ได้กำหนดเวลาคืนไว้แต่สามย่านกลับนำไปดัดแปลงโดยมีการตัดต่อเป็นรถสามล้อ  ต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวเพื่อรับขนคนโดยสาร  วันหนึ่งขณะที่สามย่านขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ดัดแปลงแล้วหาผู้โดยสารนั้น  ชะมวงขับรถยนต์มาชนท้ายทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่สามย่านยืมมาเสียหาย  ถ้าจะซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมจะต้องใช้เงิน  5  พันบาท  ดังนี้  แกลงจะเรียกให้ชะมวงรับผิดชดใช้ค่าทดแทนที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้น  ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สามย่านยืมมอเตอร์ไซค์ของแกลงโดยบอกว่าจะเอาไปใช้ขับขี่ไปทำงาน  แกลงได้ส่งมอบมอเตอร์ไซค์ให้สามย่านไปใช้งานโดยไม่คิดค่าตอบแทนและไม่ได้กำหนดเวลาคืนไว้  กรณีถือว่าเป็นสัญญายืมใช้คงรูปที่มิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาตามมาตรา  640  ประกอบมาตรา  641  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในมอเตอร์ไซค์ที่สามย่านยืมมานั้นยังเป็นของแกลง

เมื่อได้ความว่า  ชะมวงขับรถยนต์มาชนท้ายทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่สามย่านยืมมาเสียหาย  ถ้าจะซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมจะต้องใช้เงิน  5  พันบาท  กรณีเช่นนี้  แกลงในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกให้ชะมวงรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมได้

สรุป  แกลงเรียกให้ชะมวงรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมได้

 

ข้อ  2  นาย  ก  ยืมเงินนาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  20,000  บาทถ้วน  ในการนี้  นาย  ก  ได้รับมอบเงินยืมเป็นเงินสดจากนาย  ข  แล้ว  นาย  ข  ได้ขอให้นาย  ก  ออกเช็คจำนวน  20,000  บาท  ให้ตนยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้  ซึ่งนาย  ก  ก็ได้ออกเช็คตามที่นาย  ข ร้องขอ  ต่อมานาย  ก  ผิดนัดชำระหนี้  นาย  ข  จึงบอกให้นาย  ก  ชำระหนี้มิฉะนั้นจะฟ้องนาย  ก  เรื่องกู้ยืม  นาย  ก  บอกว่าฟ้องไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ดังนี้  นาย  ข  ฟ้องนาย  ก  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงิน  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ตามมาตรา  650

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นว่าจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  ออกเช็คจำนวน  20,000  บาท  ให้นาย  ข  ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้นั้น  ถือว่าเช็คดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานการยืมเงินใช้ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ทั้งนี้เพราะไม่มีข้อความที่ชัดว่าเป็นการยืมเงินกันจริงๆ  ดังนั้นนาย  ข  จึงฟ้องนาย  ก  ไม่ได้

สรุป  นาย  ข  ฟ้องนาย  ก  ไม่ได้

 

ข้อ  3  นายหนึ่งเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯมหานคร  โดยมีนายโทเป็นเจ้าสำนักโรงแรม  โดยจอดรถไว้ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรมในตอนกลางคืน  ขณะที่นายหนึ่งนอนพักอยู่ในโรงแรมนายโทและเพื่อนมาเที่ยวฟังเพลงที่โรงแรมนี้แล้วได้ถอยรถชนรถของนายหนึ่งตัวถังรถบุบบริเวณข้างประตูด้านคนขับ  แล้วรีบขับหนีไป  ต่อมาตอนเช้านายหนึ่งลงมาหยิบของที่รถพบว่ารถถูกชนบุบแต่ด้วยความรีบร้อนจะไปทำธุระที่นายหนึ่งนัดหมายไว้  จึงยังไม่ได้แจ้งต่อนายโทผู้เป็นเจ้าสำนักให้ทราบถึงความเสียหาย  ในตอนเย็นเมื่อนายหนึ่งกลับจากทำธุระและเข้ามาพักที่โรงแรม  จึงแจ้งให้นายโทชดใช้ความเสียหายที่รถของนายหนึ่งถูกชน  โดยเรียกช่างซ่อมรถมาประเมินค่าเสียหายคิดเป็นจำนวน  8,000  บาท 

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของนายโทเจ้าสำนักโรงแรมที่มีต่อนายหนึ่งแขกที่มาพักแรม

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  675  วรรคแรก  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

มาตรา  676  ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น  เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น  คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนักโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นทันที  มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา  674  และ  675

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายโทมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยที่สูญหายหรือเสียหายขณะเข้าพักในโรงแรมไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นจากผู้คนไปมาเข้าออกยังโรงแรม  โรงแรมก็ต้องรับผิด  รถยนต์เป็นทรัพย์สินทั่วๆไปตามมาตรา  675  วรรคแรก  ดังนั้น  เมื่อรถของนายหนึ่งผู้พักแรมได้รับความเสียหาย  เจ้าสำนักจึงต้องชดใช้ต่อนายหนึ่งตามราคาความเสียหายที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อได้ความว่า  นายหนึ่งทราบว่ารถถูกชนในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  แทนที่จะแจ้งให้โรงแรมทราบทันที  แต่กลับออกจากโรงแรมเพื่อไปทำธุระอย่างอื่นและกลับมาแจ้งต่อโรงแรมในตอนเย็น  จึงทำให้โรงแรมพ้นความรับผิดตามมาตรา  676  ซึ่งกำหนดให้ผู้พักแรมต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันทีที่พบความสูญหายหรือเสียหายมิฉะนั้นทางโรมแรมพ้นผิด  ดังนั้น  ในกรณีนี้โรงแรมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายหนึ่งโดยยกมาตรา  676  ขึ้นต่อสู้ได้ว่า  พฤติการณ์ของนายหนึ่งเท่ากับมิได้แจ้งให้โรงแรมทราบ

สรุป  นายโทเจ้าสำนักโรงแรมไม่ต้องรับผิดต่อนายหนึ่ง

Advertisement