การสอบไล่ภาคฤดูร้อน   ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าบ้านมีกำหนดเวลา  6  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายมีข้อความว่า  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะไปจดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่าอีกเป็นระยะเวลา  6  ปี  เมื่อสัญญาเช่าครบ  6  ปีแล้ว  หากเป็นความประสงค์ของผู้เช่า  ขาวเช่าบ้านหลังนี้มาได้เพียง  4  เดือน  แดงได้ยกบ้านหลังนี้ให้มืดบุตรชายของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย   ขาวเช่าบ้านหลังนี้มาจนครบ  6  ปี  ซึ่งสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่  31  ธันวาคม  2550  แต่ขาวได้แจ้งให้มืดไปจดทะเบียนการเช่าให้ในวันที่  15  ธันวาคม  2550  ตามสัญญาข้อสุดท้าย

ดังนี้  ขาวจะบังคับให้มืดไปจดทะเบียนการเช่าบ้านให้อีก  6  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้ายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย 

สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงกับขาวได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นการเช่าที่มีกำหนดเวลากว่าสามปีขึ้นไป  ดังนั้นสัญญาเช่าบ้านดังกล่าวใช้บังคับได้  6  ปี  ตามมาตรา  538 

ส่วนเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งให้เช่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนย่อมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย  ตามมาตรา  569

กรณีตามอุทาหรณ์  ขาวเช่าบ้านหลังนี้มาได้เพียง  4  เดือน  แดงได้ยกบ้านหลังนี้ให้กับมืดบุตรชายของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  เช่นนี้ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่าและขาวผู้เช่าไม่ระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก แต่มืดผู้รับโอนบ้านจากบิดาจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของบิดาซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ   มืดต้องให้ขาวเช่าอยู่ต่อไปจนครบ  6  ปี  ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่มีข้อความว่า   ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะไปจดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่าอีกเป็นระยะเวลา  6  ปี  เมื่อสัญญาเช่าครบ  6  ปีแล้ว  หากเป็นความประสงค์ของผู้เช่า  ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงคำมั่นที่ผู้พันเฉพาะคู่สัญญา  ไม่ถือว่าเป็นการเช่า คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวจึงต้องระงับไปกับการสิ้นสุดสัญญาเช่า  ไม่โอนไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ด้วยแต่อย่างใด  หน้าที่ที่มืดจะต้องรับมาคือหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำมั่นไม่ใช้หน้าที่ตามสัญญาเช่า  มืดผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพัน  ดังนั้น ขาวจึงบังคับให้มืดไปจดทะเบียนการเช่าบ้านให้อีก  6  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้ายไม่ได้  (ฎ.  6763/2541)

สรุป  ขาวบังคับมืดไม่ได้

 

ข้อ 2  ก.  เขียวทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา  4  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือนๆละ  10,000  บาท  เหลืองเช่าที่ดินมาเพียง  1  ปี  ครั้นขึ้นปีที่  2  เหลืองมิได้ชำระค่าเช่าซึ่งเป็นค่าเช่าสำหรับเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม  2551  แต่เหลืองชำระค่าเช่าเฉพาะของเดือนกุมภาพันธ์  2551  เท่านั้น  เขียวรอรับค่าเช่าจากเหลืองมาจนถึงวันที่  5  เมษายน  2551  เหลืองก็มิได้ชำระค่าเช่าที่ยังไม่ชำระดังกล่าว  ครั้นวันที่  20  เมษายน  2551  เขียวจึงบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับเหลืองทันทีและบอกให้เหลืองส่งมอบที่ดินคืนภายในวันที่  30  เมษายน  2551  การกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.      ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก.  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ถ้าชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เช่น  รายสองเดือนหรือรายปี  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระไม่น้อยกว่า  15  วัน  จึงจะบอกเลิกสัญญาได้  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้  ดังนั้นการเช่าที่ต้องชำระค่าเช่าเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระ  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าที่ดินระหว่างเขียวและเหลือง  มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม  2551  ยังไม่ทำให้เขียวเกิดสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้  เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้นเขียวจึงต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อน  ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย  15  วัน  เขียวผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  20  เมษายน  2551  ไม่ได้เมื่อเขียวบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  ทำให้การบอกเลิกสัญญาของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข.

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก.  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม  แต่ชำระเดือนกุมภาพันธ์นั้น  เขียวก็บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้เช่นกัน  เพราะมิใช่การผิดนัดไม่ใช้เงิน  2  คราวติดกัน  กล่าวคือ  มิได้ผิดนัด  2  เดือนติดต่อกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  การที่เขียวบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่  20  เมษายน  2551  จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ก.  การกระทำของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

         ข.  การกระทำของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน  คำตอบจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  ก.  น้ำเงินจ้างให้ม่วงมาเป็นลูกจ้างแผนกจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าของน้ำเงิน  สัญญาจ้างตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  เดือนละ  8,000  บาท  มีกำหนดเวลา  1  ปี  ถ้าหากครบกำหนด  1  ปีแล้ว  หากลูกจ้างยังคงทำงานไปเรื่อยๆ  น้ำเงินจะจ่ายค่าจ้างให้อีก  1,000  บาท  เพิ่มจากค่าจ้าง  8,000  บาท  ม่วงทำงานมาจนครบ  1  ปี  ในวันที่  31  ธันวาคม  2549  ม่วงทำงานต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้และได้รับค่าจ้างมาเรื่อยๆ  ในวันที่  10  เมษายน  2551  น้ำเงินบอกเลิกจ้างม่วงและให้ม่วงออกจากงานไปเลย  ม่วงจะต้องได้รับสินจ้างเท่าใดจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ข.      ดำว่าจ้างให้แสดสร้างบ้านให้หนึ่งหลังตกลงชำระสินจ้างเมื่อสร้างบ้านเสร็จเป็นเงิน  3  ล้านบาท  แต่ตกลงจ่ายเงินเป็นงวดๆ  งวดละ  1  แสนบาท  เมื่อแสดเริ่มเข้าทำงานก่อสร้างบ้าน  แสดไปดำเนินการปรับพื้นที่ดินแลได้วางผังสำหรับตอกเสาเข็มไว้เรียบร้อยแล้ว  ดำเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากจ้างแสดทำงานต่อไป  ดำจึงบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีโดยที่แสดมิได้ผิดสัญญาเลย  ท่านเห็นว่าการกระทำของดำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

ก.

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

สัญญาจ้างม่วงเป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา  1  ปี  ซึ่งครบกำหนดในวันที่  31  ธันวาคม  2549การที่ม่วงทำงานต่อมาจนถึงปัจจุบันและได้รับค่าจ้างเรื่อยมา  จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างทำงานอยู่ต่อไปและนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วง  (มาตรา  581)  ถือว่าคู่สัญญาตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาก็ได้  แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรา  582

ดังนั้นการที่น้ำเงินบอกเลิกจ้างม่วงและให้ม่วงออกจากงานไปเลยในวันที่  10  เมษายน  2551  เป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา  582  จึงถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การบอกเลิกจ้างของม่วงในวันที่  10  เมษายน  2551  ตามมาตรา  582  วรรคแรกให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกก่อนชำระสินจ้างในวันที่  30 เมษายน  2551  ซึ่งจะเป็นผลเลิกสัญญาในวันที่  31  พฤษภาคม  2551

แต่อย่างไรก็ดีน้ำเงินจะให้ม่วงออกจากงานไปเลยในวันที่  10  เมษายน  2551  ก็ได้  แต่ต้องจ่ายสินจ้างที่ต้องจ่ายในเดือนเมษายน  2551  เป็นเงิน  9,000  บาท  และอีก  9,000  บาท  สำหรับงวดการจ่ายสินจ้างในวันที่  31  พฤษภาคม  รวมเป็นเงิน  18,000  บาท  แล้วให้ออกจากงานไปทันทีได้เลย  ตามมาตรา  582  วรรคสอง

ข.

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

สัญญาจ้างทำของนั้นตามมาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้เสมอ  แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้าง  เมื่อดำจ้างแสดให้สร้างบ้าน  โดยแสดได้ดำเนินการปรับพื้นที่ดินและได้วางผังสำหรับตอกเสาเข็ม  ถือการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ตามมาตรา  605  ดำจึงบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที  แม้แสดมิได้ผิดสัญญาเลยก็ตาม

แต่ดำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญานั้นให้แก่แสดด้วย

ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีของดำชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สรุป  ก.  ม่วงจะต้องได้รับสินจ้าง  18,000  บาท  แล้วออกจากงานไปทันที  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ข.      การกระทำของดำชอบด้วยกฎหมาย  แต่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

Advertisement