การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1        แดงทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา 5 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 7 ของเดือน ๆ ละ 20,000 บาท ขาวเช่าตึกแถวหลังนี้ได้เพียง 3 ปี แดงได้ยกตึกแถวให้กับมืดบุตรชายของตนโดยเสน่หาและการยกให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ขาวอยู่ในตึกแถวมาจนครบ 5 ปีพอดีซึ่งสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 แต่ขาวยังคงอยู่ในตึกแถวต่อมาและได้นำค่าเช่าไปชำระให้กับมืดทุก ๆ เดือนโดยขาวอยากจะทำสัญญาเช่าใหม่อีก 5 ปีเท่ากับระยะเวลาตามสัญญาเช่าเดิม

แต่มืดก็ไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้กับขาวใหม่แต่ให้ขาวชำระค่าเช่าตามปกติมาตลอด ครั้นถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 มืดไม่ประสงค์ให้ขาวอยู่ในตึกแถว มืดจึงบอกเลิกสัญญากับขาวในวันดังกล่าวและให้ขาวอยู่ในตึกแถวถึงวันที่ 15 กันยายน 2551

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขาวไม่ยอมส่งตึกแถวคืนให้กับมืดตามกำหนดระยะเวลาที่มืดบอกกล่าว ดังนั้นมืดจึงฟ้องขับไล่ขาวในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

สัญญาตึกระหว่างแดงและขาวชอบด้วยกฎหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 538) ขาวเช่าตึกได้ 3 ปี แดงยกตึกให้มืดสัญญาเช่าไม่ระงับ มืดต้องให้ขาวเช่าจนครบ 5 ปี (ป.พ.พ.มาตรา 569) ขาวอยู่ครบ 5 ปีและอยู่ต่อมาอีกจนถึงปัจจุบันแม้ไม่ได้ทำสัญญาใหม่ก็ตาม การเช่าระหว่างมืดกับขาวเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลา (ป.พ.พ.มาตรา 570) มืดบอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 สิงหาคม และให้ขาวอยู่ในตึกถึงวันที่ 15 กันยายนนั้น การบอกกล่าวไม่ชอบ (ป.พ.พ.มาตรา 566) มืดจะต้องให้เวลาถึงวันที่ 7 ตุลาคม บอกเลิก 31 สิงหาคมเท่ากับบอกเลิกวันที่ 7 กันยายน (วันชำระค่าเช่า) และต้องให้เวลาถึงวันที่ 7 ตุลาคม (ตาม ป.พ.พ.มาตรา 566) แต่เมื่อมาฟ้องขับไล่วันที่ 10 ตุลาคมซึ่งเลยวันที่ 7 ตุลาคมแล้ว จึงถือว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย การบอกกล่าวต้องนับระยะเวลาจากวันบอกเลิกถึงวันฟ้องขับไล่

 

ข้อ 2        ก) ม่วงทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าซื้อบ้านหนึ่งหลังตกลงชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 200,000 บาทมีกำหนดเวลา 3 ปีโดยต้องชำระค่าเช่าซื้อทุก ๆ วันสิ้นเดือน ปรากฏว่าเหลืองชำระค่าเช่าซื้อมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้นครั้นในต้นปีที่ 3 ซึ่งตรงกับปี 2551 เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 31 มกราคม 2551 และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นเงิน 400,000 บาท เพราะเหลืองขัดสนเงินแต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหลืองได้นำเงินมาชำระให้ในวันที่ 15 มีนาคม 2551 เป็นเงิน 200,000 บาท แต่ม่วงปฏิเสธที่จะรับเงินดังกล่าวแต่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่ 15 มีนาคม 2551 นั่นเอง

ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ ก) เป็นสัญญาเช่าทรัพย์คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใดธงคำตอบ

มาตรา  572  วรรคสอง  สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย  สัญญาเช่าซื้อชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเหลืองผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 คราวติดกัน ทำให้ม่วงบอกเลิกสัญญาได้ทันที การนำเงินมาชำระภายหลังผิดนัด ม่วงมีสิทธิ์ปฏิเสธได้

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย  สัญญาเช่าทำชอบด้วยกฎหมาย ม่วงบอกเลิกไม่ได้  ต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อน เพราะเป็นการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจะต้องบอกกล่าวให้นำค่าเช่ามาชำระอย่างน้อย 15 วัน

 

ข้อ 3        ก) หมีทำสัญญาจ้างกวางเป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี (สัญญาจ้างครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2551) ตกลงชำระค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน กวางทำงานเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 หมีนายจ้างมีปัญหาทางการบริหารการเงินของสถานประกอบการจึงจ่ายค่าจ้างให้กวางลูกจ้าง 9,000 บาท ในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 และบอกเลิกสัญญาจ้างทันที เช่นนี้ กวางจะต่อสู้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ถูกต้องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ข) ขาวทำสัญญาจ้างม่วงให้ก่อสร้างบ้าน 1 หลังโดยมีข้อตกลงว่าจะต้องส่งมอบบ้านให้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม และมีข้อตกลงว่าให้จ่ายค่าก่อสร้างเป็นงวด ๆ ตามที่ตกลงไว้ในสัญญา และมีข้อตกลงกันด้วยว่าขาวผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จัดหาประตูและหน้าต่างที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านทั้งหมดโดยจะต้องส่งมอบให้ม่วงผู้รับจ้างภายในวันที่ 30 มิถุนายน แต่ปรากฏว่าขาวได้ส่งมอบให้ม่วงในวันที่ 31 สิงหาคม ทำให้ม่วงได้ก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบให้แก่ขาวได้ในวันที่ 30 ธันวาคม ขาวต้องไปเช่าบ้านอยู่อาศัยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมโดยเสียค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ขาวไม่พอใจที่ม่วงส่งมอบงานล่าช้าจึงต้องการให้ม่วงรับผิดชอบ เช่นนี้ ขาวจะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ

กมาตรา  581  ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่  โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม  แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

วินิจฉัย

สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี (ครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2551) กวางทำงานเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 จึงสันนิษฐานว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่เป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 581 อาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา 582 คือบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

เมื่อหมีจ่ายค่าจ้างให้กวางในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 และบอกเลิกสัญญาทันทีจึงไม่ถูกต้อง คือต้องมีการบอกกล่าวก่อนเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง ถ้าบอกวันที่ 31 สิงหาคมก็ถือว่าบอกกล่าวในการจ่ายสินจ้างของวันที่ 25 กันยายน (กำหนดวันจ่ายค่าจ้างทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน) นายจ้างก็จะบอกเลิกสัญญาจ้างได้ในคราวถัดไปคือวันที่ 25 ตุลาคม ดังนั้นกวางจึงสามารถต่อสู้ได้

มาตรา  591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี  เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี  ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

วินิจฉัย

สัญญาก่อสร้างบ้านเป็นสัญญาจ้างทำของ ขาวส่งมอบประตูและหน้าต่างที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านให้แก่ม่วง  ผู้รับจ้างล่าช้า จากวันที่ 30 มิถุนายนเป็นวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งส่งมอบล่าช้าถึง 2 เดือน ทำให้ม่วงก่อสร้างบ้านเสร็จและส่งมอบล่าช้าไป 2 เดือน เช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 591 ซึ่งกำหนดไว้ว่าความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด ดังนั้นม่วงผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดในการส่งมอบงานล่าช้านี้

Advertisement