การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ  1  นายหนึ่งชวน  น.ส.  สองไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางกะปิ  เมื่อจดทะเบียนสมรสเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นนายหนึ่งพา  น.ส.  สามไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบึงกุ่ม  ดังนี้  นายหนึ่งจะมีความผิดอาญาอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ  นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

การจดทะเบียนสมรสครั้งที่สองที่นายหนึ่งจดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.  สามนั้น  เป็นการแจ้งความเท็จแก่นายทะเบียนฯ  ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และการกระทำนี้อาจทำให้  น.ส.  สาม  และ  น.ส.  สอง  เสียหายได้  อีกทั้งเป็นการกระทำโดยเจตนา (ตั้งใจ)  การกระทำของนายหนึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ  ดังนั้นนายหนึ่งจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา 137

สรุป  นายหนึ่งมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน  (มาตรา  144)

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  144  นี้  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย  จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม  กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา  144  เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144

นายแดงถูก  ส.ต.อ.ขาว  จับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง  จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว  แต่  ส.ต.อ.ขาว  ยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่า  นายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่  ส.ต.อ.ขาว  ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา  นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายแดงทราบว่า  ส.ต.อ.ขาว  จะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อให้  ส.ต.อ.  ขาว  เบิกความผิดจากความจริง  (เบิกความเท็จ)  ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  (ฎ.439/2469)

 

ข้อ  3  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  นายสี่  และนายห้า  สมคบกันที่จะขายยาบ้า  โดยประชุมปรึกษาหารือและตกลงร่วมกันที่จะเริ่มขายในวันที่  1  พฤศจิกายน  2550  ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบเสียก่อน  จึงเข้าจับกุมทั้ง  5  คน  โดยที่ยังไม่ได้ขายแต่ประการใด ดังนี้  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  นายสี่  และนายห้า  มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  210  วรรคแรก  ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค  2  นี้  และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นซ่องโจร  ตามมาตรา  210  วรรคแรก  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       สมคบกัน

2       ตั้งแต่  5  คนขึ้นไป

3       เพื่อกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค  2  นี้  และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

4       โดยเจตนา

การสมคบกัน  ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ  2  ประการ  คือ

(ก)  จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน  และ

(ข)  จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทำความผิด

ดังนั้นถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปย่อมไม่ถือว่าเป็นการสมคบกัน  เช่น  ก  ข  ค  ง  และ  จ  ทั้ง  5  คน  ได้ประชุมปรึกษากันแล้ว  แต่ไม่ตกลงว่าจะกระทำความผิด  กรณีนี้ไม่ถือว่า  สมคบกัน

การสมคบกันนั้น  จะต้องสมคบกัน  ตั้งแต่  5  คนขึ้นไป  จึงจะเป็นความผิด  ดังนั้นจะมากกว่า  5  คน  หรือ  5  คนพอดี  ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว  แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป้นความผิดฐานซ่องโจร  เช่น  ปรึกษาหารือกัน  5  คน  แต่ปรากฏว่ามีการคบคิดและตกลงปลงใจร่วมกันที่จะกระทำความผิดเพียง  4  คน  ดังนี้ยังไม่ถือว่าผิดฐานซ่องโจรเพราะเป็นการสมคบกันเพียง  4  คนเท่านั้น

เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค  2  หมายความว่า  ความผิดนั้นต้องเป็นความผิดตามภาค  2  ได้แก่  ความผิดตั้งแต่มาตรา  107  เช่น  ลักทรัพย์  ชิงทรัพย์  ปล้นทรัพย์  ฆ่าคนตาย  เป็นต้น

ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งขึ้นไป  หมายความว่า  โทษอย่างสูงเป็นอัตราโทษอย่างสูงที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ  ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทำความผิดทั้งนี้จะต้องมีกำหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

โดยเจตนา  หมายความว่า  รู้สำนึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค  2  แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทำนั้นมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่

การที่นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  นายสี่  และนายห้า  สมคบกันที่จะขายยาบ้าโดยประชุมปรึกษาหารือและตกลงร่วมกันที่จะเริ่มขายในวันที่  1  พฤศจิกายน  2550  ถือได้ว่าเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  ตามนัยมาตรา  210  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของทั้ง  5  คน  เป็นการสมคบกันที่จะกระทำผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดฯ  ซึ่งมิใช่ความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค  2  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  แม้ความผิดนั้นจะกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป  นายหนึ่ง นายสอง  นายสาม  นายสี่และนายห้าก็ไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร  ตามมาตรา  210  วรรคแรก  เพราะไม่ครบหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

สรุป  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  นายสี่และนายห้าไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร  ตามมาตรา  210 วรรคแรก

 

ข้อ  4  นายอุดมเป็นเจ้าของรถยนต์สองคัน  เป็นสีแดงกับดำ  คันสีแดงได้ขาดต่อทะเบียนการเสียภาษีประจำปีแล้ว  นายอุดมจึงถอดแผ่นป้ายทะเบียนของคันสีแดงออก  แล้วทำแผ่นป้ายทะเบียนขึ้นใหม่โดยให้มีหมายเลขทะเบียนตรงกับคันสีดำ  ซึ่งยังไม่ขาดอายุการเสียภาษีประจำปี  แล้วทำแผ่นป้ายทะเบียนที่ทำขึ้นใหม่ติดเข้ากับรถคันสีแดง  พร้อมนำแผ่นป้ายซึ่งเป็นเอกสารแสดงการเสียภาษีของคันสีดำมาติดแทนที่คันสีแดงอีกด้วย  แล้วนายอุดมก็นำรถคันสีแดงออกขับขี่ไปในที่สาธารณะ  ดังนี้

(ก)  การที่นายอุดมนำรถคันสีแดงออกขับขี่ในที่สาธารณะโดยมีแผ่นป้ายทะเบียนซึ่งตนทำขึ้นเองแต่มีหมายเลขทะเบียนตรงกับคันสีดำ  กับ

(ข)  การนำเอาแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถคันสีดำมาติดไว้กับรถคันสีแดง  อีกกรณีหนึ่งทั้งสองกรณีนี้  นายอุดมมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น  หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

 1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

(ก)  การที่นายอุดมทำแผ่นป้ายทะเบียนขึ้นใหม่ซึ่งมีหมายเลขทะเบียนตรงกับคันสีดำโดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้  จึงเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ  โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งออกโดยเจ้าพนักงาน  และการกระทำดังกล่าวนี้ก็เป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว  จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  แต่เนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นเอกสารราชการจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา  265  และการที่นายอุดมนำรถคันสีแดงแกขับขี่ในที่สาธารณะ  ก็เป็นการใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดตามมาตรา  265  จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา  268  ด้วย  แต่นายอุดมเป็นผู้ปลอมเอกสารดังกล่าว  จึงต้องรับโทษตามมาตรา  268  เพียงกระทงเดียว  (ฎ.2457/2524)

(ข)  การที่นายอุดมนำแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของคันสีดำมาติดไว้กับรถคันสีแดง  ไม่ได้จัดทำขึ้นใหม่หรือเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารดังกล่าว  จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารตามมาตรา  264  และการที่นายอุดมนำรถคันสีแดงออกขับขี่  ก็ไม่มีความผิดเกี่ยวกับการใช้เอกสารปลอมเนื่องจากไม่ใช่เอกสารปลอม  กรณีนี้นายอุดมไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสารแต่ประการใด  (ฎ.1347/2541)

สรุป 

(ก)  นายอุดมมีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ตามมาตรา  265  ประกอบมาตรา  264  และมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม  ตามมาตรา  268

(ข)  นายอุดมไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

Advertisement