การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายโก๋ออกไปล่าสัตว์ในป่ากับนายเก๋า  หลังจากแยกย้ายกันไปล่าสัตว์ได้พักใหญ่  นายโก๋มานั่งพักอยู่ที่จุดนัดพบคอยนายเก๋า ระหว่างนั้นนายโก๋ได้ยินเสียงพุ่มไม้ไหว  นายโก๋คิดว่าเป็นหมูป่าโดยไม่คิดว่าเป็นนายเก๋า  ทั้งๆที่ปกตินายเก๋ามักจะชอบล้อเล่นแบบนี้อยู่เสมอ  ด้วยความรีบร้อนไม่ดูให้ดี  นายโก๋ตัดสินใจใช้ปืนยิงไปหลังพุ่มไม้นั้น  ปรากฏว่าหลังพุ่มไม้เป็นนายเก๋า  นายเก๋าถูกกระสุนปืนของนายโก๋ถึงแก่ความตาย  จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโก๋

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำโดยเจตนา  ยกเว้นการกระทำบางอย่างแม้ไม่มีเจตนาก็เป็นความผิดได้  ถ้ามีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด  เช่น การกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย  หรือประมาทเป็นเหตุให้เพลิงไหม้  ตามมาตรา  291  หรือมาตรา  225  นอกจากนั้น  มาตรา  59  ยังบัญญัติว่าการกระทำบางอย่างแม้ไม่มีเจตนา  ไม่ประมาท  แต่ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้ตองรับผิดก็มีความผิดทางอาญาได้  เช่น  ความผิดลหุโทษบางมาตรา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายโก๋ใช้ปืนยิงไปหลังพุ่มไม้นั้นถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกแล้ว  ถือว่านายโก๋มีการกระทำทางอาญา  แต่การที่นายโก๋ยิงไปหลังพุ่มไม้นั้นโดยเข้าใจว่าเป็นหมูป่า  จึงเป็นกรณีที่นายโก๋ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด (ความผิดฐานฆ่าคนตายมีองค์ประกอบของความผิดคือ  1  ฆ่า  2  ผู้อื่น  (ต้องมีบุคคลมารองรับการกระทำ)  ซึ่งนายโก๋มิได้ประสงค์ต่อผล  คือ  ให้นายเก๋าถึงแก่ความตาย  และก็ไม่ได้เล็งเห็นผลว่าจะเกิดผลเช่นว่านั้นกับนายเก๋า  เช่นนี้  จึงถือว่านายโก๋ไม่มีเจตนากระทำต่อนายเก๋า  ตามมาตรา  59  วรรคสองและวรรคสาม  นายโก๋จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม  หากความไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว  เกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้กระทำ  ตามมาตรา  62  วรรคสอง  บัญญัติให้ผู้กระทำต้องรับผิดในฐานประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด  แม้จะได้กระทำโดยประมาท  ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  นายโก๋ยิงไปด้วยความรีบร้อนไม่ดูให้ดี  หากเดินเข้าไปใกล้ๆหรือหากดูให้ดีก็จะรู้ว่าสิ่งที่อยู่หลังพุ่มไม้เป็นเก๋า  มิใช่หมูป่า  จึงเป็นกรณีที่ความไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดของนายโก๋ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาท  ปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  แต่นายโก๋อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  นายโก๋จึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  เพราะการกระทำนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้จะได้กระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  62  วรรคสอง

สรุป  นายโก๋ไม่มีเจตนากระทำต่อนายเก๋า  จึงไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยเจตนา  แต่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสี่ประกอบมาตรา  62  วรรคสอง

 

ข้อ  2  นายแดงต้องการฆ่านายดำ  วันหนึ่งนายแดงเห็นนายดำนั่งรับประทานอาหารอยู่กับนางขาว  นายแดงจึงใช้ปืนลูกซองยิงไปที่นายดำ  กระสุนถูกนายดำได้รับบาดเจ็บ  และบางส่วนของกระสุนถูกนางขาวถึงแก่ความตาย  นอกจากนั้นกระสุนยังแผ่ไปถูกนายม่วงซึ่งเป็นบิดาของนายแดงที่นั่งอยู่ห่างไกลออกไปได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย  อีกทั้งเศษกระสุนบางส่วนยังเลยไปโดนกระจกรถยนต์ของนายฟ้าที่จอดอยู่ไกลออกไปแตกเสียหายอีกด้วย  จงวินิจฉัยความผิดทางอาญาของนายแดง

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

ความรับผิดของนายแดงต่อนายดำ

การที่นายแดงต้องการฆ่านายดำจึงยกปืนขึ้นยิงนายดำนั้น  การกระทำดังกล่าวของนายแดงถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตสำนึกและมีการประสงค์ต่อตัวนายดำ  กรณีเช่นนี้  จึงถือว่านายแดงได้กระทำโดยมีเจตนาฆ่านายดำแล้ว  ตามมาตรา  59  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำดังกล่าวไม่บรรลุผล  คือ  นายดำไม่ถึงแก่ความตาย  กรณีนี้นายแดงจึงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่านายดำ  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

ความรับผิดของนายแดงต่อนางขาว

นายแดงต้องการฆ่านายดำไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลต่อตัวนางขาว  แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายแดงใช้ปืนลูกซองยิงไปที่นายดำโดยที่มีนางขาวนั่งรับประทานอาหารอยู่ใกล้ๆนั้น  นายแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนลูกซองอาจถูกนางขาวได้  เมื่อกระสุนปืนถูกนางขาวถึงแก่ความตาย  จึงถือเป็นการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผลต่อนางขาว  ตามมาตรา  59  วรรคสองและวรรคสาม  นายแดงจึงต้องรับผิดฐานฆ่านางขาวตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของนายแดงต่อนายม่วง

การที่นายแดงยิงไปที่นายดำ  แล้วกระสุนปืนได้เลยไปถูกนายม่วงตายด้วยนั้น  เป็นกรณีที่นายแดงกระทำโดยเจตนาต่อนายดำแต่ผลร้ายไปเกิดแก่นายม่วงโดยพลาดไป  เช่นนี้  ให้ถือว่านายแดงได้กระทำโดยเจตนาแก่นายม่วงบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นด้วย  ตามมาตรา  60  และกรณีนี้แม้ว่านายม่วงจะเป็นบิดาตามกฎหมายของนายแดงก็ตาม  แต่ตามมาตรา  60  ตอนท้าย  กำหนดมิให้นำความสัมพันธ์ของบุคคลมาใช้บังคับแก่การกระทำโดยพลาด  ดังนั้น  กรณีนี้เมื่อนายม่วงไม่ถึงแก่ความตาย  นายแดงจึงต้องรับผิดเพียงฐานพยายามฆ่าบุคคลธรรมดาคือ  นายม่วงตายโดยเจตนาโดยพลาดเท่านั้น  ตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  ประกอบมาตรา  60  และมารา  80  ไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการี

ความรับผิดของนายแดงต่อนายฟ้า

การที่นายแดงใช้ปืนลูกซองยิงไปที่นายดำ  เศษกระสุนบางส่วนได้เลยไปโดนกระจกรถยนต์ของนายฟ้าที่จอดอยู่  กรณีเช่นนี้  นายแดงไม่ต้องรับผิดต่อนายฟ้า  เพราะการกระทำของนายแดงไม่ใช่การกระทำโดยพลาด  เนื่องจากการกระทำโดยพลาดต้องเป็นเจตนาประเภทเดียวกัน  ซึ่งในกรณีนี้  เจตนาแรกของนายแดงเป็นเจตนาประสงค์ต่อชีวิตไม่ใช่เจตนาทำให้เสียทรัพย์  จึงไม่ต้องด้วยมาตรา  60  เทียบฎีกาที่  1086/2521

และแม้นายแดงจะยิงนายดำโดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถยนต์จอดอยู่  อันเป็นกรณีของการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคสี่ก็ตาม  นายแดงก็ไม่ต้องรับผิดต่อนายฟ้าตามมาตรา  59  วรรคแรกเช่นกัน  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดในกรณีที่ประมาททำให้เสียทรัพย์

สรุป

นายแดงต้องรับผิดต่อนายดำฐานพยายามฆ่านายดำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล

นายแดงต้องรับผิดต่อนางขาวฐานเจตนาฆ่านางขาวโดยเจนาเล็งเห็นผล

นายแดงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่านายม่วงโดยพลาด  แต่ไม่ต้องรับโทษฐานฆ่าบุพการี

นายแดงไม่ต้องรับผิดต่อนายฟ้า  เพราะไม่ใช่การกระทำโดยพลาด  แม้จะประมาทก็ไม่ต้องรับผิดเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดในกรณีประมาททำให้เสียทรัพย์

 

ข้อ  3  บุญจงต้องการทำร้ายสมหมาย  บุญจงได้บอกสุทินให้ตีหัวสมหมาย  ถ้าไม่ตีจะระเบิดตึกราคา  10  ล้านบาทของสมหมาย  ซึ่งบุญจงได้วางระเบิดไว้แล้ว  สุทินกลัวบุญจงระเบิดตึกของตนจึงใช้ไม้ตีไปที่หัวของสมหมาย  สมหมายหลบและล้มลง  สุทินเงื้อไม้ขึ้นตีซ้ำ  แมนบุตรของสมหมายเห็นจึงผลักสุทินล้มลงได้รับบาดเจ็บ  สมหมายลุกขึ้นได้ใช้เท้าเตะไปที่หน้าของสุทิน  ดังนี้  บุญจง  สุทิน  สมหมาย และแมนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

ความรับผิดของบุญจง

บุญจงต้องการฆ่าสมหมาย  บุญจงได้บอกให้สุทินตีหัวสมหมายหากไม่ตีจะระเบิดตึกของสุทิน  กรณีเช่นนี้ถือว่าบุญจงได้มีเจตนาก่อให้สุทินกระทำความผิดด้วยวิธีการบังคับ  และเมื่อสุทินได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  บุญจงจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84

ความรับผิดของสุทิน

การที่สุทินกลัวบุญจงจะระเบิดตึกของตนจึงใช้ไม้ตีหัวของสมหมาย  การกระทำของสุทินดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผล  คือ  ความตายของสมหมาย  กรณีเช่นนี้ถือว่าสุทินกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสองและวรรคสาม  และต้องรับผิดทางอาญา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่สุทินไม่ต้องรับโทษเพราะขณะกระทำสุทินอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของบุญจง  สุทินไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  เมื่อได้กระทำโดยไม่เกินสมควรแก่เหตุ  การกระทำของสุทินจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  ตามมาตรา  67(1)  สุทินจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายสมหมาย  แต่ไม่ต้องรับโทษ

ความรับผิดของสมหมาย

การที่สมหมายถูกสุทินใช้ไม้ตีและล้มลงแล้วสมหมายลุกขึ้นได้ใช้เท้าเตะไปที่หน้าของสุทิน  การกระทำของสมหมายดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผล  คือ  อาการบาดเจ็บของสุทิน  กรณีเช่นนี้จึงถือว่า  สมหมายได้กระทำต่อสุทินโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  และวรรคสาม  และต้องรับผิดทางอาญา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตาม  การที่สมหมายทำร้ายสุทินดังกล่าว  เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ตนถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  อันถือว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ  ตามมาตรา  72  สมหมายย่อมสามารถอ้างเหตุดังกล่าวนี้มาเป็นเหตุลดโทษได้

ความรับผิดของแมน 

เมื่อแมนบุตรของสมหมายเห็นว่าสุทินเงื้อไม้ขึ้นจะตีสมหมาย  จึงได้ผลักสุทินล้มลง  กรณีถือว่า  แมนได้กระทำโดยเจตนาต่อสุทิน  ตามมาตรา  59  วรรคสองและวรรคสาม  แต่การกระทำดังกล่าวของสุทินได้กระทำไปเพื่อให้นายสมหมายหลุดพ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุการณ์กระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  68  แมนย่อมไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายสมหมาย

สรุป

บุญจงรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนเป็นตัวการ

สุทินมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ  เพราะกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

สมหมายต้องรับผิดทางอาญา  แต่รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้  เพราะกระทำโดยบันดาลโทสะ

แมนไม่ต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  4  ประชากับสมเดชร่วมกันวางแผนฆ่าชุมพล  โดยตกลงกันให้ประชาไปหลอกชุมพลออกจากบ้านมาให้สมเดชยิง  อรสาแอบได้ยินประชากับสมเดชวางแผนฆ่าชุมพลและทราบว่าสมเดชไม่มีอาวุธปืน  อรสาได้ฝากอาวุธปืนแก่วันรบมาให้สมเดช  โดยสมเดชไม่ทราบว่าเป็นอาวุธปืนของอรสา  ระหว่างที่ประชาเดินทางไปที่บ้านชุมพล  สมเดชพบชุมพลโดยบังเอิญจึงยิงชุมพลตายเสียก่อนที่ประชาจะพบชุมพล  ดังนี้  ประชา  และอรสาต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ความรับผิดของประชา

ประชากับสมเดชร่วมกันวางแผนฆ่าชุมพล  โดยตกลงกันให้ประชาไปหลอกชุมพลออกมาจากบ้านให้สมเดชเป็นคนยิง  ต่อมาเมื่อสมเดชพบชุมพลโดยบังเอิญเสียก่อนจึงได้ยิงชุมพลตาย  กรณีเช่นนี้  สมเดชย่อมมีความรับผิดทางอาญาฐานเจตนาฆ่า  ตามมาตรา  59  แต่ในส่วนของประชานั้น  ในขณะที่สมเดชยิงชุมพลประชายังไม่ได้เข้าร่วมในขณะหรือระหว่างที่กระทำความผิดด้วย  ทั้งมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือพรรคพวกได้ทันท่วงที  ประชาจึงไม่ใช่ตัวการร่วม  ตามมาตรา  83

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่ประชาได้ร่วมกับสมเดชวางแผนมาแล้วตั้งแต่ต้น  กรณีจึงถือว่าประชาได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่สมเดชผู้กระทำความผิดแล้ว  ประชาจึงเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86

ความรับผิดของอรสา

การที่อรสาแอบได้ยินประชากับสมเดชวางแผนฆ่าชุมพลและทราบว่าสมเดชไม่มีอาวุธปืน  อรสาจึงได้ฝากอาวุธปืนแก่วันรบมาให้สมเดช  กรณีเช่นนี้  แม้สมเดชจะไม่ทราบว่าเป็นปืนของอรสา  แต่เมื่ออรสามีเจตนาที่จะช่วยเหลือสมเดชก่อนที่จะกระทำความผิดแล้ว  อรสาจึงเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86

สรุป  ประชาและอรสาต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86

Advertisement