การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สาวิตรีจอดรถยนต์รอสัญญาณไฟเขียวอยู่บนท้องถนนในเวลากลางคืน  สมเดชคนร้ายวิ่งหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สมเดชเปิดประตูรถยนต์ของสาวิตรีขณะจอดอยู่นั้นแล้วเข้าไปเอาปืนจี้สาวิตรี  บังคับให้สาวิตรีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตามมาจับกุมสมเดช สาวิตรีกลัวสมเดชยิงจึงขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจตาย  ดังนี้  สาวิตรีและสมเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร   หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  สมเดชคนร้ายใช้ปืนจี้สาวิตรีบังคับให้ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สาวิตรีกลัวสมเดชยิงจึงขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สาวิตรีกระทำโดยเจตนาตาม  มาตรา  59  วรรคสอง  สาวิตรีรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่สาวิตรีกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถ หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  และกระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ  สาวิตรีจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(1)  ส่วนสมเดชได้ก่อให้สาวิตรีกระทำความผิดโดยการบังคับ  สมเดชต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด  และความผิดนั้นได้กระทำตามที่ก่อ  สมเดชจึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84

สรุป  สาวิตรีต้องรับผิดทางอาญาเพราะกระทำโดยเจตนาแต่ไม่ต้องรับโทษ  ส่วนสมเดชต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้

 

ข้อ  2  เชิดชายต้องการฆ่าชายน้อย  เชิดชายแอบอยู่หลังรถยนต์บรรทุกของสมควรเพื่อดักยิงชายน้อย  พอชายน้อยเดินมาเชิดชายยกปืนเล็งไปที่ชายน้อย  ชายน้อยเห็นเข้าพอดีจึงใช้ปืนของตนยิงไปที่เชิดชายกระสุนถูกเชิดชายบาดเจ็บ  ถูกรถยนต์บรรทุกของสมควรเสียหาย  และกระสุนปืนยังถูกสมควรซึ่งนอนอยู่ในรถตายด้วย  ดังนี้  ชายน้อยต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

ตามปัญหา  เชิดชายยกปืนเล็งไปที่ชายน้อย  ชายน้อยเห็นเข้าพอดีจึงใช้ปืนยิงไปที่เชิดชายกระสุนปืนถูกเชิดชายบาดเจ็บ  ถูกรถยนต์บรรทุกสมควรเสียหาย  และกระสุนปืนยังถูกสมควรซึ่งนอนอยู่ในรถตายด้วย  ชายน้อยกระทำต่อเชิดชายโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  และกระทำต่อทรัพย์ของสมควรโดยเจตนา  ย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  ส่วนผลที่เกิดกับสมควรเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปตามมาตรา  60  ถือว่าชายน้อยเจตนากระทำต่อสมควรด้วย  แต่การกระทำของชายน้อยทำเพื่อป้องกันตนเอง  เพราะเชิดชายยกปืนเล็งไปที่ชายน้อยเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ชายน้อยจึงต้องป้องกันสิทธิของตนและได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุตามมาตรา  68

สรุป 

1       ชายน้อยกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  (เชิดชาย)  ชายน้อยกระทำเพื่อป้องกันตนเอง  ชายน้อยไม่ต้องรับผิด

2       ชายน้อยกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล (ทรัพย์ของสมควร)  กระทำเพื่อป้องกันตนเอง  ชายน้อยไม่ต้องรับผิด  กรณีนี้ไม่ถือว่ากระทำความผิดด้วยความจำเป็น  (ตามมาตรา  67(2))  เพราะว่าเชิดชายไปแอบอยู่หลังรถยนต์บรรทุก  รถยนต์บรรทุกจึงเป็นเครื่องมือในการก่อภยันตราย  การกระทำต่อทรัพย์ก็เท่ากับกระทำต่อผู้ก่อภัยโดยตรงจึงถือเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

3       ชายน้อยเจตนากระทำต่อสมควรเพราะผลที่เกิดกับสมควรเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  เมื่อเจตนาตอนแรกของชายน้อยเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปก็เป็นผลที่เกิดจากการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  ชายน้อยไม่ต้องรับผิดต่อสมควร

 

ข้อ  3  ยรรยงต้องการฆ่าบรรจง  ยรรยงชักปืนออกมายังไม่ทันยกขึ้นเล็งไปที่บรรจง  คันศรได้วิ่งออกมาปัดปืนเพื่อช่วยบรรจง  กระสุนลั่นไปถูกสามารถตาย  ดังนี้  ยรรยงและคันศรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

 มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  ตามที่ยรรยงชักปืนออกมาแต่ยังไม่ได้ยกขึ้นเล็งไปที่บรรจง  ยรรยงยังไม่ได้ลงมือกระทำ  ยรรยงจึงไม่ได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลและย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การชักปืนออกมา  ปืนเป็นอาวุธร้ายแรงจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  การชักปืนออกมาในลักษณะเพื่อจะยิงจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังในภาวะเช่นว่านั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  จึงถือว่ายรรยงกระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคสี่   ผลที่เกิดขึ้นกับสามารถจึงมิใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปตามมาตรา  60  เพราะยรรยงมิได้กระทำโดยเจตนาต่อบรรจง  ส่วนคันศรกระทำไปเพื่อช่วยบรรจง  คันศรมิได้ประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผล  คันศรไม่มีเจตนาและในภาวะเช่นว่านั้นคันศรได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว  ไม่ถือว่าคันศรกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่

สรุป  ยรรยงต้องรับผิดทางอาญา  เพราะกระทำโดยประมาท  ส่วนคันศรไม่ต้องรับผิด  เพราะไม่มีเจตนาและไม่ประมาท

 

ข้อ  4  เฉลิมต้องการฆ่าสนั่น  เฉลิมไปดักยิงสนั่น  ยงยุธทราบว่าเฉลิมจะมายิงสนั่น  ยงยุธอยากให้สนั่นตายยงยุธเห็นสนั่นจะเดินไปทางอื่นคนละทางกับที่เฉลิมดักรออยู่  ยงยุธจึงบอกสนั่นให้เดินไปทางที่เฉลิมดักยิง  เฉลิมยิงสนั่นตาย  ดังนี้  ยงยุธต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  ยงยุธได้ช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกเฉลิมกระทำความผิด  คือ  ยงยุธบอกสนั่นให้เดินไปทางที่เฉลิมดักยิง  ยงยุธจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  ต้องรับโทษสองในสามส่วน  ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น  และยงยุธก็ไม่เป็นตัวการตามมาตรา  83  เพราะเฉลิมไม่รู้เรื่องเจตนาของยงยุธจึงไม่ถือว่ามีเจตนาร่วมกันขณะกระทำความผิด

สรุป  ยงยุธรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

Advertisement