การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ธงต้องการฆ่ากร  ธงเข้าไปในห้องนอนของกร  ซึ่งคืนนั้นกรไปนอนค้างบ้านเพื่อน  ธงเข้าใจว่าเป็นกรจึงใช้อาวุธปืนยิงไปบนที่นอน กระสุนปืนถูกหมอนข้างทะลุผ่าห้องไปถูกนพที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  เมื่อธงเดินออกมาจากห้องนอนของกรพบพล  ธงเข้าใจว่าเป็นกรและคิดว่าที่ตนยิงไปที่ที่นอนนั้นไม่ใช่กร  ธงจึงใช้อาวุธปืนยิงพลโดยเข้าใจว่าเป็นกรตาย  ดังนี้  การกระทำของธงจะเป็นความผิดอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  81  วรรคแรก  ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด  แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด  แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

 1       การกระทำของธงต่อกร  ธงต้องการฆ่ากร  ธงเข้าไปในห้องนอนของกร  ซึ่งคืนนั้นกรไปนอนค้างบ้านเพื่อน  ธงเข้าใจว่ากรนอนอยู่จึงใช้อาวุธปืนยิงไปบนที่นอน  ธงกระทำต่อกรโดยเจตนาเพราะธงกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือกร  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การกระทำของธงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  คือ  วัตถุที่ธงมุ่งกระทำต่อนั้นเป็นที่นอนมิใช่กรคนที่ธงเจตนาฆ่า  เมื่อได้กระทำต่อที่นอน  ผลจึงมิเกิดแก่กร  ดังนั้น  จึงถือว่า  ธงพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา  81

 2       การกระทำของธงต่อนพ  เมื่อธงใช้อาวุธปืนยิงไปบนที่นอน  กระสุนปืนถูกหมอนข้างทะลุฝาห้องไปถูกนพที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  ดังนั้น  ผลจากการกระทำของกรที่เกิดกับนพจึงเป็นผลซึ่งเกิดจากการกระทำโดยพลาดไป   เพราะธงเจตนากระทำต่อกร  แต่ผลของการกระทำไปเกิดกับนพโดยพลาดไป  ถือว่าธงมีเจตนากระทำต่อนพตามมาตรา  60  เมื่อธงกระทำต่อนพโดยเจตนา  ธงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก

 3       การกระทำของธงต่อพล  เมื่อธงเดินออกมาจากห้องนอนของกร  พบพลธงเข้าใจว่าเป็นกรและคิดว่าที่ตนยิงไปที่ที่นอนนั้นไม่ใช่กร  ธงจึงใช้อาวุธปืนยิงพลโดยเข้าใจว่าเป็นกรตาย  ธงกระทำต่อพลโดยเจตนา  เพราะธงกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  แม้ว่าธงเจตนาจะกระทำต่อกร  แต่ได้กระทำต่อพลโดยสำคัญผิดว่าพลเป็นกร  ธงจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อพลไม่ได้  ตามมาตรา  61

 

ข้อ  2  สุขโกรธแค้นกรด  สุขอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะฆ่ากรดหรือไม่  โจก็ต้องการฆ่ากรด  โจไม่ทราบว่าสุขโกรธแค้นกรดอยู่  โจได้ว่าจ้างให้สุขไปฆ่ากรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง

สุขไปหาจอนที่บ้านเพื่อขอยืมอาวุธปืนไปยิงกรด  สุขเห็นจอนกำลังทำความสะอาดปืนอยู่พอดี  สุขได้บอกวัตถุประสงค์กับจอน  แต่จอนไม่ให้สุขยืมปืนและได้วางปืนไว้บนโต๊ะ  แล้วเดินเข้าไปข้างในบ้านเพื่อหยิบของ  สุขจึงหยิบอาวุธปืนนั้นเพื่อไปยิงกรด

ระหว่างทางพบจุ๋ม  จุ๋มทราบว่าสุขจะไปยิงกรด  จึงพาสุขไปส่งที่บ้านกรดและคอยสังเกตการณ์อยู่หน้าบ้านกรด  เมื่อสุขยิงกรดตายแล้วได้หลบหนีไปพร้อมกับจุ๋ม

ดังนี้  การกระทำของโจ  จอน  และจุ๋ม  ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของสุขในฐานะใด  และต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

 1       การกระทำของสุขต่อกรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง  เมื่อสุขใช้อาวุธปืนยิงกรดตาย  ความตายของกรดเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของสุข  ซึ่งสุขได้กระทำต่อกรดโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะสุขได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือความตายของกรด  จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก

 2       การกระทำของโจ  สุขโกรธแค้นกรด  สุขอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะฆ่ากรดหรือไม่  โจต้องการฆ่ากรด  แต่โจไม่ทราบว่าสุขโกรธแค้นกรดอยู่  โจได้ว่าจ้างให้สุขไปฆ่ากรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง  ดังนั้น  แม้ว่าสุขจะโกรธแค้นกรด  แต่การที่สุขตกลงใจไปฆ่ากรดนั้นเกิดจากการว่าจ้างของโจ  โจก่อให้สุขกระทำความผิดด้วยการจ้าง  โจจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84  วรรคแรก  เมื่อสุขผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นคือฆ่ากรดแล้ว  โจผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง

 3       การกระทำของจอน  สุขไปหาจอนที่บ้านเพื่อขอยืมอาวุธปืนไปยิงกรด  สุขเห็นจอนกำลังทำความสะอาดอาวุธปืนอยู่พอดี  สุขได้บอกวัตถุประสงค์กับจอน  แต่จอนไม่ให้สุขยืมปืน  แล้วได้วางปืนไว้บนโต๊ะ  แล้วเดินเข้าไปข้างในบ้านเพื่อหยิบของ  สุขจึงหยิบเอาอาวุธปืนนั้นเพื่อไปยิงกรด  ดังนั้น  จึงถือไม่ได้ว่าจอนมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่สุขกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  จอนจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

 4       การกระทำของจุ๋ม  สุขพบจุ๋มระหว่างทางที่จะไปยิงกรด  จุ๋มทราบว่าสุขจะไปยิงกรด  จึงพาสุขไปส่งที่บ้านกรด  และคอยสังเกตการณ์อยู่หน้าบ้านกรด  เมื่อสุขยิงกรดตายแล้วได้หลบหนีไปพร้อมกับจุ๋ม  ดังนั้น  จึงถือได้ว่าจุ๋มได้ร่วมกระทำขณะกระทำความผิดโดยมีเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันกับสุข  (กล่าวคือ  รู้ถึงการกระทำของกันและกัน  และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)  โดยการแบ่งหน้าที่ในการกระทำผิดร่วมกัน  จุ๋มต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ  ตามมาตรา  83

สรุป

1       โจเป็นผู้ใช้ให้สุขกระทำความผิด  จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้  ตามมาตรา  84

2       จอนไม่ใช่ผู้สนับสนุนในการที่สุขกระทำความผิด  จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

3       จุ๋มเป็นตัวการในการกระทำความผิด  จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

 

ข้อ  3  อรุณจูงสุนัขเดินออกกำลังกายตอนเช้าซึ่งมีคนวิ่งออกกำลังกายไปและมาอยู่ตลอด  เมื่อสมเดชวิ่งสวนมา  สุนัขของอรุณกระโจนเข้าใส่สมเดชจนโซ่ที่จูงสุนัขหลุดจากมืออรุณ  สุนัขตรงเข้ากัดสมเดช  สมเดชกระชากไม้ค้ำยันจากคนพิการได้แล้วตีไปที่สุนัข  สุนัขขาหัก  ไม้ค้ำยันของคนพิการหัก  และคนพิการล้มลงได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  สมเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และสมเดชจะอ้างเหตุอะไรบ้าง  เพื่อยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

 (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

 1       สุนัขของอรุณกระโจนเข้าใส่สมเดชจนโซ่ที่จูงสุนัขหลุดจากมืออรุณ  สุนัขตรงเข้ากัดสมเดช  สมเดชใช้ไม้ตีสุนัขของอรุณ  ถือว่าสมเดชได้กระทำให้ทรัพย์ของอรุณเสียหายโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  การกระทำของสมเดชครบองค์ประกอบความผิด  สมเดชต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่สมเดชกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  สมเดชกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  สมเดชไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา  68

 2       การกระทำของสมเดชที่ทำให้ไม้ค้ำยันของคนพิการหัก  สมเดชย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดผลคือทรัพย์เสียหาย  จึงเป็นความผิดตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  แต่สมเดชกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ไม่สามารถหลีกเลี่ยงด้วยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้นสมเดชมิได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยความผิดของสมเดชเพราะสมเดชไม่ได้ยั่วหรือยุสุนัข  และกระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ  เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  สมเดชจึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

 3       กรณีสมเดชกระชากไม้ค้ำยันจากคนพิการทำให้คนพิการล้มได้รับบาดเจ็บ  เหตุผลเช่นเดียวกับข้อ  2

สรุป

1       สมเดชไม่มีความผิดฐานทำให้ทรัพย์  (สุนัข)  ของอรุณเสียหาย  เพราะเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68

2       การที่สมเดชทำให้ไม้ค้ำยันของคนพิการหัก  และคนพิการล้มลงได้รับบาดเจ็บ  จึงเป็นความผิด  แต่การกระทำของสมเดชดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  สมเดชจึงไม่ต้องรับโทษ

 

ข้อ  4  เกรียงไกรคนไทยเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย  ได้กระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ศาลประเทศซาอุดิอาระเบียพิพากษาลงโทษจำคุกเกรียงไกร  2  ปี  เกรียงไกรรับโทษจำคุกได้  6  เดือน  หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย  ดังนี้ ถ้ารัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบียร้องขอศาลไทยจะลงโทษเกรียงไกรได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร  คือ

(4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

มาตรา  10  ผู้ใดกระทำการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่างๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  7(2)  และ  (3)  มาตรา  8  และมาตรา  9  ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก  ถ้า

(1) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น  หรือ

(2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ  และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว  แต่ยังไม่พ้นโทษ  ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

วินิจฉัย

เกรียงไกรคนไทยเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย  ได้กระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ดังนั้น  เกรียงไกรกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรและเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  เนื่องจากตามมาตรา  8  บัญญัติว่า  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ  (ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ  ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร  คือ  (4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290  แต่ความผิดที่เกรียงไกรได้กระทำไปนั้นเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  291  ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา  8  ดังนั้น  ศาลไทยไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษเกรียงไกรตามมาตรา  8  ทั้งนี้  แม้ว่าศาลประเทศซาอุดิอาระเบียพิพากษาลงโทษจำคุกเกรียงไกร  2  ปี  เกรียงไกรรับโทษจำคุกได้  6  เดือน  แล้วหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย  ถ้ารัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบียร้องขอศาลไทยก็จะลงโทษเกรียงไกรอีกตามความในมาตรา  10  วรรคท้ายไม่ได้  เพราะในเมื่อความผิดที่นายเกรียงไกรกระทำคือ  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา  8  ซึ่งเป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา  10  วรรคแรกแล้ว  จึงไม่ต้องพิจารณาตามมาตรา  10  วรรคท้าย

สรุป  ศาลไทยไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษเกรียงไกรอีกได้ตามมาตรา  8  แม้รัฐบาลต่างประเทศร้องขอ  ทั้งนี้  เมื่อศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา  8  กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องพิจารณาตามมาตรา  10  อีก

Advertisement