การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อใด  มีหลักกฎหมายและข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง  จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

อธิบาย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำ  ซึ่งการกระทำ  หมายถึง  การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจนั่นเอง  และการกระทำยังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกด้วย  ดังจะเห็นได้จากมาตรา  59  วรรคห้า  ซึ่งบัญญัติว่า  การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

และโดยหลักทั่วไป  การกระทำซึ่งจะทำให้บุคคลผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญานั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา  คือ  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคสอง

การกระทำโดยเจตนา  แบ่งออกเป็น  2  กรณี  คือ

1       การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ซึ่งจะประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการคือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  หมายถึง  การรู้ถึงการเคลื่อนไหวหรือการไม่เคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง  และ

(2) ในขณะกระทำ  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  ในขณะกระทำ  นอกจากจะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกแล้ว ผู้กระทำยังมีความประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นๆตามที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้เกิดขึ้นด้วย

ตัวอย่าง  แดงต้องการฆ่าดำ  จึงใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้การที่แดงใช้ปืนยิงไปที่ดำถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  และความตายของดำถือว่าเป็นผลที่แดงประสงค์จะให้เกิดขึ้น

 2       การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการ  คือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และ

(2) ในขณะกระทำผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  เป็นการกระทำที่ผู้กระทำมิได้ประสงค์ต่อผล  กล่าวคือ  มิได้มุ่งหมายให้เกิดผลขึ้น  แต่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง  แดงเชื่อว่าดำเป็นคนอยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้า  จึงทดลองใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้  การที่แดงใช้ปืนยิงดำ  แดงไม่มีความประสงค์จะให้ดำตายเป็นเพียงการทดลองความอยู่ยงคงกระพันเท่านั้น  แต่การกระทำของแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่า  ถ้ากระสุนถูกดำย่อมทำให้ดำตายได้  จึงถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าดำโดยย่อมเล็งเห็นผล

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  มีข้อยกเว้นว่า  บุคคลอาจจะต้องรับผิดในทางอาญา  แม้จะมิได้กระทำโดยเจตนาก็ได้  ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยประมาท  เช่น  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เป็นต้น  หรือ

(2) เป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง  ให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  (ความผิดเด็ดขาด)  เช่น  การกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร  เป็นต้น  หรือ

(3) เป็นการกระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้  แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  ก็เป็นความผิด  เว้นแต่  ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น  (มาตรา  104)

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นพยายามกระทำความผิด  มีโทษอย่างไรบ้าง  (อธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

อธิบาย

ตามมาตรา  80  กรณีที่จะถือว่าเป็นพยายามกระทำความผิดจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ  3  ประการ  คือ

(1) ผู้กระทำจะต้องมีเจตนากระทำความผิด

(2) ผู้กระทำจะต้องลงมือกระทำความผิดแล้ว  กล่าวคือ  ได้ผ่านขั้นตระเตรียมการไปแล้ว  จนถึงขั้นลงมือกระทำการเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนา

(3) ผู้กระทำกระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำไม่บรรลุผล

ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ  (3)  นี้  จะเห็นได้ว่า  การพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80  อาจแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       พยายามกระทำความผิดที่กระทำไปไม่ตลอด  ซึ่งมีองค์ประกอบ  ดังนี้

(1) ผู้กระทำจะต้องได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  หมายถึง  ได้กระทำที่พ้นจากขั้นตระเตรียมไปแล้วจนถึงขั้นลงมือกระทำ

(2) กระทำไปไม่ตลอด  หมายความว่า  เมื่อผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  ได้มีเหตุมาขัดขวางเสียไม่ให้กระทำไปได้ตลอด

ตัวอย่าง  ก  ตั้งใจยิง  ข  จึงยกปืนขึ้นประทับบ่าและจ้องไปที่  ข  พร้อมกับขึ้นนกในขณะที่กำลังจะลั่นไก  ค  ได้มาจับมือ  ก  เสียก่อน  ทำให้  ก  กระทำไปไม่ตลอด  คือไม่สามารถยิง  ข  ได้

2       พยายามกระทำความผิดที่กระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ซึ่งมีองค์ประกอบ  ดังนี้

(1) ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว

(2) การกระทำนั้นได้กระทำไปโดยตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  เหตุที่ไม่บรรลุผลก็เพราะว่ามีเหตุมาขัดขวางไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลนั่นเอง

ตัวอย่าง  ก  เจตนาฆ่า  ข  และได้ยิงปืนไปที่  ข  แต่ลูกปืนไม่ถูก  ข  หรือถูก  ข  แต่  ข  ไม่ตาย  ดังนี้ถือว่า  ก  ได้ลงมือกระทำความผิด และได้กระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำไม่บรรลุผล  คือ  ข  ไม่ตายตามที่  ก  ประสงค์

โทษของการพยายามกระทำความผิด

โดยปกติ  การพยายามกระทำความผิดนั้น  ผู้กระทำจะต้องรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น  (มาตรา  80  วรรคสอง)  เว้นแต่  การพยายามกระทำความผิดบางกรณี  ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้น  ได้แก่

1       การพยายามกระทำความผิดที่ผู้กระทำต้องรับโทษเท่าความผิดสำเร็จ  เช่น  การพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  107  มาตรา  108  เป็นต้น

2       การพยายามกระทำความผิดที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  เช่น  การพยายามกระทำความผิดที่ผู้กระทำยับยั้งเสียงเองไม่กระทำการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลตามมาตรา  82  หรือ  การพยายามกระทำความผิดลหุโทษตามมาตรา 105  เป็นต้น

3       การพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา  81  ที่ผู้กระทำต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

 

ข้อ  3  อาคมคนไทยทำร้ายร่างกายหลี่หมิงคนสิงคโปร์ที่สิงคโปร์  แล้วอาคมได้หนีเข้ามาในประเทศไทย  หลี่หมิงได้โทรศัพท์ไปหาเจียงชาวจีนอยู่ที่ฮ่องกง  จ้างเจียงให้ฆ่าอาคมในประเทศไทย

เจียงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยพบอาคมที่จังหวัดสระแก้ว  ขณะที่อาคมเตรียมตัวเข้าไปในประเทศกัมพูชา  เจียงเข้าไปตีสนิทกับอาคม  โดยอาคมไม่ทราบว่าเจียงจะมาฆ่าคน  เจียงซื้อเครื่องดื่มและใส่ยาพิษลงไปในเครื่องดื่มให้แก่อาคม  อาคมได้รับเครื่องดื่มจากเจียงแล้วได้นั่งรถยนต์ไปกับสมชาย  ขณะรถยนต์แล่นเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา  สมชายกระหายน้ำ  อาคมได้ส่งเครื่องดื่มที่รับมาจากเจียงให้สมชายดื่ม  สมชายดื่มแล้วถึงแก่ความตาย

ดังนี้  อาคม  หลี่หมิง  และเจียงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ 

มาตรา  4  วรรคแรก  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร  ต้องรับโทษตามกฎหมาย

มาตรา  5  วรรคแรก  ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี  ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา  6  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร  หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร  แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน  ของผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น  จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร  ก็ให้ถือว่าตัวการ  ผู้สนับสนุน  หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(5) ความผิดต่อร่างกาย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  295  ถึงมาตรา  298

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น 

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  อาคม  หลี่หมิง  และเจียง  จะต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของอาคม 

การที่อาคมเป็นคนไทยได้ทำร้ายร่างกายหลี่หมิงคนสิงคโปร์ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น  แม้จะเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  แต่อาคมจะต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักร  เพราะเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  8(ก)(5)  คือ  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และเป็นความผิดต่อร่างกาย

กรณีของหลี่หมิง

การที่หลี่หมิงได้จ้างเจียงให้ฆ่าอาคมในประเทศไทย  หลี่หมิงต้องรับผิดต่ออาคมฐานเป็นผู้ใช้  ตาม  ป.อาญา  มาตรา  84  และการกระทำของหลี่หมิงแม้จะได้กระทำนอกราชอาณาจักรแต่ตามมาตรา  6  ให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร  ดังนั้น  หลี่หมิงจึงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรด้วย

กรณีของเจียง

การที่เจียงได้ซื้อเครื่องดื่มและใส่ยาพิษลงไปในเครื่องดื่มให้แก่อาคมนั้น  ถือว่าเจียงได้ลงมือกระทำความผิดต่ออาคมแล้ว  และเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  เพียงแต่ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  จึงต้องรับผิดฐานพยายามตามมาตรา  80  และการกระทำความผิดของเจียงต่ออาคมนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรตามมาตรา  4  วรรคแรก  ดังนั้นเจียงจึงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรด้วย

ส่วนการกระทำที่เจียงกระทำต่อสมชายนั้น  เมื่อเจียงมีเจตนากระทำต่ออาคม  แต่ผลของการกระทำไปเกิดขึ้นแก่สมชายตามมาตรา  60 ให้ถือว่าเจียงมีเจตนากระทำต่อสมชายด้วย  ซึ่งเป็นการกระทำโดยพลาด  และแม้ว่าสมชายจะดื่มเครื่องดื่มและถึงแก่ความตายนอกราชอาณาจักร  แต่เมื่อการกระทำความผิดของเจียงส่วนหนึ่งได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรตามมาตรา  5  วรรคแรก  ให้ถือว่าเจียงได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร  ดังนั้นในกรณีนี้เจียงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรด้วย

สรุป  อาคม  หลี่หมิง  และเจียง  ต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  4  ร.ต.ต.หาญ  กับ  จ.ส.ต.กล้า  ออกตรวจท้องที่บริเวณที่บ้านราษฎรถูกน้ำท่วมในเวลากลางคืน  พบจ้อยยืนอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่งมีท่าทางพิรุธ  ทั้งสองเดินไปหาจ้อย  จ้อยเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร้องบอกเก่งและยอดพวกของตนที่เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านหลังนั้น  เก่งและยอดได้ออกมาจากบ้านและมาหาจ้อยที่หน้าบ้าน  ร.ต.ต.หาญ  และ  จ.ส.ต.กล้าจึงแสดงตนและขอจับกุมทั้งสามคน  จ้อย  เก่ง  และยอดได้ใช้ไม้และมีดตีและแทงเจ้าหน้าที่ทั้งสองล้มลง  เก่งเงื้อมีดขึ้นแทงซ้ำ  ร.ต.ต.หาญชักปืนออกยิงเก่งหนึ่งนัดถูกเก่งล้มลง  จ้อยและยอดวิ่งหนี  จ.ส.ส.กล้าลุกขึ้นได้ใช้ปืนยิงไปที่จ้อยและยอดหนึ่งนัด  กรุสุนปืนถูกจ้อยได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  จ้อย  ร.ต.ต.หาญ และ  จ.ส.ต.กล้า ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และศาลจะพิพากษาริบอาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญ  และ  จ.ส.ต.กล้า  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  33  ในการริบทรัพย์สิน  นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว  ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย  คือ

(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้  หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  จ้อย  ร.ต.ต.หาญ  และจ.ส.ต.กล้า  จะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของจ้อย

การที่เก่งและยอดพวกของจ้อยเข้าไปลักทรัพย์ในบ้าน  โดยมีจ้อยยืนอยู่หน้าบ้านหลังนั้น  เพื่อรับหน้าที่คอยแจ้งสัญญาณให้พวกของตนทราบ  การกระทำของจ้อยนับว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้การลักทรัพย์บรรลุผลสำเร็จ  จึงถือว่าจ้อยเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  83  และเมื่อจ้อย  เก่ง  และยอดได้ใช้ไม้และมีดตีและแทง  ร.ต.ตหาญ  และ  จ.ส.ต.กล้า  เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งสองแสดงตนและขอจับกุมจึงถือว่าจ้อยเป็นตัวการในการร่วมกันกระทำความผิดฐานต่อสู่ขัดขวางเจ้าพนักงานด้วยตามมาตรา  83

กรณีของ  ร.ต.ต.หาญ

หารที่  ร.ต.ต.หาญนั้น  ได้ชักปืนออกมายิงเก่งหนึ่งนัด  ถือว่า  ร.ต.ต.หาญได้กระทำต่อเก่งโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่เมื่อการกระทำของร.ต.ต.หาญนั้น เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  จึงถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ดังนั้น  ร.ต.ต.หาญจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญา

และเมื่อการกระทำของ  ร.ต.ต.หาญไม่มีความผิด  อาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญที่ใช้ยิงนั้นจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด  ดังนั้นศาลจะพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญตามมาตรา  33(1)  ไม่ได้

กรณีของ  จ.ส.ต.กล้า

การที่จ.ส.ต.กล้า  ได้ใช้ปืนยิงไปที่จ้อยและยอดหนึ่งนัด  ในขณะที่จ้อยและยอดได้วิ่งหนีไปแล้ว  ถือว่า  จ.ส.ต.กล้าได้กระทำต่อจ้อยและยอดยิ่งโดยเจตนาเพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59 วรรคสอง  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก  และการกระทำของ  จ.ส.ต.กล้าจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้  เพราะภยันตรายดังกล่าวนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม  การกระทำของ  จ.ส.ต.กล้าถือว่าเป็นการกระทำไปโดยบันดาลโทสะตามมาตรา  72  เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  และได้กระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ดังนั้น  ศาลจะลงโทษ  จ.ส.ต.กล้ากล้าน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้  ส่วนอาวุธปืนของ  จ.ส.ต.กล้านั้น  ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด  ศาลย่อมพิพากษาให้ริบปืนตามมาตรา  33(1) ได้

สรุป  จ้อยต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

ร.ต.ต.หาญไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลจะพิพากษาริบอาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญไม่ได้

จ.ส.ต.กล้าต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยเจตนาแต่อ้างเหตุบันดาลโทสะได้  และศาลจะพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของ  จ.ส.ต.กล้าได้

Advertisement