การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อใด  มีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง  จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

อธิบาย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำ  ซึ่งการกระทำ  หมายถึง  การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจนั่นเอง  และการกระทำยังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกด้วย  ดังจะเห็นได้จากมาตรา  59  วรรคห้า  ซึ่งบัญญัติว่า  การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

และโดยหลักทั่วไป  การกระทำซึ่งจะทำให้บุคคลผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญานั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา  คือ  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  มาตรา  59  วรรคสอง

การกระทำโดยเจตนา  แบ่งออกเป็น  2  กรณี  คือ

1       การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ซึ่งจะประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการคือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  หมายถึง  การรู้ถึงการเคลื่อนไหวหรือการไม่เคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง  และ

(2) ในขณะกระทำ  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  ในขณะกระทำ  นอกจากจะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกแล้ว ผู้กระทำยังมีความประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นๆตามที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้เกิดขึ้นด้วย

ตัวอย่าง  แดงต้องการฆ่าดำ  จึงใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้การที่แดงใช้ปืนยิงไปที่ดำถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  และความตายของดำถือว่าเป็นผลที่แดงประสงค์จะให้เกิดขึ้น

2       การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการ  คือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และ

(2) ในขณะกระทำผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  เป็นการกระทำที่ผู้กระทำมิได้ประสงค์ต่อผล  กล่าวคือ  มิได้มุ่งหมายให้เกิดผลขึ้น  แต่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง  แดงเชื่อว่าดำเป็นคนอยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้า  จึงทดลองใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้  การที่แดงใช้ปืนยิงดำ  แดงไม่มีความประสงค์จะให้ดำตายเป็นเพียงการทดลองความอยู่ยงคงกระพันเท่านั้น  แต่การกระทำของแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่า  ถ้ากระสุนถูกดำย่อมทำให้ดำตายได้  จึงถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าดำโดยย่อมเล็งเห็นผล

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  มีข้อยกเว้นว่า  บุคคลอาจจะต้องรับผิดในทางอาญา  แม้จะมิได้กระทำโดยเจตนาก็ได้  ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยประมาท  เช่น  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เป็นต้น  หรือ

(2) เป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง  ให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  (ความผิดเด็ดขาด)  เช่น  การกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร  เป็นต้น  หรือ

(3) เป็นการกระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้  แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  ก็เป็นความผิด  เว้นแต่  ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น  (มาตรา  104)

 

ข้อ  2  นายหนึ่ง  นางสองเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานางสองนอกใจนายหนึ่งคบนายสามเป็นแฟนใหม่  วันเกิดเหตุ  นายหนึ่งกลับมาที่บ้านของตนเองพบนางสองกับนายสามกำลังเป็นชู้กัน  นายหนึ่งโกรธจึงชักปืนยิงนายสามตายคาที่  ส่วนนางสองวิ่งหนีออกจากบ้านไป  ดังนี้  นายหนึ่งจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  อันจะมีผลทำให้ผู้กระทำไม่มีความผิดตามมาตรา  68  ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้  คือ

1       มีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

2       เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

3       ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน  หรือของผู้อื่น  ให้พ้นจากภยันตรายนั้น

4       ได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

ตามอุทาหรณ์  การที่นายสามได้เป็นชู้กับนางสองซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่ง  และนายหนึ่งได้มาพบขณะที่ทั้งสองกำลังเป็นชู้กันอยู่นั้น  ถือว่าเป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ซึ่งนายหนึ่งสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสองจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น  ดังนั้นการที่นายหนึ่งชักปืนยิงนายสามตายนั้น  ถือว่าเป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำดังกล่าวของนายหนึ่งจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายหนึ่งจึงไม่มีความผิดตามมาตรา  68

สรุป  นายหนึ่งไม่มีความผิดอาญาฐานฆ่านายสาม

 

ข้อ  3  เจริญเลี้ยงสุนัขไว้ในบ้านหลายตัว  ทุกเช้าเจริญจะปล่อยสุนัขของตนออกนอกบ้าน  สุนัขของเจริญจะถ่ายมูลหน้าบ้านของผู้อื่นเป็นประจำ  สุนัขของเจริญตัวหนึ่งได้มาถ่ายมูลหน้าประตูบ้านของจินดา

จินดาเห็นจึงออกไปไล่สุนัขตัวนั้น  สุนัขกระโดดกัดจินดา  จินดาใช้ไม้ตีสุนัข  1  ที  ถูกสุนัขตาย  เจริญออกมาหน้าบ้าน  เห็นสุนัขของตนถูกจินดาตีตายจึงตรงเข้าชกจินดา   จินดาล้มลง  เจริญจะชกซ้ำ

จินดาลุกขึ้นวิ่งหนีเข้าบ้านของตน  ปรากฏว่า  มีรถจักรยานของเปิ้ลจอดขว้างอยู่  จินดาจึงผลักรถจักรยานนั้นล้มลงเสียหาย  ดังนี้  เจริญและจินดาต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก และวรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของเจริญและจินดาจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีการกระทำของเจริญที่เข้าชกจินดานั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือ  การบาดเจ็บของจินดา  ดังนั้นการกระทำของเจริญจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เจริญจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

และกรณีดังกล่าว  เจริญจะอ้างว่าได้กระทำเพื่อป้องกันสิทธิในทรัพย์ของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพื่อไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  68 ไม่ได้  เพราะภยันตรายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์คือสุนัขของเจริญนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว  และการที่จินดาตีสุนัขของเจริญตายนั้น  ก็มิได้เป็นการข่มเหงต่อตัวผู้กระทำผิดคือเจริญโดยตรง  หรือต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์บางประการกับตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใด  เพียงแต่กระทำต่อทรัพย์ของเจริญเท่านั้น  ดังนั้นเจริญจะอ้างว่ากระทำไปโดยบันดาลโทสะเพื่อรับโทษน้อยลงตามมาตรา  72  ไม่ได้เช่นกัน

ส่วนกรณีของจินดา  การที่จินดาใช้ไม้ตีสุนัขของเจริญตายนั้น  ถือเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายคือให้พ้นจากการถูกสุนัขกัด  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุการกระทำดังกล่าวของจินดาจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  จินดาจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจริญ

และการที่จินดาผลักรถจักรยานของเปิ้ลล้มลงเสียหายนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการประทำ  คือ  เพื่อให้รถจักรยานล้มลง  ดังนั้นการกระทำของจินดาจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  จินดาจึงต้องรับผิดในทางอาญาฐานทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายตามมาตรา  59  วรรคแรก 

แต่เมื่อจินดาได้กระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  คือ  เพื่อให้พ้นจากการถูกเจริญทำร้าย  ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้  และภยันตรายดังกล่าวจินดาก็มิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนแต่อย่างใด  เมื่อได้กระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำดังกล่าวของจินดาจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  จินดาจึงไม่ต้องรับโทษ

สรุป

เจริญต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อจินดาโดยเจตนา  จะอ้างเหตุป้องกัน  หรือบันดาลโทสะเพื่อให้ตนไม่ต้องรับผิด  หรือรับโทษน้อยลงไม่ได้

ส่วนจินดาไม่ต้องรับผิดต่อเจริญ  เพราะได้กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่จะต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อทรัพย์ของเปิ้ลโดยเจตนา  แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น 

 

ข้อ  4  ธงรบจ้างกล้าหาญไปฆ่าสุเทพ  กล้าหาญตกลงแต่กล้าหาญไม่มีอาวุธปืน  พอดีพบรักมาหาธงรบเพื่อปรึกษาเรื่องที่ตนอยากให้สุเทพตาย  ธงรบจึงบอกพบรักว่ากล้าหาญกำลังจะไปฆ่าสุเทพ  แต่กล้าหาญไม่มีอาวุธปืน  พบรักเสนอให้ยืมอาวุธปืนของตนให้ธงรบนำไปให้กล้าหาญ  กล้าหาญได้รับอาวุธปืนจากธงรบโดยไม่ทราบว่าเป็นอาวุธปืนของพบรัก  กล้าหาญได้ไปดักยิงสุเทพ  ขณะที่กล้าหาญนำอาวุธปืนมาตรวจดูความเรียบร้อย  ปักษาเดินผ่านมาเห็นกล้าหาญ  และทราบความประสงค์ของกล้าหาญ  ปักษาจึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้  ปักษาเห็นนาวีเดินมาเข้าใจว่าเป็นสุเทพ  จึงให้สัญญาณแก่กล้าหาญ  กล้าหาญยิงไปที่นาวีโดยเข้าใจว่าเป็นสุเทพคนที่ตนจะฆ่า  กระสุนปืนถูกนาวีตาย  แล้วยังเลยไปถูกเฉลิมตายด้วย  ดังนี้  กล้าหาญ  ธงรบ  พบรัก  และปักษาต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ความรับผิดของกล้าหาญ

การที่กล้าหาญใช้ปืนยิงนาวีนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือ  ความตายของผู้ที่ตนยิง  ดังนั้น  การกระทำของกล้าหาญจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งกรณีนี้กล้าหาญจะยกเอาความสำนึกผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อนาวีไม่ได้ตามมาตรา  61  กล้าหาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อนาวีฐานกระทำโดยเจตนาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  59  วรรคแรก

และการที่กระสุนปืนยังได้เลยไปถูกเฉลิมตายด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่กล้าหาญเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำไปเกิดอีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่ากล้าหาญกระทำโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  ดังนั้นกล้าหาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเฉลิมเพราะได้กระทำต่อเฉลิมโดยเจตนาพลาดไปตามมาตรา  60

ความรับผิดของธงรบ

การที่ธงรบว่าจ้างกล้าหาญให้ไปฆ่าสุเทพนั้น  ถือเป็นการ  ก่อ  ให้ผู้อื่นกระทำความผิด  ธงรบจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84 วรรคแรก  เมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  แม้จะเป็นการยิงผิดตัว  ธงรบผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง  แต่ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  ในกรณีที่นำอาวุธปืนไปให้กล้าหาญอีก  เพราะการเป็น  ผู้ใช้  ได้กลืนการเป็น  ผู้สนับสนุน  แล้วนั่นเอง

ความรับผิดของพบรัก

การที่พบรักทราบว่ากล้าหาญกำลังจะไปฆ่าสุเทพ  จึงนำอาวุธปืนของตนฝากธงรบเพื่อนำไปให้กล้าหาญยืมนั้น  ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด  ก่อนหรือขณะกระทำความผิด  พบรักจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  แม้ว่ากล้าหาญผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกของพบรักก็ตาม

ความรับผิดของปักษา 

การที่ปักษาทราบความประสงค์ของกล้าหาญผู้กระทำผิด  จึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้นั้น  ถือว่าปักษามีเจตนาร่วมกระทำผิดและได้กระทำความผิดร่วมกันกับกล้าหาญผู้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  ปักษาจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป

กล้าหาญต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อนาวีโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  และรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อเฉลิมโดยเจตนาพลาดไปตามมาตรา  60

ธงรบต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง

พบรักต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

ปักษาต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

Advertisement