การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอนกกับนายโกสินทำสัญญาเป็นหนังสือมีข้อความว่า  นายเอนกขายที่ดินมีโฉนดของตนหนึ่งแปลงในราคา  5,000,000  บาท  พร้อมกับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. 3 )  ของตน  อีกหนึ่งแปลงราคา  700,000  บาท  ให้นายโกสินทร์  นายโกสินตกลงซื้อ

นายเอนกส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้นายโกสินทร์แล้ว  และนายโกสินทร์ชำระราคาค่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน  5,700,000  บาท  ให้นายเอนกครบถ้วน  ลงชื่อนายเอนกผู้ขาย  นายโกสินทร์ผู้ซื้อ  ต่อมาอีก  3  ปี  นายเอนกอยากได้ที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากนายโกสินทร์เพราะที่ดินทั้งสองแปลงมีราคาสูงขึ้นมาก

นายเอนกจึงมาเรียกที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากนายโกสินทร์และขอให้นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดิน  นายโกสินทร์ไม่ยอมคืนอ้างว่าเป็นที่ดินของตน  ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้  นายเอนกยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง

ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลพิจารณาแล้วได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  ท่านจะมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างนายเอนกกับนายโกสินทร์เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์  คู่สัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  456  วรรคแรก  แต่ทั้งคู่ทำกันเป็นเพียงหนังสือ  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดย่อมตกเป็นโมฆะ  การที่นายเอนกส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้นายโกสินทร์ ย่อมถือว่านายเอนกสละสิทธิครอบครอง  และที่ดิน น.ส.3  มีเพียงสิทธิครอบครอง  นายโกสินทร์ย่อมได้สิทธิครอบครอง  ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกจากที่ดิน น.ส.3  แปลงนี้ไม่ได้  ส่วนที่ดินมีโฉนดเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์  แม้นายโกสินทร์จะมีสิทธิครอบครอง  แต่กรรสิทธิ์ยังเป็นของนายเอนก  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  ข้าพเจ้าจะมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินแปลงที่มีโฉนด

 

ข้อ  2  นายไก่นำนาฬิกาข้อมือมูลค่า  1  ล้านบาท  ไปขายฝากไว้กับนายไข่ในราคาเพียง  3  แสนบาท  มีกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน  3  ปี และมีข้อตกลงกันว่าในระหว่างติดสัญญาขายฝากห้ามมิให้นายไข่นำนาฬิกาเรือนดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายโอน  และเวลาไถ่คืนให้ประโยชน์  15%  ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หลังจากรับซื้อฝากไว้แล้วนายไข่กลับนำนาฬิกาไปขายให้นายแดงในราคา  5  แสนบาท

หลังจากซื้อมาได้เพียง  1  เดือน  นายแดงจึงทราบว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นนาฬิกาซึ่งนายไก่นำมาขายฝากนายไข่ไว้หลังจากนั้นนายไก่ก็มาขอไถ่นาฬิกาคืนจากนายแดง  นายแดงปฏิเสธไม่ให้ไถ่คืนถ้าอยากได้คืนก็ต้องไถ่คืนในราคา  6  แสนบาท

1)    นายไก่มีสิทธิไถ่นาฬิกาคืนจากนายแดงได้หรือไม่  และข้ออ้างของนายแดงรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    นายไก่จะฟ้องร้องให้นายไข่รับผิดต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  493  ในการขายฝาก  คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้  ถ้าและผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้  ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น

มาตรา  498  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้  คือ

(1) ผู้ซื้อเดิม  หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม  หรือ

(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน  หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น  แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน  ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

วินิจฉัย

1)    นายไก่มีสิทธิไถ่นาฬิกาคืนจากนายแดงได้ตามมาตรา  498  เพราะนายแดงเป็นผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องรับไถ่  แต่นาฬิกาเป็นสังหาริมทรัพย์  นายไก่จะใช้สิทธิไถ่คืนจากนายแดงได้ต่อเมื่อในขณะหรือก่อนนายแดงซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวมาจากนายไข่นั้น  นายแดงรู้ว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวติดสัญญาขายฝาก  แต่ตามข้อเท็จจริงนายไข่ไม่ได้แจ้งให้นายแดงทราบและนายแดงมาทราบภายหลังจากซื้อมาแล้ว  นายแดงจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้นายไก่ไถ่คืนได้ตามมาตรา  498(2)  ข้ออ้างของนายแดงที่ว่าถ้าอยากได้คืนก็ต้องไถ่คืนในราคา  6  แสนบาทนั้น  รับฟังได้  เพราะเมื่อเขาเป็นเจ้าของนาฬิกาเขาจะขายคืนราคาเท่าใดก็ได้

2)    นายไก่สามารถฟ้องให้นายไข่ต้องรับผิดต่อตนได้ในความเสียหายใดๆอันเกิดจากการที่นายไข่นำนาฬิกาไปขายให้นายแดง เพราะนายไก่และนายไข่มีข้อตกลงกันไม่ให้นายไข่จำหน่ายนาฬิกาซึ่งรับซื้อฝากไว้จากนายไก่  และการกระทำของนายไข่ก็เป็นการฝ่าฝืนสัญญาซึ่งได้ตกลงกันไว้แล้วตามมาตรา  493 

สรุป 

(1) ข้ออ้างของนายแดงรับฟังได้

(2) นายไก่ฟ้องให้นายไข่รับผิดต่อตนได้

 

 

ข้อ  3  นายใจได้ซื้อเครื่องซักผ้าเครื่องหนึ่งจากห้างของนายแจ่ม  โดยเครื่องซักผ้าเครื่องนั้นเป็นเครื่องที่ห้างไว้สำหรับตั้งโชว์และทดลองให้ลูกค้าดู  เมื่อตกรุ่นห้างจึงนำมาลดราคาโดยถือเป็นของที่ใช้แล้วไว้กลางห้าง  จากเดิมของใหม่ราคา  ห้าพันบาท  เหลือเพียงสามพันบาท

เมื่อทดลองเครื่องที่ห้างก็พบว่าเครื่องทำงานได้เป็นปกติ  นายใจจึงตกลงซื้อแต่เมื่อพนักงานของห้างนำเครื่องมาส่งที่บ้านและทดลองดูกลับพบว่าบางระบบของเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ  ปั่นแห้งไม่ได้  เดินเครื่องไประยะหนึ่งเครื่องจะหยุดทำงานไปเฉยๆ  นายใจจะเรียกร้องให้ห้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

วินิจฉัย

นายใจได้ซื้อเครื่องซักผ้าเครื่องหนึ่งจากห้างของนายแจ่ม  โดยเครื่องซักผ้าเครื่องนั้นเป็นเครื่องที่ห้างไว้สำหรับตั้งโชว์และทดลองให้ลูกค้าดู  เมื่อตกรุ่นห้างจึงนำมาลดราคาโดยถือเป็นของที่ใช้แล้วไว้กลางห้าง  จากเดิมของใหม่ราคา  ห้าพันบาท  เหลืองเพียงสามพันบาท เมื่อทดลองเครื่องที่ห้างก็พบว่าเครื่องทำงานได้เป็นปกติ  นายใจจึงตกลงซื้อแต่เมื่อพนักงานของห้างนำเครื่องมาส่งที่บ้านและทดลองดูกลับพบว่าบางระบบของเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ  ปั่นแห้งไม่ได้  เดินเครื่องไประยะหนึ่งเครื่องจะหยุดทำงานไปเฉยๆ  ดังนั้นนายใจจะเรียกร้องให้ห้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้เพราะเป็นการเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติตามมาตรา  472

สรุป  นายใจสามารถเรียกร้องให้ห้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้

Advertisement