การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 นางสาวส้มโอทำสัญญาซื้อขายล่อกับนางสาวส้มเช้ง โดยสัญญาซื้อขายระบุว่า “นางสาวส้มโอตกลงขายล่อซึ่งมีตั๋วรูปพรรณให้แก่นางสาวส้มเช้งในราคา 30,000 บาท โดยในวันทำสัญญานางสาวส้มโอได้รับเงินไว้จำนวน 10.000 บาท และเมื่อนางสาวส้มเช้งชำระราคาล่อให้แก่นางสาวส้มโออีก 20,000 บาท นางสาวส้มโอจะจดทะเบียนโอนล่อตัวดังกล่าวให้แก่นางสาวส้มเช้ง” ครั้นเมื่อถึงวันที่ 12 มีนาคม 2557 นางสาวส้มเช้งได้ชำระราคาล่อให้แก่นางสาวส้มโอครบถ้วนแล้ว แต่นางสาวส้มโอกลับปฏิเสธที่จะจดทะเบียนโอนล่อตัวดังกล่าวให้แก่นางสาวส้มเช้ง โดยอ้างว่าสัญญาซื้อขายล่อไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้

ให้วินิจฉัยว่านางสาวส้มเช้งสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเรียกให้นางสาวส้มโอจดทะเบียนโอนล่อให้แก่ตนได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย ”

มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรก แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้วก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 456 วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวส้มโอตกลงขายล่อซึ่งมีตั๋วรูปพรรณให้แก่นางสาวส้มเช้งในราคา 30,000 บาท โดยในวันทำสัญญาซื้อขายกันนั้น นางสาวส้มโอได้รับเงินไว้จำนวน 10,000 บาท และเมื่อนางสาวส้มเช้งชำระราคาล่อให้แก่นางสาวส้มโออีก 20,000 บาท นางสาวส้มโอจะจดทะเบียนโอนล่อตัวดังกล่าวให้แก่นางสาวส้มเช้งนั้น ถือเป็นกรณีที่คู่สัญญาไม่มีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในล่อซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษโอนไปในขณะทำสัญญาซื้อขายกัน แต่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหน้า ดังนั้นสัญญาซื้อขายล่อระหวางนางสาวส้มโอและนางสาวส้มเช้ง จึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายตามมาตรา 456 วรรคสอง

และเมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างนางสาวส้มโอและนางสาวส้มเช้ง เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จึงไม่ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 วรรคแรก แต่อย่างใด สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายล่อระหว่างนางสาวส้มโอและนางสาวส้มเช้งได้มีการทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายกัน

ดังนั้นเมื่อนางสาวส้มเช้งได้ชำระราคาล่อให้แก่นางสาวส้มโอครบถ้วนแล้ว แต่นางสาวส้มโอปฏิเสธที่จะจดทะเบียนโอนล่อให้แก่นางสาวส้มเช้ง นางสาวส้มเช้งจึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเรียกให้นางสาวส้มโอจดทะเบียนโอนล่อ

ให้แก่ตนได้ เพราะสัญญาจะซื้อจะขายล่อดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีตามมาตรา 456 วรรคสองคือมีหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อนางสาวส้มโอฝ่ายที่ต้องรับผิดนั้นเอง

สรุป

นางสาวส้มเช้งสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเรียกให้นางสาวส้มโอจดทะเบียนโอนล่อให้แก่ตนได้

 

ข้อ 2. จันทร์ซื้อรถยนต์ 1 คันจากอังคารในราคา 1 แสนบาท มีการชำระราคาส่งมอบเรียบร้อย หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน มีดำพาตำรวจมาขอรถยนต์คืนโดยอ้างว่าเป็นรถของตนที่ถูกขโมยมา จันทร์ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ เชื่อว่าเป็นรถของดำจริง จึงคืนรถให้แก่ดำไป

  1. จันทร์จะฟ้องอังคารว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่
  2. ภายในกำหนดอายุความเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

มาตรา 481 “ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น”

วินิจฉัย

การรอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินโดยปกติสุขได้ ซึ่งตามมาตรา 475 กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการรอนสิทธินั้น แต่ถ้าหากผู้ซื้อได้ยอมตามที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือกว่านั้นเรียกร้องแล้ว ผู้ซื้อจะต้องฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธินั้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้อง มิฉะนั้นจะไม่สามารถฟ้องคดีได้ตามมาตรา 481

กรณีตามอุทาหรณ์ พิจารณาได้ดังนี้

  1. จันทร์จะฟ้องอังคารว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่ดำพาตำรวจมาติดตามเอารถยนต์ของตนคืนจากจันทร์นั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิทำให้ผู้ซื้อคือจันทร์ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข จึงเป็นการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ซึ่งผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อ ดังนั้น จันทร์จึงสามารถฟ้องอังคารว่าตนถูกรอบสิทธิได้
  2. เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จันทร์ได้ยอมคืนรถยนต์ไห้แก่ดำไป จึงถือเป็นกรณีที่ผู้ซื้อซึ่งถูกรอนสิทธิได้ยอมตามที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือกว่านั้นเรียกร้องแล้ว ดังนั้นจันทร์จึงต้องฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธินั้นภายในอายุความ 3 เดือน นับแต่วันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

สรุป

  1. จันทร์สามารถฟ้องอังคารว่าตนถูกรอนสิทธิได้
  2. จันทร์จะต้องฟ้องภายในอายุความ 3 เดือน นับแต่วันที่ได้คืนรถยนต์ให้แก่ดำ

 

ข้อ 3 นายไก่นำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังลือและจดทะเบียนขายฝากนายไข่ไว้ มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคา 1 ล้านบาท และกำหนดสินไถ่ไว้ 2 ล้านบาท เมื่อเวลาฝานไป 11 เดือน นายไก่ไปขอไถ่บ้านคืนพร้อมเงิน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาท นายไข่ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่ถึงกำหนดเวลา และสินไถ่ไม่ครบคำปฏิเสธของนายไข่รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย ”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย”

มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่นำบ้านและที่ดินของตนไปขายฝากไว้กับนายไข่ในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปีนั้น เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายไก่ได้ไปขอไถ่ทรัพย์คืนพร้อมเงิน 1,150,000 บาท ดังนี้นายไข่จะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเหตุว่านายไก่ได้ขอใช้สิทธิในการไถ่ก่อนครบ 1 ปี และภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

(มาตรา 494 (1)) และในส่วนเงินสินไถ่นั้นตามมาตรา 499 วรรคสอง ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบหาต่อปีให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดสินไถ่ไว้ 2 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี การที่นายไก่นำเงิน 1,150,000 บาท มาเป็นสินไถ่จึงเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้องแล้ว กล่าวคือ ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี เท่ากับ 1,150,000 บาท(มาตรา 499 วรรคสอง) ดังนั้น คำปฏิเสธของนายไข่ที่ว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลา และสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้

สรุป

คำปฏิเสธของนายไข่รับฟังไม่ได้

Advertisement