การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์ขโมยรถยนต์ของนายอาทิตย์มาขายให้นายอังคาร  นายอังคารซื้อโดยสุจริต  หลังจากนั้น  นายอังคารถูกศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้นายแดง  นายอังคารไม่ปฏิบัติตาม  คำพิพากษาในชั้นบังคับคดี  เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดรถยนต์คันนี้ขายทอดตลาด  นายพุธเป็นผู้ประมูลซื้อได้  นายพุธซื้อมาแล้วรู้ความจริงว่ารถยนต์คันนี้ไม่ใช่ของนายอังคารและไม่อยากได้ไว้  และขายต่อให้นายพฤหัส  ต่อมานายอาทิตย์มาพบรถยนต์คันนี้อยู่กับนายพฤหัส  และขอให้นายพฤหัสคืน  นายพฤหัสไม่คืน  นายอาทิตย์ฟ้องขอให้ศาลบังคับนายพฤหัสคืนรถยนต์ของตนที่ถูกคนร้ายลักไป  นายพฤหัสต่อสู้ว่าตนซื้อมาโดยสุจริต  และเสียค่าตอบแทน  ตนจึงมีสิทธิในรถยนต์คันนี้  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ข้อเท็จจริงตามที่นายอาทิตย์ฟ้อง  และนายพฤหัสให้การต่อสู้  และมีคำพิพากษาให้นายพฤหัสเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้คืนรถยนต์คันนี้ให้นายอาทิตย์

ดังนี้  ท่านเห็นว่า  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และนายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดฐานที่ตนไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  453  อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่าผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  482  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้คือ

(2)  ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี  และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า  ถ้าได้เรียกเข้ามาคดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย  คือ  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  453  มีหลักอยู่ว่า  ผู้ขายจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายอยู่ในเวลาซื้อขายหรือไม่ก็ตาม  ผู้ขายจะต้องให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ด้วยการชำระราคา  ดังนั้น หากมีบุคคลภายนอกเข้ามารบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ  ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินได้โดยปกติสุข  เพราะบุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวในเวลาซื้อขาย  หรือที่เรียกว่าการรอนสิทธิตามมาตรา  475  นั้นผู้ซื้อจะต้องต่อสู้ถึงสิทธิของผู้ขายว่ามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายอย่างไร  เพื่อแสดงถึงสิทธิของตนในฐานะผู้ซื้อ

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายอาทิตย์เจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง  ฟ้องขอให้ศาลบังคับนายพฤหัสคืนรถยนต์ของตนนั้น  นายพฤหัสจะต้องต่อสู้ถึงสิทธิของนายพุธผู้ขายว่า  นายพุธได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต  นายพุธจึงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้น  (ตามมาตรา  1330)  และเมื่อตนซื้อรถยนต์มาจากนายพุธ  ตนย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นด้วย  แต่เมื่อปรากฏว่า  นายพฤหัสต่อสู้เพียงว่า  ซื้อรถยนต์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยหาได้ต่อสู้ถึงสิทธิของนายพุธไม่  ดังนั้น  นายพฤหัสจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี  ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้นายพฤหัสเป็นฝ่ายแพ้คดีและให้คืนรถยนต์คันนี้ให้นายอาทิตย์  จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  นายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดฐานที่ตนไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  หากมีการรอนสิทธิเกิดขึ้น  ผู้ขายจะต้องรับผิดเพราะเหตุแห่งการรอนสิทธินั้นตามมาตรา  475  แต่หากผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี  และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าถ้าได้เรียกเข้ามา  คดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ  ดังนี้  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธินั้นตามมาตรา  482(2)

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายอาทิตย์ฟ้องขอให้ศาลบังคับนายพฤหัสคืนรถยนต์ของตนที่ถูกคนร้ายลักไปจนทำให้นายพฤหัสไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ได้นั้น  ย่อมถือเป็นกรณีที่นายพฤหัสผู้ซื้อถูกรอนสิทธิตามมาตรา  475  แต่เมื่อปรากฏว่า  นายพฤหัสไม่ได้เรียกนายพุธเข้ามาในคดี  นายพฤหัสจึงเรียกร้องให้นายพุธรับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้  เพราะนายพุธย่อมพิสูจน์ได้ว่า  ถ้านายพฤหัสเรียกตนเข้ามาในคดี  คดีนี้นายพฤหัสจะเป็นฝ่ายชนะคดีตามมาตรา  482(2)

สรุป  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว  และนายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดฐานที่ตนไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ไม่ได้   

 

 

ข้อ  2  นายไก่ไปซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของนายไข่  ซึ่งในการขายทอดตลาดครั้งนี้  นายไข่แจ้งให้ผู้เข้าสู้ราคาทราบโดยทั่วกันว่า  ถ้าเกิดความชำรุดบกพร่องหรือการรอนสิทธิอย่างใดๆขึ้น  นายไข่จะไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น  นายไก่ซื้อรถยนต์ไป  2  คัน  หลังจากการรับมอบรถยนต์ไปได้เพียงสองอาทิตย์เท่านั้น  เครื่องยนต์ของรถยนต์คันหนึ่งก็เกิดปัญหาวิ่งไม่ได้  ส่วนอีกคันนายแดงมาอ้างเป็นรถยนต์ของตนซึ่งถูกขโมยไปโดยมีพยานหลักฐานพร้อมมาแสดง  นายไก่จึงจำต้องคืนรถยนต์ให้นายแดง

นายไก่จะฟ้องนายไข่ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิที่เกิดกับรถยนต์ซึ่งตนซื้อมาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(3)           ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  483  คู่สัญญาซื้อขายตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี  ผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473  เช่น  ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายไก่ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของนายไข่  และปรากฏว่ารถยนต์คันหนึ่งเกิดปัญหาวิ่งไม่ได้นั้น  ย่อมถือว่ารถยนต์ที่ตกลงซื้อขายกันนั้นมีความชำรุดบกพร่อง  เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันจะมุ่งใช้เป็นปกติ  ซึ่งโดยหลักนายไข่ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อนายไก่ผู้ซื้อ  ตามมาตรา  472  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีนี้  นายไก่จะฟ้องให้นายไข่รับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  เนื่องจากรถยนต์ที่นายไก่ซื้อมาจากนายไข่นั้น  เป็นการซื้อมาจากการขายทอดตลาด  จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา  473(3)

ส่วนความผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา  475  นั้น  เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขาย  ได้เข้ามารบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ  ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินนั้นโดยปกติสุข  ซึ่งโดยหลักแล้วผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อ เว้นแต่ผู้ขายและผู้ซื้อจะได้ตกลงกันไว้ว่า  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพราะการรอนสิทธินั้นตามมาตรา  483

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายไก่ผู้ซื้อได้ถูกรอนสิทธิ  คือได้ถูกนายแดงเจ้าของที่แท้จริงของรถยนต์อีกคันหนึ่งที่นายไก่ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของนายไข่นั้นติดตามเอาคืนไป  ดังนี้โดยหลักแล้วนายไก่ย่อมสามารถฟ้องนายไข่ให้รับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อมีข้อตกลงกันไว้ว่า  หากเกิดความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิอย่างใดๆขึ้น  นายไข่ผู้ขายไม่ต้องรับผิด  ดังนั้น  นายไข่จึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิดังกล่าว  ตามมาตรา  475  และมาตรา  483

สรุป  นายไก่จะฟ้องนายไข่ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่ตนซื้อมาไม่ได้ 

 

 

ข้อ  3  นายจันทร์นำบ้านที่ดิน  และเรือมีระวาง  4  ตันไปขายฝากไว้กับนายอังคาร  บ้านที่ดิน  ขายฝากไว้ในราคา  1  ล้านบาท  ส่วนเรือขายฝากไว้ในราคา  3  แสนบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปี  ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นต์  โดยมีการส่งมอบบ้านที่ดิน เรือ  และมีการชำระราคาเรียบร้อยแล้ว  เมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  1  วัน  นายจันทร์ไปขอไถ่บ้านที่ดินและเรือคืน  นายอังคารปฏิเสธว่าเลยกำหนดเวลาแล้ว

คำปฏิเสธของนายอังคารรับฟังได้หรือไม่  และนายจันทร์มีโอกาสที่จะได้บ้านที่ดินและเรือคืนตามบทบัญญัติกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย 

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

วินิจฉัย

สัญญาขายฝาก  เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง  ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้  เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย  จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม  ดังนั้น  การขายฝากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  เช่น  เรือมีระวางตั้งแต่  5  ตันขึ้นไป  แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา  491  ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายจันทร์นำบ้านที่ดินและเรือมีระวาง  4  ตัน  ไปขายฝากไว้กับนายอังคาร  โดยมีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปีนั้น  เมื่อปรากฏว่า  เรือระวาง  4  ตัน  ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก  การขายฝากจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  สัญญาขายฝากเรือจึงมีผลสมบูรณ์  เมื่อนายจันทร์ไปขอไถ่เรือคืนเมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  1  วัน  ซึ่งเกินกำหนดไถ่ไป  1  วันแล้ว  นายอังคารผู้รับซื้อฝากย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้นายจันทร์ไถ่คืนได้  ตามมาตรา  494  และมาตรา  491  ดังนั้น  คำปฏิเสธของนายอังคารในกรณีของเรือจึงรับฟังได้  และนายจันทร์ไม่มีโอกาสที่จะได้เรือคืนตามบทบัญญัติกฎหมาย

ส่วนกรณีของบ้านและที่ดินนั้น  ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์เมื่อการขายฝากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาขายฝากจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  491  ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก  คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการทำสัญญากัน  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินจึงยังคงเป็นของนายจันทร์  และต้องนำหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ  กล่าวคือ  นายจันทร์จะต้องคืนเงินราคาขายฝาก  1  ล้านบาท  ให้แก่นายอังคาร  ส่วนนายอังคารก็ต้องคืนบ้านและที่ดินให้แก่นายจันทร์ไปเช่นกัน  ดังนั้น คำปฏิเสธของนายอังคารในกรณีของบ้านและที่ดินจึงรับฟังไม่ได้  และนายจันทร์ย่อมมีสิทธิที่จะได้บ้านและที่ดินคืน

สรุป  คำปฏิเสธของนายอังคารในกรณีของเรือรับฟังได้  และนายจันทร์ไม่มีสิทธิที่จะได้เรือคืน  ส่วนคำปฏิเสธของนายอังคารในกรณีของบ้านและที่ดินนั้นรับฟังไม่ได้  และนายจันทร์มีสิทธิที่จะได้บ้านและที่ดินคืน

Advertisement