การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้กับนายอังคารในราคา  10  ล้านบาท  นายอังคารตอบตกลงซื้อ  นายอังคารชำระราคาค่าที่ดิน

ให้นายจันทร์  5  ล้านบาทก่อน  ส่วนที่ยังขาดจะชำระให้ในวันจดทะเบียนโอนซึ่งนัดกันไว้ในวันรุ่งขึ้น  และนายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคาร  ในวันนัดนายจันทร์หาได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารไม่  นายอังคารอยู่ในที่ดินแปลงนี้มาได้  12  ปี  ที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นกว่าร้อยล้านบาท  นายจันทร์อยากได้ที่ดินแปลงนี้คืน  และมาขอให้นายอังคารคืนที่ดินแปลงนี้  นายอังคารไม่ยอมคืน  นายจันทร์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่นายอังคารให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้

ดังนี้  นายอังคารได้รับสำเนาฟ้องแล้วมาถามท่านว่า  นายอังคารจะมีทางต่อสู้คดีเพื่อไม่ให้เสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  ท่านจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้  หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  456  วรรคแรกและวรรคสอง  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายจันทร์บอกขายที่ดินของตนแปลงหนึ่งให้กับนายอังคาร  โดยตกลงกันว่านายจันทร์จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายอังคารในวันรุ่งขึ้นนั้น  สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว  ย่อมถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  เพราะเป็นการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์และคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่กันในขณะทำสัญญา  แต่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหน้า

และจากข้อเท็จจริง  การที่นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารครอบครอง  และนายอังคารได้อยู่ในที่ดินแปลงนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น  จะถือว่านายอังคารเจตนาจะยึดถือที่ดินเพื่อตนไม่ได้  แต่ต้องถือว่าเป็นการยึดถือแทนนายจันทร์  และแม้นายอังคารจะอยู่ในที่ดินมาได้  12  ปี  ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  (ตามมาตรา  1382)  ดังนั้น  เมื่อนายจันทร์ผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาและได้ยื่นฟ้องขับไล่นายอังคารให้ออกไปจากที่ดิน  นายอังคารก็ชอบที่จะต่อสู้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย  ตามมาตรา  456  วรรคสอง  และฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับนายจันทร์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายได้

แต่อย่างไรก็ตาม  นายอังคารจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจันทร์ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว  ภายในอายุความ  10  ปี  นับแต่วันที่นายจันทร์ผิดสัญญาตามมาตรา  193/30  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอังคารได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนพ้น  10  ปี  นับแต่วันที่ผิดสัญญาแล้ว  คดีย่อมขาดอายุความ  ทำให้นายอังคารต้องเสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้

ดังนั้น  เมื่อนายอังคารได้รับสำเนาฟ้องแล้ว  นายอังคารจะไม่มีทางต่อสู้คดีเพื่อไม่ให้เสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้ได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำตอบแก่นายอังคารดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  ฝนทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ฟ้า  ในราคา  200,000  บาท  และฟ้าก็ได้บอกกับฝนว่าถ้าฝนมีเงินจำนวน  210,000  บาท  ก็จะมาขอซื้อคืนในภายหลังได้  ภายในเวลา  5  ปี  แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เมื่อตกลงกันแล้วฝนจึงได้ส่งมอบที่ดินพร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และให้ฟ้าเข้าครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ  ทำสัญญาขายที่ดินมาได้  3  ปี  ฝนจึงนำเงิน  200,000  บาท  มาขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากฟ้า  ฟ้าจะปฏิเสธไม่ขายที่ดินแปลงนี้คืนให้ฝนได้หรือไม่

ให้ท่านอธิบายพร้อมยกเหตุผลตามกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

วินิจฉัย

สัญญาขายฝากนั้นถือเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง  จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วย  กล่าวคือ  ถ้าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์  ก็ต้องทำตามแบบ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก  คือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ฝนทำสัญญาซื้อขายที่ดินในราคา  200,000  บาท  และฟ้าก็ได้บอกกับฝนว่าถ้าฝนมีเงินจำนวน  210,000  บาท  ก็จะมาขอซื้อที่ดินในภายหลังได้  ภายในเวลา  5  ปีนั้น  ถือเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์  ตามมาตรา  491  เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ตกเป็นโมฆะเพราะไม่ทำตามมาตรา  456  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อได้มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว  ฝนได้ส่งมอบที่ดินพร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และให้ฟ้าเข้าครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ  ดังนี้  เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แม้การซื้อขายที่ดินจะตกเป็นโมฆะ  ฟ้าก็ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้แล้วโดยผลของกฎหมาย  ตามมาตรา  1367

ดังนั้น  หลังจากทำสัญญาขายที่ดินมาได้  3  ปี  ฝนได้นำเงิน  200,000  บาท  มาขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากฟ้า  ฟ้าย่อมปฏิเสธไม่ขายที่ดินแปลงนี้คืนให้ฝนได้  ซึ่งการปฏิเสธไม่ขายคืนให้นี้  ไม่ใช่ปฏิเสธเพราะราคาค่าซื้อที่ดินคืนผิดไปจากที่ตกลงกันไว้  แต่เป็นเพราะว่าฟ้าได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้แล้วโดยผลของกฎหมายแล้วนั่นเอง

สรุป  ฟ้าจะปฏิเสธไม่ขายที่ดินแปลงนี้คืนให้ฝนได้  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น 

 

 

ข้อ  3  จำเลยบอกโจทก์ว่าจะยกที่ดินแปลงหนึ่งและรถยนต์คันหนึ่งของจำเลยให้โจทก์  จำเลยจึงได้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์และจัดการเรื่องเอกสารทะเบียนรถให้โจทก์เรียบร้อย  ส่วนที่ดินก็ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้ เมื่อโจทก์เข้าครอบครองที่ดินแปลงนั้นได้หกเดือน  จำเลยก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์  โจทก์ได้พยายามทวงถามหลายครั้งแล้ว  แต่จำเลยก็ยังบ่ายเบี่ยงตลอดมา

ให้ท่านวินิจฉัยว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์และที่ดินโอนเป็นของโจทก์แล้วหรือยัง  และโจทก์จะฟ้องร้องจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  523  การให้นั้น  ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้

มาตรา  525  การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น  ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ในกรณีเช่นนี้  การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ

มาตรา  526  ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้  ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้  แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1       กรณีรถยนต์  เมื่อปรากฏว่ารถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา  การให้รถยนต์ย่อมสมบูรณ์  เมื่อได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้แก่กันตามมาตรา  523  ดังนั้น  การที่จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์  และจัดการเรื่องเอกสารทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์เรียบร้อยแล้วนั้น  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปเป็นของโจทก์แล้วตามมาตรา  523

2       กรณีที่ดินมีโฉนด  เมื่อปรากฏว่าที่ดินมีโฉนดเป็นอสังหาริมทรัพย์  ถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  การให้ที่ดินมีโฉนดจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  525

ตามข้อเท็จจริง  เมื่อปรากฏว่าจำเลยยกที่ดินให้โจทก์โดยเพียงแต่ส่งมอบการครอบครองเท่านั้น  ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  การให้ที่ดินจึงยังไม่สมบูรณ์ตามมาตรา  525  กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังเป็นของจำเลยไม่โอนเป็นของโจทก์แต่อย่างใด  และโจทก์ก็จะฟ้องร้องจำเลยไม่ได้  เพราะการให้ที่ดินไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  526

สรุป  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของโจทก์แล้ว  ส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่โอนเป็นของโจทก์  และโจทก์จะฟ้องร้องจำเลยไม่ได้

Advertisement