การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการของการปกครองในระบบรัฐสภา  ระบบประธานาธิบดี  และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  มาตามที่เข้าใจ  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

รูปการปกครองในระบบรัฐสภาเป็นรูปการปกครองที่การจัดตั้งองค์กรในการใช้อำนาจรัฐ มีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้องค์กรดังกล่าวสามารถมีปฏิสัมพันธ์และสามารถใช้มาตรการในการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติและการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหาร

ตัวอย่างการปกครองในระบบรัฐสภาที่เห็นได้ชัดเจน  คือ ระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ และระบบการปกครองของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2540

–       รูปการปกครองในระบบประธานาธิบดีจะมีการกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันให้เป็นอิสระมากที่สุด เป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็ไม่มีอำนาจล้มล้างซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจในการขอเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารและทางฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น รูปการปกครองของสหรัฐอเมริกา

–       ส่วนรูปการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เป็นรูปการปกครองที่นำเอาหลักการของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีมาใช้ร่วมกัน มีการนำเอามาตรการในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารมาใช้ในส่วนของคณะรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนไม่สามารถเปิดอภิปรายตัวประธานาธิบดีเหมือนกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี จะมีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น ตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

 

ข้อ  2  ขอให้ท่านอธิบายถึงขั้นตอนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาโดยสังเขป

ธงคำตอบ

การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ในส่วนของฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด  ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง  ซึ่งเรียกว่า  “Secretaries”  โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐ  และเป็นหัวหน้าของรัฐบาลด้วย

ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ  อยู่เพียง  2  พรรค  คือ  พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต  ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  กล่าวคือ  ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง  เรียกว่า  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  (Big  Elector)  เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี  ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ  “Ticket”  เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน  มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่  1 

พรรคการเมืองทั้ง  2  พรรคดังกล่าว  จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ  ซึ่งมีทั้งหมด  50  มลรัฐ  เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ  Convention  เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว  ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ขั้นตอนที่  2 

กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่  ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน  ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อย่างเช่น  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30  คน  และสมาชิกวุฒิสภาอีก  2  คน  ดังนั้นรวมแล้วได้  32  คน  ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ  32  รายชื่อ  เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา  ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด  ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น  และจะต้องเลือกทั้ง  32  คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น  เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่

สำหรับ  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  นั้นมีทั้งหมด  538  คน  ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  (435 + 3 + 100 )  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด  คือ  จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป

ดังนั้นจะเห็นว่า  หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก  50  มลรัฐของแต่ละพรรค  ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง  270  เสียง  คือ  เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด  (กึ่งหนึ่ง  269)  ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่  3

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน  538  คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน  ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป  ก็หมายความว่า  ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส  จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร

วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี  ก็คือ  4  ปี  ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง  รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่  และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี

 

ข้อ  3  จงอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  ที่มาของอำนาจบริหาร  ที่มาของอำนาจตุลาการ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  (ฉบับปัจจุบัน) ได้บัญญัติที่มาขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยไว้ดังนี้

1       รัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ

–                    รัฐสภาประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และสมาชิกวุฒิสภา  (มาตรา 88)

–                    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  มี  480  คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต  400  คน  และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน  80  คน  (มาตรา 93)

–                    สมาชิกวุฒิสภามี  150  คน  มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ  1  คน รวม  76  คน  และมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการการสรรหา  74  คน  (มาตรา  111)

2       คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร

–                    คณะรัฐมนตรีประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี  1  คน  ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น  และคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน  35  คน  ซึ่งจะมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้  แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ  (มาตรา  171  และมาตรา  174)

–                    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาเป็นคณะรัฐมนตรียังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย

3       ศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ

–                    ศาลมี  4  ศาล  คือ  ศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครอง  ศาลทหาร  และศาลยุติธรรม  (หมวด 10)

–                    การจัดตั้งศาลให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ (มาตรา  198)

–                    ดังนั้นที่มาของศาลมาตามบทบัญญัติของกฎหมาย  ที่มาของศาลหรือผู้พิพากษาจึงแตกต่างกัน  ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งศาลแต่ละศาลนั้นๆ

 

ข้อ  4  จงอธิบายถึงความมุ่งหมายที่สำคัญของรัฐธรรมนูญในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล  และในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยอาศัยเหตุผลเพื่อคุ้มครอง  สิทธิของบุคคลอื่น  (Inhalt  der  Rechteanderer)  เกิดขึ้นได้ในกรณีใดบ้างหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

ความมุ่งหมายที่สำคัญในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

1       เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่น

2       เพื่อการดำรงอยู่และเพื่อความสามารถในการทำภาระหน้าที่ของรัฐ  และ

3       เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นๆ

ตัวอย่างของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยเหตุผลเพื่อคุ้มครอง  สิทธิของบุคคลอื่น

–                    เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การพูด  การเขียน  การพิมพ์  การโฆษณา  การจำกัดเสรีภาพในกรณีดังกล่าวจะกระทำมิได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิ  เสรีภาพเกียรติยศ  ชื่อเสียง  สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น

–                    สิทธิของบุคคลในการได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  หรือราชการส่วนท้องถิ่น  เว้นแต่การเปิดเผยนั้นจะกระทบต่อส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น  เป็นต้น

Advertisement