การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงระบบการปกครองและวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร  (ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี)  ของประเทศฝรั่งเศสมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา  ได้แก่  หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น  2  องค์กร  คือ  องค์กรประมุขแห่งรัฐ  และองค์กร คณะรัฐมนตรี  ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาร่วมกันบริหารรัฐกิจ  แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า  คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ  ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี  โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี  แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี  ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี  ได้แก่  ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ  ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา  จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง

สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส

1       สถาบันบริหาร  แบ่งออกเป็น

1)    ประธานาธิบดี  มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด  นั่นคือ  ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  20  ล้านคน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง  สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป  (สิบล้านหนึ่งคน)  เป็นต้น  โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้  ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง

แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก  ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง  โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่  1  และลำดับที่  2  ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้  ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา  นั่นคือ  หนึ่งในสองคนนี้  ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย

ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ  และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย  (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)

อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

ประเภทแรก  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ  ภายในรัฐ  เช่น  อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ  และคณะรัฐมนตรี  อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต  หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ

ประเภทที่สอง  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา  เช่น  ลงนามในกฎหมายต่างๆ  หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่  อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ  และที่สำคัญที่สุดคือ  ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว

2)  คณะรัฐมนตรี  ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีทั้งหลาย  ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล  ซึ่งต้องไปแถลง

นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่  พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส  มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี  ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา  แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี  ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้

2       สภานิติบัญญัติ  แบ่งออกเป็น  2  สภา  ได้แก่

1)    สภาผู้แทนราษฎร  มีจำนวนสมาชิก  577  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี

2)    วุฒิสภา  มีจำนวนสมาชิก  321  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  แต่จำนวนวุฒิสมาชิก  1  ใน  3  จะต้องออกจากตำแหน่งทุก  3  ปี

อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน  เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน  และที่สำคัญคือ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล

3       สถาบันอื่นๆ  เช่น

1)    สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)

2)    สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม  ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

3)    ศาลยุติธรรมสูงสุด  ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ

 

ข้อ  2  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์  ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองต่างๆ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาโดยสังเขป  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  3  ให้อธิบายถึงอำนาจในการถอดถอนจากตำแหน่งโดยวุฒิสภา  และหลักเกณฑ์ในการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตราดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

การถอดถอนจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง  มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  มาตรา  303  ถึงมาตรา  307  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1       ตำแหน่งที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนได้

1)    นกยกรัฐมนตรี

2)    รัฐมนตรี

3)    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

4)    สมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.)

5)    ประธานศาลฎีกา

6)    ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

7)    ประธานศาลปกครอง

8)    อัยการสูงสุด

9)    กรรมการการเลือกตั้ง

10)                       ผู้ตรวจการแผ่นดิน

11)                       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

12)                       กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

13)                       ผู้พิพากษาหรือตุลาการ  พนักงานอัยการ  หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามที่กฎหมายกำหนด

 2       พฤติการณ์ที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอน

ผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ  1  ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

3       ผู้มีสิทธิร้องขอให้ถอดถอน

1)    ส.ส.  จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรร้องขอต่อประธานวุฒิสภา

2)    ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า  50,000  คน  มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา

3)    ส.ว.  จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา  ถอดถอน  ส.ว.  ออกจากตำแหน่งได้  ส.ว.  จะร้องขอถอดถอนตำแหน่งอื่นมิได้

4       กระบวนการในการถอดถอน

เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องขอแล้วจะดำเนินการต่อไป  ดังนี้

1)    ส่งเรื่องให้  ป.ช.ช.  ดำเนินการไต่สวน

2)    เมื่อไต่สวนเสร็จ  ป.ช.ช.  ส่งรายงานให้วุฒิสภา  ถ้า  ป.ช.ช.  มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลนับแต่วันดังกล่าว  ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ  ในขณะเดียวกัน  ป.ช.ช.  ต้องส่งรายงานให้อัยการสูงสุด  เพื่อฟ้องยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

3)    วุฒิสภาประชุมพิจารณาถอดถอน  โดยมติถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า  3  ใน  5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา  อนึ่งการออกเสียงลงคะแนนต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ  มติของวุฒิสภาเป็นที่สุด  จะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้

4)    ผลเมื่อบุคคลใดถูกถอดถอน  บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน  และผู้นั้นถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง  หรือในการรับราชการเป็นเวลา  5  ปี

ข้อ  4  ให้อธิบายถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2540)  มาโดยละเอียด

งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550

Advertisement