การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในเรื่องต่าง ๆ อย่างมากมาย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวขัดต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐของมองเตสกิเออร์หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจของมองเตสกิเออร์ (Montesquieu) นักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสนั้น มองเตสกิเออร์มีสมมุติฐานว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามเมื่อมีอำนาจขึ้นมาและมีทางที่จะใช้อำนาจได้อย่างกว้างขวางแล้ว มนุษย์ผู้นั้นจะใช้อำนาจตามใจชอบ โดยเขาได้เขียนไว้ในหนังสือ “เจตนารมณ์ทางกฎหมาย” หรือ Del’ Esprit Des Lois โดยกล่าวว่า เสรีภาพของประชาชนจะมีได้ก็แต่เฉพาะในรัฐชนิดที่ผ่อนปรนไม่ตึงเครียดและไม่ใช่ว่าจะมีในรัฐชนิดนี้ทุกรัฐไป จะมีได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการเมาอำนาจจนใช้อำนาจเกินไป แต่อย่างไรก็ดีย่อม เป็นที่รู้และเห็นกันเป็นนิจว่า บุคคลผู้ใช้อำนาจทุกคนมักจะใช้อำนาจจนเกินเลยเสมอและมักจะใช้อำนาจจนถึงขอบเขตสุด แม้แต่ในเรื่องการทำบุญกุศลก็เช่นกัน ก็มักจะทำกันจนถึงขอบเขตสุด

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจจนเกินขอบเขต จึงจำต้องมีการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และควรให้องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งอำนาจในการควบคุมนโยบายทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนี้ ได้แก่ รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและการพิพากษาอรรถคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดหรือวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างเอกชน ซึ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนี้คือ ศาล

ซึ่งองค์กรต่าง ๆ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) รัฐบาล และศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนั้น จะต้องมีความเป็นอิสระต่างหากจากกัน และไม่ควรให้องค์กรดังกล่าวใช้อำนาจเกินกว่าหนึ่งอำนาจ เพราะจะเป็นทางชักจูงให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดและกำหนดให้อำนาจแต่ละอำนาจหยุดยั้งหรือถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพราะถ้าไม่มีการแบ่งแยกอำนาจแล้ว การใช้กฎหมายก็จะเลื่อนลอยกันตามอำเภอใจ บังคับผันแปรไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจบริหาร ซึ่งถ้าใครไม่กระทำตามความประสงค์นั้นผู้มีอำนาจก็จะลงโทษตามความพอใจของตน กฎหมายก็จะเลื่อนลอย บ้านเมืองก็จะไม่มีความสงบสุข

ดังนั้น การที่มาตรา 44 แห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 บัญญัติให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้งหรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุดนั้น จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจของมองเตสกิเออร์อย่างชัดเจน

 

ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญและหลักความสุจริต มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญและหลักความสุจริต มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชน ดังนี้คือ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายหลักที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย และนอกจากนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดขอบเขตเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของประชาชนที่พึงต้องปฏิบัติว่ามีอย่างไรบ้าง

อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจในการปกครองประเทศนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนี้คือ “รัฐสภา” และโดยทั่วไปแล้วรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน (เว้นแต่รัฐธรรมนูญบางฉบับอาจจะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง) โดยจำนวนสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีจำนวนเท่าใด และมีวิธิการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

และในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชนนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

  1. อำนาจบริหาร หมายถึง อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

ในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อำนาจในทางปกครองเพื่อการออกกฎ ออกคำสั่ง รวมทั้งการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอำนาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้

รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น โดยหลักทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน… คน (ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ

  1. อำนาจตุลาการ หมายถึง อำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจนี้คือ “ศาล” ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยรัฐสภา อำนาจบริหารโดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการโดยศาลนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวจึงต้องเป็นการใช้อำนาจที่เป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย และนอกจากนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวก็จะต้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักประโยชน์สาธารณะ และหลักความสุจริต เป็นต้น

ซึ่ง “หลักความสุจริต” นั้น หมายความว่า การได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจต่าง ๆดังกลาวนั้น จะต้องเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม เช่น การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะต้องได้มาโดยสุจริต และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจนั้นจะต้องเป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม โดยเสมอภาคกัน และโดยไม่มีอคติ เป็นต้น

 

ข้อ 3. ให้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างแนวความคิดหรือทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนกับอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ และแต่ละแนวความคิดหรือทฤษฎีลังกล่าวส่งผลสำคัญต่อการกำหนดสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชนในการเลือกตั้งอย่างไร เพราะเหตุใด อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ธงคำตอบ

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นั้นมาจากแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เป็นทฤษฎีที่เสนอโดย รุสโซ (Rousseau)ในวรรณกรรมชื่อ “สัญญาประชาคม”(Social Contract) โดยรุสโซ เชื่อว่า “สังคมเกิดขึ้นเพราะราษฎรในสังคมสมัครใจสละสภาพธรรมชาติอันเสรีของตนเพื่อมาทำสัญญาประชาคมขึ้น สังคมจึงเกิดจากการสัญญามิใช่การข่มขู่บังคับ ดังนั้นราษฎรทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของสังคมหรืออำนาจอธิปไตยมิใช่พระเจ้าหรือกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของดังที่อธิบายกันมาตลอด” ตัวอย่างที่รุสโซ อ้างก็คือ“สังคมหนึ่งมีสมาชิก 10,000 คน สมาชิกแต่ละคนย่อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนละ 1/10,000 ดังนั้น ราษฎรแต่ละคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตน โดยไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งหมดได้

จากทฤษฎีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ

  1. ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครอง เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งส่วนแห่งอำนาจตนอันนำมาสู่หลักการคือ “การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง” เพราะถือว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน มิใช่หน้าที่จึงไม่อาจมีการจำกัดสิทธิได้ ดังที่รุสโซ กล่าวว่า “สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรที่จะมาพรากจากประชาชนได้”
  2. การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินั้น หมายถึง แนวคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมีอยู่ในตัวของมนุษย์ และมนุษย์ได้ทำสัญญาหรือก่อพันธะผูกพันกันโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะโอนอำนาจอธิปไตยที่ตนมีอยู่ให้แก่สังคม และสังคมที่ว่านี้ก็คือชาตินั่นเอง

จากทฤษฎีดังกล่าวก่อให้เกิดผลดามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ

  1. ชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ปวงชนหรือราษฎร อำนาจเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่ราษฎรในฐานะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่เลือกผู้แทนของชาติ ดังนั้นการเลือกตั้งของราษฎรจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิใช่การใช้สิทธิ ชาติจึงมีสิทธิที่จะต้องมอบอำนาจเลือกตั้งให้ราษฎรที่เห็นว่าเหมาะสมได้ การเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบทั่วถึง มีการจำกัดสิทธิการเลือกตั้งได้
  2. คนแต่ละคนไม่ได้เป็นผู้แทนของราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งที่เลือกตนเท่านั้น ผู้แทนทั้งหมดถือเป็นผู้แทนของขาติและไม่อยู่กายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง

จากแนวความคิดของทฤษฎีทั้งสองดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าได้ส่งผลสำคัญต่อการกำหนดสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชนในการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ

ตามทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้น ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครอง การเลือกตั้งเป็นสิทธิของราษฎรทุกคนมิใช่หน้าที่ และราษฎรแต่ละคนจะใช้สิทธินั้นหรือไม่ก็ได้ จะมีการจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่ได้

แต่ตามทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินั้น ถือว่าชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อำนาจการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่ราษฎร และราษฎรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ การเลือกตั้งจึงมิใช่สิทธิแต่เป็นหน้าที่ ดังนั้น จึงอาจมีการจำกัดสิทธิการเลือกตั้งได้

 

ข้อ 4. นายเอกยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินว่าตนถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจากคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลซึ่งตนได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอน “ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องการงดเว้นไม่เก็บภาษีสุรากลั่นชนิดเอทานอลฯ” แต่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพราะเห็นว่าตนไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย นอกจากนี้ พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุราหรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี…” ก็เป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะละเมิดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของตนตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557ที่ให้การคุ้มครองไว้ จึงขอให้รับเรื่องไว้พิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อร้องเรียนในแต่ละกรณีของนายเอกสามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

และผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 43 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพการคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดีภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

มาตรา 4 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

มาตรา 26 “ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไห้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมและกฎหมาย”

มาตรา 45 “ภายใต้บังคับมาตรา 5 และมาตรา 44 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีอำนาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะเมื่อมีกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ตนถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจากคำสั่งของศาลปกครอง และบทบัญญัติของ พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 เป็นกฎหมายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของตน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องไว้พิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น ข้อร้องเรียนแต่ละกรณีของนายเอกสามารถรับฟังได้หรือไม่ และผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรณีคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครอง

การที่นายเอกได้ยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินว่าตนถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจากคำสังไม่รับฟ้องของศาลซึ่งตนได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอน “ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องการงดเว้นไม่เก็บภาษีสุรากลั่นชนิดเอทานอลฯ” แต่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าตนไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรีอเสียหายนั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการสั่งคำฟ้องของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 26 แล้วจะเห็นได้ว่าในการพิจารณาอรรถคดีนั้นตุลาการศาลปกครอง มีอิสระในการใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยมีระบบตรวจสอบตามลำดับชั้นศาลตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนายเอกไว้พิจารณานั้น เป็นอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงโดยอิสระ คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองในกรณีนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของนายเอกตามรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 26 ตามที่นายเอกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 ปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ. สุราฯ มาตรา 5

การที่นายเอกได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุราหรือมีภาชนะ หรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี…” เป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะละเมิดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของตนตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ให้การคุ้มครองไว้นั้น จะเห็นได้ว่า ตาม พ.ร.บ. สุราฯ มาตรา 5 ดังกล่าว ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

และไม่ได้ละเมิดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของนายเอกตามที่เคยได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 43 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกอบมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ให้การคุ้มครองไว้

ดังนั้น พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 จึงไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่นายเอกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา

วินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 45 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะเมื่อมีกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีแรก การที่นายเอกโต้แย้งดุลพินิจในการมีคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองนั้น คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองดังกล่าวมิได้มีสถานะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ หรือมีสถานะเทียบเท่า กรณีนี้จึงมิใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น กรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

กรณีที่ 2 เมื่อ พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุราหรือมีภาชนะ หรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี…” นั้น มิได้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเช่นเดียวกัน

สรุป

ข้อร้องเรียนทั้ง 2 กรณีของนายเอกรับฟังไม่ได้ และผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องส่งเรื่องดังกล่าวทั้ง 2 กรณีไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

Advertisement