การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายรุจน์ได้นำเงินไปซุกซ่อนไว้ที่หัวเตียงเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาท  ต่อมาพี่ชายของนายรุจน์ได้นำเตียงนั้นไปบริจาคให้พระพยอมที่วัด  โดยไม่ทราบว่าน้องชายได้นำเงินซ่อนไว้  ต่อมาเด็กหญิงแก้มอายุ  3  ขวบ  ได้มารื้อเตียงเล่นและพบเงินดังกล่าว  คิดว่าเป็นธนบัตรปลอมเพราะเก่ามาก  จึงนำเงินนั้นไปเผาไฟเล่นกับเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายรุจน์  จะเรียกให้นายต้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแก้มให้ร่วมกันรับผิดต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

การกระทำของเด็กหญิงแก้มซึ่งมีอายุเพียง  3  ขวบ  แม้จะรู้สำนึกในการกระทำแล้วก็ตาม  แต่เป็นการกระทำที่ไม่ได้จงใจ  และไม่ได้ประมาทเลินเล่อด้วย  เพราะเด็กอายุ  3  ขวบย่อมมีความระมัดระวังได้ในภาวะและวิสัยของเด็ก  อีกทั้งเมื่อได้นำไปเล่นกับเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน  ทุกคนก็ไม่ได้คิดว่าเป็นธนบัตรจริง  ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีการทักท้วงในกลุ่มเด็กๆ  แต่อย่างใด  ดังนั้น  การกระทำของเด็กหญิงแก้มจึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา  420

เมื่อเด็กหญิงแก้มไม่มีการกระทำอันเป็นละเมิด  นายต้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งรับดูแลเด็กหญิงแก้มผู้ไร้ความสามารถอยู่นั้น  ก็ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ไร้ความสามารถที่อยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา  430

อย่างไรก็ดี  นายต้นต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อนายรุจน์โดยตรง  ตามมาตรา  420  เพราะถือว่านายต้นงดเว้นกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ  ในหน้าที่ที่ตนจะต้องกระทำการดูแลเด็กหญิงแก้มซึ่งเป็นบุตรที่อยู่ในความดูแลของตน  เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้น

สรุป  นายรุจน์จะเรียกให้นายต้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแก้มร่วมรับผิดตามมาตรา  430  ไม่ได้  แต่เรียกให้นายต้นซึ่งงดเว้นกระทำโดยประมาทเลินเล่อรับผิดได้โดยตรงตามมาตรา  420

 

 

ข้อ  2  นายเก่งเป็นนักเตะฟุตบอล  วันเกิดเหตุ  นายเก่งเดินสวนทางกับนายสมเกียรติ  จึงได้ท้าทายให้มาเตะฟุตบอลกัน  แต่นายสมเกียรติไม่สนใจ  ทำให้นายเก่งโกรธ  จึงตั้งใจแกล้งด้วยการไปกระซิบต่อนายชัยซึ่งเป็นพ่อของนายสมเกียรติ  กล่าวหาว่า  นายสมเกียรติเป็นกิ๊กกับผู้ชาย  โดยอ้างว่า  นายชัยเป็นพ่อต้องมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องเช่นกัน  ตนจึงได้นำความมาบอก

อย่างไรก็ดี  นายชัยไม่ได้เชื่อถ้อยคำที่นายเก่งพูดแต่อย่างไร  เพราะรู้จักบุตรชายของตนเป็นอย่างดีว่าไม่ได้เป็นเช่นที่นายเก่งพูดและคิดว่านายเก่งเป็นคนขี้โกหก

วันรุ่งขึ้น  นายชัยได้พูดคุยกับนายเฉลิมซึ่งเป็นเพื่อน  เล่าว่านายเก่งได้กล่าวข้อความเช่นว่านั้นซึ่งไม่จริงเป็นเรื่องเหลวไหล  แต่นายเฉลิมกลับเชื่อตามที่นายเก่งพูดและได้บอกต่อไปยังนายชวน

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายสมเกียรติจะเรียกร้องให้นายเก่งและนายเฉลิมรับผิดต่อตนในคดีหมิ่นประมาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดของการกระทำที่เป็นละเมิดโดยการหมิ่นประมาททางแพ่งตามมาตรา  423  ประกอบด้วย

1       ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย

2       ข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญ

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

การกระทำของนายเก่งที่ได้กระซิบต่อนายชัย  ถือเป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  ทำให้แพร่หลายคือล่วงรู้ถึงบุคคลที่สามคือ  นายชัย  เพราะนายชัยไม่ใช่คู่กรณีที่เป็นผู้ใส่ความและไม่ใช่ผู้ถูกใส่ความ  แม้ว่านายชัยจะเป็นบิดาของนายสมเกียรติ  ก็เป็นบุคคลที่สาม  และแม้ว่านายชัยจะไม่เชื่อข้อความที่นายเก่งกล่าวก็ตาม  เมื่อข้อความที่นายเก่งกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายสมเกียรติ  นายเก่งต้องรับผิดต่อนายสมเกียรติตามมาตรา  423  โดยนายเก่งจะอ้างว่าได้กล่าวต่อนายชัยเพราะนายชัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในข่าวนั้นเพื่อแก้ตัวให้พ้นผิดตามมาตรา  423  วรรคสอง  ก็ไม่ได้  เพราะเหตุว่าข้อยกเว้นนี้จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กล่าวไม่รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเก่งรู้ว่าข้อความไม่จริงแต่ตั้งใจใส่ความนายสมเกียรติ

ส่วนนายเฉลิมก็ต้องรับผิดต่อนายสมเกียรติเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นการกล่าวต่อบุคคลที่สาม  คือ  นายชวน  แม้ว่าจะไม่ได้คิดข้อความขึ้นมาเอง  แต่กล่าวข้อความตามที่นายเก่งพูดและตามที่ได้ยินมาโดยไม่รู้ว่าเป็นความไม่จริงก็ตาม  เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายสมเกียรติ  นายเฉลิมต้องรับผิดต่อนายสมเกียรติตามาตรา  423

สรุป  นายสมเกียรติสามารถเรียกร้องให้นายเก่งและนายเฉลิมรับผิดต่อตนในคดีหมิ่นประมาททางแพ่งได้

 

 

ข้อ  3  นายสมหมายขว้างก้อนหินใส่กระจกรถของนายโชคร้าย  ทำให้นายโชคร้ายตาบอด  นายวัชระซึ่งเป็นน้องชายของนายโชคร้าย  รู้สึกโกรธแค้นแทนนายโชคร้ายที่ถูกนายสมหมายทำละเมิด  จึงขับรถพุ่งไปชนรถของนายสมหมาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก.      หากว่าทำให้ภริยาของนายสมหมายซึ่งเป็นนักร้องได้รับบาดเจ็บสาหัสเลือดคั่งในสมองกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราตลอดชีวิต  ถามว่านายสมหมายจะเรียกร้องให้นายวัชระรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ของภริยาจากการร้องเพลงคืนละ  5,000 บาท  ได้หรือไม่

ข.      หากว่าทำให้เด็กหญิงนารีนุชบุตรบุญธรรมของนายสมหมายถึงแก่ความตาย  และนายสมหมายได้จัดการทำศพเด็กหญิงนารีนุชเรียบร้อยแล้ว  นายสมหมายจะมาเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากนายวัชระได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

ประเด็นตามข้อ  ก.  นายวัชระได้กระทำละเมิดอันเป็นความผิดตามมาตรา  420  โดยทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายภริยานายสมหมาย ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  444  วรรคแรก  คือค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไป  ค่าเสียความสามารถประกอบการงาน  และยังต้องรับผิดในค่าเสียหายอันไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา  446  วรรคแรกอีกด้วย  อย่างไรก็ดี  นายสมหมายจะเรียกร้องให้นายวัชระรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จากการร้องเพลงคืนละ  5,000 บาทไม่ได้  เพราะนายสมหมายไม่ใช่ผู้เสียหาย  ผู้ที่จะมีสิทธิเรียกร้องได้คือ  ภริยาของนายสมหมายซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น

ประเด็นตามข้อ  ข.  การกระทำของนายวัชระที่ทำให้เด็กหญิงนารีนุชบุตรบุญธรรมของนายสมหมายถึงแก่ความตายนั้น  เป็นการกระทำละเมิดให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิตตามมาตรา  420  ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  443  คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ  ค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย  รวมทั้งค่าขาดไร้อุปการะ  อย่างไรก็ดี  แม้ว่านายสมหมายได้จัดการทำศพให้แก่เด็กหญิงนารีนุช  นายสมหมายก็จะเรียกค่าปลงศพจากนายวัชระไม่ได้  เพราะผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิในการเป็นทายาทของบุตรบุญธรรมตามกฎหมายมรดก  ดังนั้น  จึงเรียกไม่ได้  แต่นายสมหมายจะเรียกร้องให้นายวัชระรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะได้ เพราะบุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายครอบครัว  มาตรา  1598/28

สรุป 

ก.      นายสมหมายจะเรียกค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ของภริยาจากการร้องเพลงไม่ได้

ข.      นายสมหมายเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้  แต่เรียกค่าปลงศพไม่ได้ 

 

 

ข้อ  4  กิติพงษ์เป็นลูกจ้างของกนกพร  วันเกิดเหตุ  ขณะที่กิติพงษ์กำลังฝึกซ้อมมวยอยู่ที่สนามหน้าบ้านได้เห็นเมธาพรกำลังด่าเพ็ญพรอย่างหยาบคายว่า  นังคนชั้นต่ำ  กระจอก  พร้อมกับยกเท้าขึ้นสูงชี้หน้าเพ็ญพร  ในขณะนั้น  กิติพงษ์อยู่ในเหตุการณ์แต่กลับนิ่งเฉยเสียมิได้เข้าช่วยเหลือแต่อย่างใด  เพราะไม่ชอบหน้าเพ็ญพรอยู่แล้ว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าเพ็ญพรจะเรียกร้องให้เมธาพร  กิติพงษ์  และกนกพร  ร่วมกันรับผิดฐานละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้วินิจฉัยพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผล

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

วินิจฉัย

เมธาพรด่าเพ็ญพรไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยการหมิ่นประมาทตามมาตรา  423  เพราะไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องที่จะทำให้เพ็ญพรเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด  อย่างไรก็ดี  เพ็ญพรได้รับความเสียหายต่อสิทธิที่จะไม่ให้มีใครมาว่ากล่าว  ซึ่งเป็นความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเมธาพร  เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  420 

กิติพงษ์ไม่มีความผิดฐานกระทำละเมิดต่อเพ็ญพร  เพราะเหตุว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่กระทำละเมิดได้นั้น  ต้องมี  การกระทำ  โดยรู้สำนึกและได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ แต่การงดเว้นที่จะถือเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้นต้องเป็นการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่ตนจักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลมิให้เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  59  วรรคท้าย

ดังนั้น  การที่เมธาพรกำลังด่าเพ็ญพร  แต่กิติพงษ์กลับนิ่งเฉยเสียมิได้เข้าช่วยเหลือแต่อย่างใดนั้น  ย่อมไม่ถือว่ากิติพงษ์  มีการกระทำ  แต่อย่างใด  เพราะไม่มีหน้าที่ต่อเพ็ญพรที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายเกิดขึ้นแก่เพ็ญพร  ด้วยเหตุนี้  กิติพงษ์จึงไม่มีความผิดฐานกระทำละเมิดตามมาตรา  420

เมื่อกิติพงษ์ไม่ได้กระทำละเมิด  กนกพรซึ่งเป็นนายจ้างของกิติพงษ์จึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  เพราะความรับผิดของนายจ้างตามมาตรา  425  นั้น  จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้มีการกระทำละเมิดต่อผู้อื่นและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างเท่านั้น

สรุป  เพ็ญพรสามารถเรียกร้องให้เมธาพรรับผิดฐานละเมิดได้  แต่จะเรียกให้กิติพงษ์และกนกพรรับผิดไม่ได้

Advertisement