การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แพรวาโกรธปัญญา  จึงได้นำรูปภาพของปัญญามาตัดต่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์  โดยตั้งใจว่าจะนำไปเผยแพร่ว่าปัญญามีเพศสัมพันธ์กับบัวงาม  หลังจากจัดภาพเสร็จแล้ว  แพรวาได้เดินไปเข้าห้องน้ำน้ำหวานได้แอบเข้ามาในห้องของแพรวา  และได้เห็นภาพดังกล่าว

จึงได้ส่งภาพนั้นไปให้นุชดูทาง  E-mail  แล้วก็ออกจากห้องไป  เมื่อแพรวาออกมาจากห้องน้ำ เกิดเปลี่ยนใจไม่ส่งภาพนั้น  จึงทำการลบภาพนั้นออกไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์  แล้วก็เข้านอน

หากนุชซึ่งได้รับภาพดังกล่าวจากการส่งทาง  E-mail  ของน้ำหวาน  นุชจึงส่งภาพต่อไปยังปลายรุ้ง  ปลายรุ้งซึ่งเป็นเพื่อนของบัวงามจึงส่งภาพเช่นว่านั้นไปให้บัวงาม  ทำให้ปัญญากับบัวงามโกรธมาก  ดังนี้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  บัวงามและปัญญาจะฟ้องร้องให้ใครรับผิดได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี  หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

บัวงามและปัญญาได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง  จากการเผยแพร่ภาพทาง  E-mail  ซึ่งภาพนั้นแพรวาได้จัดทำขึ้นแต่ไม่สามารถฟ้องแพรวาให้รับผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่งได้  เพราะขาดหลักเกณฑ์ตามมาตรา  423  ที่ว่าต้องเป็นการกระทำของแพรวาเองที่ทำให้แพร่หลายหรือล่วงรู้ถึงบุคคลที่สาม  และถึงแม้ว่าภาพดังกล่าวจะล่วงรู้ไปยังน้ำหวาน  แต่น้ำหวานก็ไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่สาม  เพราะเป็นผู้แอบรู้เห็นโดยละเมิด

อย่างไรก็ดี  บัวงามและปัญญาสามารถเรียกร้องให้น้ำหวานรับผิดได้ตามมาตรา  423  ถึงแม้ว่าน้ำหวานจะไม่ได้เป็นผู้ตัดต่อภาพนั้นเอง  แต่น้ำหวานก็เป็นผู้เผยแพร่ภาพนั้นไปยังบุคคลที่สามคือ  นุช  และเมื่อภาพนั้นเป็นเรื่องไม่จริง  และทำให้บัวงามและปัญญาเสียหาย  น้ำหวานจึงต้องรับผิด

เมื่อนุชได้รับภาพดังกล่าวจากการส่ง  E-mail  ของน้ำหวาน  จึงส่งภาพต่อไปยังปลายรุ้ง  ดังนั้น  นุชจึงต้องรับผิดตามมาตรา  423  ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับน้ำหวาน

อย่างไรก็ดี  แม้ว่าปลายรุ้งจะส่งภาพดังกล่าวไปให้บัวงาม  ปลายรุ้งก็ไม่ต้องรับผิด  เพราะไม่ถือว่าเป็นการเผยแพร่ไปยังบุคคลที่สาม  เนื่องจากว่าบัวงามไม่ใช่บุคคลที่สาม  แต่เป็นคู่กรณีในความรับผิดฐานละเมิดด้วยการหมิ่นประมาทตามมาตรา  423  (ข้อเท็จจริงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการอ้างการมีส่วนได้เสียในข่าวสารตามมาตรา  423  วรรคสอง  เพราะไม่ใช่ข้อแก้ตัวให้พ้นผิด  แต่เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรับผิดอยู่แล้ว  เพราะขาดองค์ประกอบของคำว่าแพร่หลาย)

สรุป  บัวงามและปัญญาสามารถเรียกให้น้ำหวานและนุชรับผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  423  ได้

 

 

ข้อ  2  หนุ่ยนายจ้างของอ้วน  สั่งให้อ้วนสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อย  โดยที่หนุ่ยรับจ้างสร้างจากสมชายทั้งที่รู้อยู่ว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ได้เป็นของสมชาย  แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้เพราะอยากได้ค่าจ้างส่วนสมชายก็คิดว่าหนุ่ยไม่รู้ว่าที่ดินไม่ใช่ของตน  แต่อ้วนไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของใคร  เพียงทำตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น

วันเกิดเหตุ  ระหว่างที่อ้วนกำลังปลูกศาลาอยู่นั้น  อ้วนได้ทำไม้แผ่นพลัดหลุดจากมือหล่นไปที่ต้นมะพร้าวของจ้อย  ทำให้ลูกมะพร้าวหล่นลงมาใส่รถยนต์ของจ้อยที่จอดอยู่ใต้ต้นไม้  พังเสียหายและบุตรบุญธรรมอายุ  2  ขวบของจ้อย  ซึ่งนั่งอยู่ในรถคันนั้นถึงแก่ความตาย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ก้อยและจ้อยจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำนวนพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

ประเด็นแรก  อ้วนสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อย  อ้วนจะต้องรับผิดต่อก้อยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  อ้วนทำตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่รู้ว่าที่ดินเป็นของใคร  ประเด็นสำคัญคือไม่ปรากฏว่าอ้วนจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ก้อยได้รับความเสียหาย  จึงขาดหลักเกณฑ์ในมาตรา  420  ที่ว่า  ผู้กระทำละเมิดให้เกิดความเสียหายนั้นต้องได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อด้วย  อ้วนจึงไม่ต้องรับผิดต่อก้อยแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง  การที่อ้วนสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อยนั้น  เป็นการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย  หนุ่ยนายจ้างของอ้วนจะต้องรับผิดต่อก้อยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  หนุ่ยรู้ความจริงว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ได้เป็นของสมชาย  แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้  เพราะอยากได้ค่าจ้าง  ดังนั้นจึงถือได้ว่าหนุ่ยได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อก้อยตามมาตรา  420  โดยใช้อ้วนเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด  (ไม่ใช่กรณีตามมาตรา  425  เพราะเมื่ออ้วนไม่ได้กระทำละเมิดต่อก้อยแล้ว  นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดกับลูกจ้างแต่อย่างใด)

ประเด็นที่สาม  สมชายว่าจ้างให้หนุ่ยสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อย  สมชายต้องรับผิดต่อก้อยหรือไม่  และต้องร่วมรับผิดกับหนุ่ยหรือไม่อย่างไร

ข้อเท็จจริงมีว่า  สมชายว่าจ้างหนุ่ยให้สร้างศาลาจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ  สมชายเป็นผู้ว่าจ้างและหนุ่ยเป็นผู้รับจ้าง  ซึ่งโดยหลักแล้วมาตรา  428  กำหนดว่า  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในความเสียหายอันผู้รับจ้างก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง  อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าผู้รับจ้างต้องรับผิดหากว่าเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ  ดังนั้น  เมื่อการงานที่สั่งให้หนุ่ยทำเป็นการทำผิดเพราะจ้างให้สร้างศาลาบนที่ดินของผู้อื่น  สมชายผู้ว่าจ้างจึงต้องรับผิดต่อก้อยตามมาตรา  428

อย่างไรก็ดี  ความรับผิดของสมชายกับหนุ่ยไม่ใช่เป็นเรื่องความรับผิดร่วมกัน  เพราะมาตรา  428  ไม่ได้กำหนดให้รับผิดร่วมกัน  และไม่ใช่เป็นเรื่องการทำละเมิดร่วมกันตามมาตรา  432  เนื่องจากไม่ได้ร่วมใจร่วมกายกันทำละเมิด  เพราะสมชายเองก็คิดว่าหนุ่ยไม่รู้ว่าที่ดินไม่ใช่ของตน  (แต่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้  เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกชำระกันได้ตามมาตรา  301 ในวงเล็บถ้าไม่ตอบก็ไม่หักคะแนน)

ประเด็นที่สี่  อ้วนต้องรับผิดต่อจ้อยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  อ้วนทำไม้แผ่นพลัดหลุดจากมือหล่นไปที่ต้นมะพร้าวของจ้อย  และทำให้รถของจ้อยเสียหาย  และบุตรบุญธรรมอายุ  2 ขวบของจ้อยถึงแก่ความตาย  จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ  ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของจ้อย  และต่อชีวิตของบุตรบุญธรรมของจ้อย  อ้วนจึงต้องรับผิดต่อจ้อยตามมาตรา  420

ประเด็นที่ห้า  หนุ่ยนายจ้างของอ้วนจะต้องร่วมรับผิดกับอ้วนต่อก้อยในฐานะนายจ้างหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า  อ้วนลูกจ้างเป็นผู้กระทำละเมิด  และได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  หนุ่ยจึงต้องร่วมรับผิดกับอ้วนด้วยตามมาตรา  425

ประเด็นที่หก  สมชายต้องร่วมรับผิดกับอ้วนด้วยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  สมชายเป็นผู้ว่าจ้างทำของ  หนุ่ยเป็นผู้รับจ้างทำของ  เมื่ออ้วนเป็นลูกจ้างของหนุ่ยเท่านั้น  อ้วนจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อสมชายแต่อย่างใด  แม้อ้วนจะทำละเมิดอันเนื่องมาจากการทำงานเพื่อประโยชน์ของสมชายก็ตาม

สรุป  ก้อยสามารถฟ้องหนุ่ยให้รับผิดได้ตามมาตรา  420  และฟ้องสมชายให้รับผิดได้ตามมาตรา  428  แต่ไม่สามารถฟ้องอ้วนได้  ส่วนจ้อยสามารถฟ้องอ้วนให้รับผิดได้ตามมาตรา  420  และฟ้องหนุ่ยให้ร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามมาตรา  425  แต่จะฟ้องสมชายให้ร่วมรับผิดไม่ได้

 

 

ข้อ  3  จากข้อเท็จจริงในข้อ  2  กรณีที่บุตรบุญธรรมของจ้อยถึงแก่ความตาย  จ้อยจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพได้หรือไม่  อย่างไร  และในระหว่างจัดงานศพต้องขาดรายได้และเสียค่าจ้างคนเฝ้าบ้านของจ้อย  จ้อยจะเรียกค่าขาดรายได้และค่าจ้างนั้นได้หรือไม่  อย่างไร

กรณีรถยนต์เสียหายจนใช้การไม่ได้  จ้อยจะเรียกค่าเสียหายต่อทรัพย์ได้หรือไม่  หากว่ารถคันที่เสียหายไปนั้นเป็นรถที่จอดทิ้งไว้เฉยๆ  นานแล้ว  เพราะมีรถใช้หลายคัน  และจ้อยมีรถคันอื่นใช้อยู่แล้ว

ธงคำตอบ

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

จ้อยจะเรียกค่าปลงศพไม่ได้  เพราะตามกฎหมายแล้ว  ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพได้แก่ทายาทของผู้ตายตามกฎหมายมรดกเท่านั้น  เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ถือว่าเป็นทายาทของบุตรบุญธรรม  (มาตรา1598/29)  จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพตามมาตรา  443  วรรคแรก  แต่จ้อยมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้  ตามมาตรา  443  วรรคท้ายประกอบมาตรา  1598/28  วรรคสอง  (ฎ. 713/2517)  ส่วนค่าขาดรายได้และค่าจ้างคนเฝ้าบ้านของโจทก์ในระหว่างจัดงานศพเรียกไม่ได้  เพราะไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ  ตามมาตรา  443  วรรคแรก  (ฎ.  1437/2526)

กรณีรถยนต์เสียหายจนใช้การไม่ได้  จ้อยจะเรียกค่าเสียหายในความเสียหายต่อทรัพย์ได้  แม้ว่ารถคันที่เสียหายไปนั้นเป็นรถที่จอดทิ้งไว้เฉยๆนานแล้ว  เพราะมีรถใช้หลายคัน  และมีรถใช้หลายคัน  และจ้อยมีรถคันอื่นใช้อยู่แล้วก็ไม่ตัดสิทธิในการเรียกค่าเสียหาย  (ฎ. 945/2533)

สรุป  จ้อยสามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายต่อรถยนต์ได้  แต่จะเรียกค่าปลงศพ  ค่าขาดรายได้  และค่าจ้างคนเฝ้าบ้านไม่ได้

 

 

ข้อ  4  แดงขับรถยนต์ชนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งดำขโมยมาจากฟ้า  และรถกระเด็นไปชนกำแพงบ้านของขาวทำให้รถจักรยานยนต์เสียหาย  แดงจึงได้เสนอจ่ายค่าซ่อมรถให้แก่ดำ  เป็นเงิน  1,000  บาท  และเสนอจ่ายค่าซ่อมกำแพงให้แก่แจ๋วซึ่งเดินออกมาจากบ้านของขาว  เพราะแดงเข้าใจโดยสุจริตว่ารถนั้นเป็นของฟ้าและกำแพงบ้านเป็นของแจ๋ว  ดังนี้หากฟ้าและขาวจะเรียกให้แดงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอีกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี  หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป  หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้นแม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน  หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

วินิจฉัย

ข้อเท็จจริงตามปัญหา  เป็นเรื่องการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง  ซึ่งมาตรา  441  กำหนดให้หนี้ระงับได้แม้ว่าจะเป็นการใช้ให้ผิดตัว  แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้คือ

–                    ทำให้สังหาริมทรัพย์เสียหาย

–                    สิทธิของบุคคลภายนอกไม่เป็นที่รู้อยู่แก่ตน  (ไม่รู้ถึงสิทธิของบุคคลภายนอก)

–                    ใช้หนี้ให้แก่ผู้ครองทรัพย์ขณะนั้น

–                    การใช้หนี้ได้ทำโดยสุจริต  และไม่ได้เป็นไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ดังนั้น  ฟ้าจะเรียกให้แดงรับผิดอีกได้  เพราะหนี้ไม่ระงับ  เนื่องจากสิทธิของบุคคลภายนอกเป็นที่รู้อยู่แก่แดงว่าดำไม่ใช่เจ้าของรถ  และขาวก็สามารถเรียกให้แดงรับผิดได้เช่นกันเพราะกำแพงบ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา  441  หนี้ยังไม่ระงับ

สรุป  ขาวและฟ้าสามารถเรียกให้แดงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอีกได้

Advertisement