การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ไก่แก้วอายุ  12  ปี  เป็นบุตรของแก้วใจ  วันเกิดเหตุ  ไก่แก้วไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งและเกิดความไม่พอใจไข่ขาว  จึงเดินไปตบหน้าไข่ขาวซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  ไข่ขาวหลบ  จึงเสียหลักไปชนกุ้งแก้ว  ทำให้กุ้งแก้วตกลงไปในเรือของปูนิ่ม  เรือของปูนิ่มจึงคว่ำ  และปูนิ่มจมน้ำตาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครบ้างต้องรับผิดในความตายของปูนิ่ม

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

วินิจฉัย

ไก่แก้วมีความผิดฐานทำละเมิดต่อไข่ขาว  เพราะเหตุว่าเข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่กระทำละเมิดนั้น

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึกและได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย (ชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิ)

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

ดังนั้น  การที่ไข่ขาวหลบจากการตบหน้าของไก่แก้ว  และทำให้เกิดผลตามมาคือปูนิ่มถึงแก่ความตายนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการก่อเหตุแรกของไก่แก้วแล้ว  ถือว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ (ถ้าอ้างเรื่องนิรโทษกรรมถูกหักคะแนน  เพราะไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรม)

เมื่อไก่แก้วได้กระทำละเมิดต่อปูนิ่ม  แก้วใจซึ่งเป็นมารดาของไก่แก้วบุตรผู้เยาว์ย่อมต้องร่วมรับผิดกับไก่แก้วด้วย  ตามมาตรา  429  เพราะเหตุว่าบิดามารดามีหน้าที่ควบคุมเลี้ยงดูผู้เยาว์  อีกทั้งกฎหมายยังให้อำนาจบิดามารดาในการใช้อำนาจปกครอง  ซึ่งทำให้ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความเชื่อฟังคำสั่งด้วย  อนึ่งคำว่า  บิดามารดา  ตามมาตรา  429  นี้หมายถึง  บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  และตามกฎหมาย  มารดาย่อมเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ  ดังนั้นเมื่อไก่แก้วบุตรผู้เยาว์ทำละเมิดแล้ว  แก้วใจมารดาจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย

สรุป  ไก่แก้วต้องรับผิดฐานละเมิดต่อปูนิ่ม  ตามมาตรา  420  และแก้วใจต้องรับผิดร่วมกับไก่แก้วด้วย  ตามมาตรา  429

 

 

ข้อ  2  นายชัยเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์  วันเกิดเหตุนายชัยสั่งให้นายชิดน้องชายของตนขับรถจักรยานยนต์ไปส่งสินค้า  ระหว่างทางกลับร้านค้าของนายชัย  นายชิดขับรถด้วยความเร็วสูงจึงชนนายชอบขาหัก  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายชอบจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้บ้าง

(ข)  เด็กหญิงตุ๊กตา  ซึ่งเป็นน้องสาวคนเดียวของนายชอบซึ่งเคยได้รับเงินอุปการะเลี้ยงดูจากนายชอบทุกๆเดือนๆละ  2,000  บาท  จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากใครได้บ้างหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

(ก)  นายชิดขับรถชนนายชอบขาหัก  เป็นการกระทำละเมิดต่อนายชอบตามมาตรา  420  ถือว่าเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของตนเอง  (ไม่ใช่กรณีที่เป็นความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามมาตรา  437  ถ้าตอบมาให้หักคะแนน)

เมื่อนายชิดทำละเมิดต่อผู้อื่นในขอบอำนาจของตัวแทน  กล่าวคือ  ได้กระทำละเมิดโดยที่ไปทำการงานแทนผู้อื่นคือนายชัย  นายชัยในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนด้วยตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425  ดังนั้นนายชอบจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายชัยและนายชิดร่วมกันรับผิดได้

(ข)  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น  ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  คนอื่นไม่มีสิทธิ  ยกเว้นกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปแล้วตามมาตรา  443  หรือกรณีที่เป็นการเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ดังนั้นเด็กหญิงตุ๊กตาจึงไม่มีสิทธิแต่อย่างใด นอกจากนั้นการเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิตามมาตรา  443  ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เรียกได้ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเท่านั้น  เมื่อนายชอบยังมีชีวิตอยู่แม้เด็กหญิงตุ๊กตาจะขาดการอุปการะเลี้ยงดูตามความเป็นจริง  ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องแต่ประการใด  อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเด็กหญิงตุ๊กตาเป็นเพียงน้องสาวของนายชอบซึ่งกฎหมายครอบครัวมิได้กำหนดหน้าที่ให้พี่ต้องอุปการะเลี้ยงดูน้องแต่อย่างใด  ดังนั้นถึงแม้ว่านายชอบจะถึงแก่ความตาย  เด็กหญิงตุ๊กตาก็เรียกไม่ได้อยู่ดี

สรุป

(ก)  นายชอบสามารถเรียกให้นายชิดรับผิดฐานละเมิด  ตามมาตรา  420  และสามารถเรียกให้นายชัยร่วมรับผิดกับนายชิดได้  ตามมาตรา 427  ประกอบมาตรา  425

(ข)  เด็กหญิงตุ๊กตาไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

 

 

ข้อ  3  นายสิงห์ไม่พอใจนายสาด้วยเหตุหลายประการ  นายสิงห์จึงเอารถยนต์ของนายแสงขับไล่ชนนายสา  นายสาวิ่งหนี  นายสิงห์ขับรถยนต์ไล่ตาม  นายสาเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน  จึงใช้ปืนยิงยางรถยนต์ที่นายสิงห์ขับอยู่เป็นเหตุให้ยางรถยนต์เสียหายต้องเสียค่าซ่อมไปเป็นจำนวน  1,000  บาท  ดังนี้  นายสิงห์และนายสาจะต้องรับผิดต่อนายแสงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

มาตรา  450  วรรคท้าย  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน  หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่  หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ  แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว  ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

การที่นายสิงห็เอารถยนต์ของนายแสงขับไล่ชนนายสา  ถือได้ว่านายสิงห์ใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือทำละเมิด  เมื่อนายสายิงยางรถยนต์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์นิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสาม  เพราะภยันตรายนั้นมิใช่ภยันตรายที่เกิดขึ้นเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  แต่ภยันตรายนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลคอนายสิงห์

แต่การที่นายสายิงยางรถยนต์ของนายแสงเสียหาย  เป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  การกระทำของนายสาจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายสาได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  นายสาจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายแสง

นายแสงซึ่งเป็นผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายสิงห์ผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา  449  วรรคสอง

สรุป  นายสาไม่ต้องรับผิด  ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449

นายสิงห์ต้องรับผิดในฐานะผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  449  วรรคสอง

 

 

ข้อ  4  นายมั่งมีได้ทำสัญญาจ้างนายอนาถามาเป็นพนักงานขับรถแบ็กโฮ  และจ้างนายยากจนมาเป็นกรรมกรขนวัสดุก่อสร้างและฉาบปูน วันเกิดเหตุนายอนาถาป่วยไม่สามารถมาทำงานได้  นายมั่งมีจึงมีคำสั่งให้นายยากจนไปขับรถแบ็กโฮแทนนายอนาถา  เพราะเห็นว่านายยากจนเคยขับรถแบ็กโฮมาก่อน  ปรากฏว่าในขณะที่นายมั่งมีได้นั่งไปในรถแบ็กโฮที่นายยากจนเป็นคนขับนั้น  หัวตักดินของรถแบ็กโฮได้เกิดหักและหล่นทับนายเงินลูกจ้างคนงานถึงแก่ความตาย  ถ้าปรากฏว่าก่อนตายนายเงินต้องเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินถึง  200,000  บาท นายทองอายุ  21  ปี  บุตรบุญธรรมนายเงินจะมีสิทธิเรียกเงินค่ารักษาพยาบาล  ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากใครได้บ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  บุคคลผู้ครอบครองและหรือผู้ควบคุมยานพาหนะในขณะนั้นจะต้องรับผิดในความเสียหายนั้น  เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้เสียหายเอง 

กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นายยากจนต้องรับผิดในความเสียหายต่อนายเงินหรือไม่  เห็นว่า  ขณะเกิดเหตุนายยากจนเป็นผู้ขับรถแบ็กโฮถือว่าเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะในขณะที่เกิดความเสียหาย  แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของนายยากจน  ตามมาตรา  420  ดังนั้นนายยากจนในฐานะผู้ขับเป็นผู้ควบคุมจึงต้องรับผิดตามบทสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา  437  วรรคแรก

กรณีที่ต้องวินิจฉัยในประการที่สองมีว่า  นายมั่งมีนายจ้างและเป็นเจ้าของรถแบ็กโฮต้องร่วมรับผิดกับนายยากจนลูกจ้างหรือไม่  เห็นว่า  วันเกิดเหตุ  นายมั่งมีได้ออกคำสั่งให้นายยากจนลูกจ้างไปขับรถแบ็กโฮแทนนายอนาถา  ถือว่าการขับรถแบ็กโฮของนายยากจนเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง  ดังนั้นเมื่อนายยากจนต้องรับผิดฐานละเมิดในทางการที่จ้าง  นายมั่งมีนายจ้างจึงต้องเข้ามาร่วมรับผิดกับนายยากจนลูกจ้าง  ตามมาตรา  425  และเมื่อปรากฏว่านายมั่งมีได้ร่วมนั่งไปในรถแบ็กโฮด้วย  นายมั่งมีเจ้าของรถเป็นผู้ครอบครองก็ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  437  วรรคแรก  อีกสถานะหนึ่งด้วย

กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  นายทองอายุ  21  ปี  บุตรบุญธรรมของนายเงินผู้ตายมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล  ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะหรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิในการเรียกค่ารักษาพยาบาลก่อนตายได้แก่ผู้ที่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูผู้ป่วยที่ถูกกระทำละเมิดถึงตาย  ตาม  ป.พ.พ.  ว่าด้วยครอบครัว  กรณีตามปัญหานายทองเป็นบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายเงินผู้รับบุตรบุญธรรม  ตามมาตรา  1598/28  วรรคสอง  ที่ให้นำบทบัญญัติลักษณะ  2  หมวด  2  ว่าด้วยบิดามารดากับบุตรมาใช้ระหว่างบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรม  ตามมาตรา  1563  ดังนั้นนายทองจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล  200,000  บาท  จกนายยากจนและนายมั่งมีได้ตามมาตรา  443  วรรคสอง  กรณีค่าปลงศพ  ผู้มีสิทธิเรียกร้องได้แก่ทายาทของผู้ตายและ  ตามมาตรา  1627  ให้สิทธิแก่บุตรบุญธรรมในการรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629 (1)  ดังนั้นนายทองบุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้  เพราะเป็นทายาทนายเงินผู้ตายตามมาตรา  443  วรรคแรก  ส่วนกรณีของค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย  ผู้มีสิทธิเรียกคือผู้ที่ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  กรณีตามปัญหา  เมื่อนายทองเป็นบุตรบุญธรรมแต่มีอายุ  21  ปี  ซึ่งบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้ว  นายเงินผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตายซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม  จึงหาได้มีหน้าที่ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทองบุตรบุญธรรมอีกต่อไป  เว้นแต่จะปรากฏว่านายทองทุพพลภาพ  และไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ตามมาตรา  1564  ประกอบมาตรา  1598/28  วรรคสอง ดังนั้นนายทองบุตรบุญธรรมจึงเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้เพราะบรรลุนิติภาวะแล้ว

สรุป 

(1) นายยากจน  ต้องรับผิดในฐานะผู้ควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามมาตรา  437

(2) นายมั่งมีนายจ้างและเจ้าของรถต้องรับผิดในฐานะนายจ้างตามมาตรา  425  และฐานะผู้ครอบครองยานพาหนะตามาตรา  437  ด้วย

(3) นายทองบุตรบุญธรรมนายเงินผู้ถูกกระทำละเมิดถึงตาย  มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลค่าปลงศพได้  แต่เรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ตามมาตรา  443

Advertisement