การสอบไล่ภาคซ่อม  1  ปีการศึกษา  2542

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.     หนึ่ง สอง สาม และสี่ ร่วมกันวางแผนสมคบกันไปปล้นบ้านนายเอก ระหว่างทางไปปล้น หนึ่งเกิดเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมปล้น จึงได้แยกทางไป สอง สาม และสี่ จึงไปยังบ้านของนายเอกและได้ปล้นทรัพย์สินเงินทองไปเป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้นมีแหวนและสินสอดที่นายเอกกำลังจะนำไปสู่ขอ เจ้าสาวคือนางสาวทองเอก สองเห็นว่า นายเอกมีหน้าตาดี จึงแกล้งเอามีดโกนกรีดหน้าจนนายเอกเสียโฉม

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)    นายเอกจะฟ้องร้องให้ “หนึ่ง” ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายฐานร่วมกระทำละเมิดกับ “สอง สาม และสี่” ได้หรือไม่อย่างไร

(ข)     หากนางสาวทองเอกเกิดความอับอายชาวบ้าน ที่นายเอกหน้าตาเสียโฉม และไม่มีเงิน สินสอดมาสู่ขอตน จึงได้ฆ่าตัวตาย ดังนี้ ทายาทของนางสาวทองเอก และนายเอก จะเรียกร้องให้ สอง สาม และสี่ ร่วมกันรับผิดฐานละเมิดต่อชีวิตของนางสาวทองเอกได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

    (ก) นายเอกไม่สามารถฟ้องร้องให้ “หนึ่ง” รับผิดร่วมกับ สอง สาม และสี่ ในฐานะละเมิด เพราะ “หนึ่ง” ไม่ได้ “ร่วมกระทำ” มาตั้งแต่ต้นจนถึงเวลาที่มีการกระทำละเมิด เพียงแต่วางแผนร่วมกันและได้ล้มเลิกการกระทำก่อนที่จะมีการละเมิดเกิดขึ้น จึงยังไม่เป็นการยุยง ส่งเสริม หรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิด อันจะถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคสองแต่อย่างใด

        (ข) ทายาทของนางสาวทองเอก และนายเอก ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก สอง สาม และ สี่ ฐานกระทำละเมิดต่อชีวิตของนางสาวทองเอก เพราะความตายของนางสาวทองเอก ไม่ได้เป็นผลที่สัมพันธ์กับการกระทำละเมิดของบุคคลทั้งสามแต่อย่างใด ไม่เข้าหลักเกณฑ์ใน ป.พ.พ. มาตรา 420

 

 

ข้อ 2. ติงนังนังเป็นนักร้องซึ่งถูกคนปองร้ายและขู่ฆ่า เขาจึงไปซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนมาใส่ วันหนึ่งคนร้ายได้ใช้ปืนยิงมาที่ติงนังนังโดยหวังจะฆ่าให้ตาย แต่ติงนังนังได้ใช้เสื้อเกราะกำบังมิให้กระสุนถูกตนเอง ติงนังนังจึงไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่กระสุนได้กระเด็นไปถูกกระจกรถของนายรุ่ง ทำให้กระจกรถของนายรุ่งแตกกระจายกระเด็นใส่ตานายสุริยา ทำให้นายสุริยาตาบอด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายรุ่ง และนายสุริยา จะฟ้องร้องเรียกให้ติงนังนังรับผิดฐานละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ ติงนังนังถูกคนร้ายยิง และได้ทำการป้องกันตัวโดยการหันเสื้อเกราะเข้าใส่กระสุนเพื่อมิให้กระสุนถูกตนเอง มิได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดผู้ใด เพราะติงนังนังมิได้กระทำผิดกฎหมายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่อย่างใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ นายรุ่ง และนายสุริยา เป็นความเสียหายที่เกิดจากคนร้าย โดยถือว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของคนร้าย ไม่ได้สัมพันธ์กับการกระทำของติงนังนัง

กรณีตามปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องการอ้างเหตุโทษกรรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 เพราะการอ้างนิรโทษกรรมหมายถึงการกระทำที่เป็นละเมิดแต่ได้ทำไปเพราะมีเหตุจำเป็นอันอ้างกฎหมายได้ จึงไม่ต้องรับผิด แต่ข้อเท็จจริงตามปัญหาเป็นกรณีที่ติงนังนังมิได้กระทำการอันเป็นละเมิดมาตั้งแต่ต้นอยู่ก่อนแล้ว

 

 

ข้อ 3.      นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนโดยมีนายสองเป็นคนซ้อนท้าย พอไปถึงที่เกิดเหตุ จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของนายหนึ่ง ปรากฏว่านายหนึ่งถึงแก่ความตาย ส่วนนายสองได้รับบาดเจ็บ ข้อเท็จจริงได้ความว่านายหนึ่งอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยากับนางบุษบาโดยไม่ได้ จดทะเบียน เกิดบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง ขณะที่เด็กชายแดงเกิดใหม่ ๆ นั้น นายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูตลอดมา แต่นายหนึ่งไม่ยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนายหนึ่งด้วย เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายโน๊ตซึ่งเป็นอาของเด็กชายแดงจัดการศพตามประเพณี เสียค่าใช้จ่ายไป 100,000 บาท ส่วนนายสองได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซึ่งปกติแล้วนายสองต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 50,000 บาท แต่เนื่องจากนายสองรู้จัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลลดให้ครึ่งหนึ่ง นายสองต้องจ่ายเพียง 25,000 บาท นายสองรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 7 วันจึงหายเป็นปกติ ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

(1)     เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     นายสองจะฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้จำนวนเท่าใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดีแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

    มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย”

    มาตรา 444 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย หรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย”

    กรณีตามปัญหา การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของนายหนึ่ง ทำให้นายหนึ่งตายและสองได้รับบาดเจ็บ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

    การที่นายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา ถือได้ว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว โดยพฤติการณ์ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นทายาทของนายหนึ่ง ดังนั้นเด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้

    (เทียบฎีกาที่ 14/2517) ถึงแม้ว่านายโน้ตซึ่งเป็นอาของเด็กชายแดงจะเป็นคนจัดการศพและออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไป โดยที่เด็กชายแดงไม่ได้เป็นคนจ่ายก็ตาม เด็กชายแดงยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา 443 (เทียบฎีกาที่ 698/2538)

    การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้นายสองได้รับบาดเจ็บ นายสองฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้ตามมาตรา 444

    การที่นายสองได้รับการลดค่ารักษาพยาบาลเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายสอง ไม่เป็นผลให้ความรับผิดของจำเลยต้องลดลงไปด้วย ดังนั้น นายสองฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้ จำนวน 50,000 บาท (เทียบฎีกาที่ 806/2533)

สรุป   (1) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพได้

        (2) นายสองฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลได้ จำนวน 50,000 บาท

 

 

ข้อ 4.     นายสิงห์เช่าแผงลอยของเทศบาลเมืองสระบุรีเพื่อค้าขาย หลังจากค้าขายไปได้สามเดือน นายสิงห์ได้ต่อเติมแผงลอยออกไปอีก ปรากฏว่าในส่วนที่ต่อเติมออกไปนั้นมีทั้งส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ กับส่วนที่ไม่ได้รุกล้ำทางสาธารณะ ต่อมามีผู้ไปร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดว่ามีการต่อเติมแผงลอยรุกล้ำทางสาธารณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปตรวจสอบพบว่าแผงลอยรุกล้ำทางสาธารณะ 2 เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้เทศบาลเมืองสระบุรีรื้อถอนแผงลอยเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ ปรากฏว่าเทศบาลได้ทำการรื้อถอนแผงลอยในส่วนที่นายสิงห์ต่อเติมออกไปทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รุกล้ำกับส่วนที่ไม่รุกล้ำ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสิงห์ต่อเติมแผงลอยในส่วนที่ไม่รุกล้ำทางสาธารณะคิดเป็นเงิน 5,000 บาท สำหรับแผงลอยส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะเสียค่าใช้จ่ายไป 7,000 บาท

        ให้ท่านวินิจฉัยว่าเทศบาลเมืองสระบุรีจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสิงห์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดีแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 บัญญัติว่า “บุคคลใดเมื่อกระทำการฟ้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

กรณีตามปัญหา การที่เทศบาลรื้อถอนแผงลอยในส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ 2 เมตรนั้น การกระทำของเทศบาลถือว่าเป็นการทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ย่อมได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 เทศบาลจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสิงห์

กรณีเทศบาลรื้อถอนแผงลอยในส่วนที่ไม่รุกล้ำทางสาธารณะ นั้นการกระทำของเทศบาลถือว่าเป็นการทำเกินคำสั่งของเจ้าพนักงาน ย่อมไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 ดังนั้น การกระทำของเทศบาลจึงเป็นละเมิดตาม

มาตรา 420 เทศบาลต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสิงห์เป็นเงิน 5,000 บาท (เทียบฎีกาที่ 1358-1359/2506)

สรุป     (1) กรณีรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ เทศบาลไม่ต้องรับผิด

    (2) กรณีรื้อถอนส่วนที่ไม่รุกล้ำทางสาธารณะ เทศบาลต้องรับผิด

Advertisement