การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สมัครว่าจ้างให้ชูวิทย์ตอกเสาเข็มปลูกสร้างอาคารโรงแรม  16  ชั้น  ทำให้บรรหารซึ่งอยู่บ้านบนที่ดินติดต่อกับอาคารดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน  เพราะมีฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทำให้บ้านเรือนสกปรก  มีเสียงดังจากเครื่องจักร  บ้านสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม

มีหินและไม้ตกลงบนหลังคาบ้านของบรรหารทำให้ต้องหวาดระแวงว่าอาจจะเกิดอันตรายแก่บรรหารและคนในครอบครัวได้  บรรหารจึงได้ยื่นฟ้องสมัครและชูวิทย์ฐานละเมิด  ทำให้ตนและครอบครัวต้องทนทุกขเวทนาแสนสาหัสนอนไม่หลับ  และหวาดระแวงเป็นเวลานานติดต่อกันถึงสองเดือน

และเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายแก่อนามัยและสิทธิส่วนตัวที่จะมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขทั้งร่างกายและจิตใจ  จากการสืบพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าความทนทุกข์ทรมานดังกล่าวเป็นอันตรายและจิตใจของบรรหาร

ดังนี้ให้ท่านเป็นศาล  ท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  ชูวิทย์ตอกเสาเข็มปลูกสร้างอาคารโรงแรม  16  ชั้น  ทำให้บรรหารทนทุกขเวทนาแสนสาหัสนอนไม่หลับเพราะหนวกหู  ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทำให้บ้านเรือนสกปรก  บ้านสั่นสะเทือนหินและไม้ตกลงบนหลังคาบ้านของบรรหารอันอาจจะเกิดอันตรายต่อบรรหารและครอบครัวได้  แม้การสืบพยานหลักฐานจะไม่ปรากฏว่าความทุกข์ทรมานสาหัสดังกล่าวเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของบรรหาร  แต่ก็เป็นเรื่องเสียหายต่ออนามัยและสิทธิจะอยู่อย่างสงบไม่ถูกรบกวน  ถือได้ว่าการกระทำของชูวิทย์เป็นการกระทำละเมิดต่ออนามัย  รวมทั้งต่อสิทธิส่วนตัวของบรรหารที่จะมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขทั้งร่างกายและจิตใจตามมาตรา  420

บรรหารผู้ถูกกระทำละเมิดมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เป็นอันตรายแก่อนามัย  รวมทั้งสิทธิส่วนตัวที่จะมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขทั้งร่างกายและจิตใจได้  ตามมาตรา  420  ประกอบมาตรา  438  และมาตรา  446  วรรคแรก (ฎ. 3407/2535)

ชูวิทย์เป็นผู้รับจ้างทำของ  (ก่อสร้างอาคารโรงแรม)  โดยหลักแล้วตามมาตรา  428  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นต่างๆตามกฎหมาย  เมื่อปรากฏว่าสมัครผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ สมัครจึงต้องร่วมรับผิดกับชูวิทย์ด้วยตามมาตรา  428  (ฎ. 984/2531)

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยให้ทั้งชูวิทย์และสมัครรับผิดต่อบรรหารตามฟ้อง

 

 

ข้อ  2  นายทองเป็นเจ้าของบ้านซึ่งใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง  และการไฟฟ้าฯได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากต้นทางเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้าน  จึงทำให้กระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของนายทองและเกิดการลัดวงจร  ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านนายทอง  นายพงศ์ลูกจ้างของนายทองจึงได้พังฝาผนังบ้านของนายทองเพื่อไม่ให้ไฟลาม  ทำให้ฝาผนังบ้านล้มไปทับนายพัฒน์ขาหัก

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายทองจะฟ้องร้องให้การไฟฟ้าฯ  รับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายพัฒน์จะเรียกให้นายทองร่วมรับผิดกับนายพงศ์ลูกจ้างได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา  450  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะ  โดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย

ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน  ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น

วินิจฉัย

กระแสไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ  การไฟฟ้าฯซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้า   จึงถือว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้นตามมาตรา  437  วรรคสอง  และความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการไฟฟ้าฯ จ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงโดยมิได้ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของผู้ใช้ไฟฟ้า  จึงมิใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง  การไฟฟ้าฯ  จึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวได้  (ฎ. 3478/2523)

การที่นายพงษ์พังฝาผนังบ้านของนายทองและฝาผนังล้มทำให้นายพัฒน์ได้รับความเสียหายต่อร่างกายนั้น  เป็นการกระทำละเมิดต่อนายพัฒน์ตามมาตรา  420  และนายพงษ์ไม่อาจอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสอง  เพื่อให้พ้นความรับผิด  เพราะแม้ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภัยฉุกเฉินที่มีมาต่อเอกชนแต่เมื่อเป็นการกระทำให้บุคคลใดได้รับบาดเจ็บ  ไม่ใช่เป็นกรณีที่ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  จึงอ้างนิรโทษกรรมตามหลักกฎหมายดังกล่าวไม่ได้  (จะอ้างได้ก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินเท่านั้น)  ดังนั้น  นายพงษ์จึงต้องรับผิดต่อนายพัฒน์  และนายทองซึ่งเป็นนายจ้าง  จึงต้องร่วมรับผิดกับนายพงษ์ด้วย  ตามมาตรา  425  เพราะนายพงษ์ได้ช่วยดับไฟเพื่อประโยชน์ของนายทองซึ่งเป็นนายจ้าง  จึงถือว่านายพงษ์ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้าง  นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง

สรุป  นายทองฟ้องให้การไฟฟ้าฯ  รับผิดต่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้  และนายพัฒน์สามารถเรียกให้นายทองนายจ้างร่วมรับผิดกับนายพงษ์ลูกจ้างได้

 

 

ข้อ  3  นายสุรินทร์เป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงช้างแห่งหนึ่ง  นายสุรินทร์ออกคำสั่งให้นายสุขุมนำช้างชื่อพลายไข่นำไปเลี้ยงที่ป่าหลังฟาร์มเลี้ยงช้างของนายสุรินทร์  เนื่องจากพลายไข่กำลังตกมัน  ปรากฏว่านายสุขุมนำเจ้าพลายไข่ไปผูกล่ามโซ่เอาไว้อย่างเดียว

โดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ล่ามขาช้างที่ใช้สำหรับช้างตกมัน  แล้วนายสุขุมก็นอนหลับไปทำให้เจ้าพลายไข่วิ่งหนีออกไปจากป่าเข้าไปในหมู่บ้าน  ไปเหยียบนางสาวดวงดีถึงแก่ความตาย  และยังเหยียบรถจักรยานยนต์ของนายเฮงที่ใช้ขี่รับจ้างในหมู่บ้านพังเสียหายเสียค่าซ่อมรถ  8,000  บาท

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

(1) บุคคลใดจะต้องรับผิดในความเสียหายในเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นบ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายดำเนินผู้รับ  น.ส.ดวงดีเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  จะฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(3) นายเฮงมีรถจักรยานยนต์อีก  1  คัน  แต่ไม่ใช้ขับรับจ้าง  กลับไปเช่ารถจักรยานยนต์คันอื่นจากนายกิมมาขับรับจ้างเสียค่าเช่าไป  3,000  บาท  (ในระหว่างที่ซ่อมรถคันที่เสียหาย)  นายเฮงจะเรียกร้องค่าเช่ารถจักรยานยนต์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

(1) กรณีที่จะปรับเข้าบทสันนิษฐานความรับผิดตามกฎหมายละเมิดใน  มาตรา  433  จะต้องปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มิได้เกิดขึ้นจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ตามอุทาหรณ์  การที่นายสุขุมลูกจ้างของนายสุรินทร์นอนหลับไปในระหว่างเลี้ยงช้างพลายไข่ซึ่งกำลังตกมัน  โดยใช้แต่เพียงโซ่ล่ามผูกเอาไว้เท่านั้น  ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับล่ามขาช้างที่กำลังตกมัน  ถือว่านายสุขุมงดเว้นหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้น  ด้วยความประมาทเลินเล่อ  ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  ซึ่งนายสุขุมอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่  เมื่อพลายไข่ไปเหยียบ  น.ส. ดวงดีถึงแก่ความตาย  และทำให้รถจักรยานยนต์ของนายเฮงพังเสียหาย  นายสุขุมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  420  ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  433

เมื่อนายสุขุมลูกจ้างกระทำละเมิดและเป็นการกระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง  นายสุรินทร์นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย  ตามมาตรา  425

(2) เมื่อนายสุขุมงดเว้นโดยประมาทเป็นเหตุให้  น.ส.ดวงดีถึงแก่ความตาย  ทายาทโดยธรรมของ  น.ส.ดวงดีจึงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้  ตามมาตรา  443  วรรคแรก  แต่นายดำเนินผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพ  เพราะนายดำเนินไม่มีสิทธิรับมรดกของ  น.ส.ดวงดี  ในฐานะทายาทโดยชอบธรรม  นายดำเนินจึงมิใช่ทายาทของ  น.ส.ดวงดี  อันจะมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก 

(3) ค่าเช่ารถยนต์  3,000  บาท  ที่นายเฮงต้องจ่ายไปในระหว่างที่นำรถจักรยานยนต์ที่เสียหายไปซ่อม  ถือว่าเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันได้ก่อให้เกิดขึ้น  เพราะค่าซ่อมรถเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด  และไม่ไกลกว่าเหตุ  นายเฮงจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้  ตามมาตรา  438  วรรคท้าย  แม้จะปรากฏว่านายเฮงจะมีรถจักรยานยนต์อีก  1  คัน  ที่สามารถนำมาใช้รับจ้างได้ก็ตาม (ฎ. 945/2533)

สรุป 

(1) นายสุขุมต้องรับผิดตามมาตรา  420  นายสุรินทร์นายจ้างต้องรับผิดตามมาตรา  425

(2) นายดำเนินผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพตามมาตรา  443  วรรคแรก

(3) นายเฮงมีสิทธิเรียกค่าเช่าตามมาตรา  438  วรรคท้าย

 

 

ข้อ  4  จากข้อเท็จจริงตามข้อ  3  พวกชาวบ้านได้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อไล่ต้อนเจ้าพลายไข่ (ช้าง)  ให้เข้าไปในป่า  แต่ปรากฏว่านายชอบใช้ปืนลูกซองยาวยิงไปที่หัวของเจ้าพลายไข่ (ช้าง)  เป็นจำนวน  20  นัด  เพราะโกรธแค้นและต้องการฆ่าเจ้าพลายไข่ให้ตาย  ทำให้เจ้าพลายไข่ (ช้าง)  ล้ม (ตาย)  ในคืนวันนั้น  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายชอบจะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

มาตรา  450  วรรคท้าย  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน  หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่  หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ  แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว  ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  68  ผู้กระทำการป้องกันไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  449  ตามอุทาหรณ์  การที่นายชอบใช้ปืนลูกซองยิงไปที่หัวของพลายไข่  (ช้าง)  จำนวน  20  นัด  ในขณะที่กำลังไล่ต้อนช้างนั้นเข้าไปในป่า  จนเป็นเหตุให้ช้างล้ม (ตาย)  ถือว่าเป็นการป้องกันที่เกินสมควรแก่เหตุไม่ได้สัดส่วนกับภยันตราย  เนื่องจากสามารถกระทำโดยวิธีการอื่นเช่น  ยิงยาสลบเพื่อทำให้ช้างหมดสติ  เพื่อให้พ้นจากภยันตรายได้  การกระทำของนายชอบจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449 

ส่วนการที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคท้าย  การทำลายทรัพย์ที่เป็นต้นเหตุแห่งภยันตรายนั้นจะต้องกระทำไม่เกินสมควรแก่เหตุเช่นเดียวกัน  ในกรณีเช่นนี้  นายชอบกระทำเกินสมควรแก่เหตุ  จึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคท้าย

สรุป  นายชอบไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  และมาตรา  450  วรรคท้าย

Advertisement