การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางยิ้มแย้มขอยืมแหวนเพชรมาจากนางเกียว  หลังจากนั้นได้นำแหวนเพชรไปให้ร้านของนายสดใสเพื่อให้ทำความสะอาด  แต่เมื่อนางยิ้มแย้มรับแหวนกลับ  ปรากฏว่าลูกจ้างของนายสดใสได้ลักแหวนดังกล่าวไปแล้ว  ดังนั้น  นายสดใสจึงได้ชดใช้ค่าแหวนเพชรให้แก่นางยิ้มแย้มไป

ดังนี้  หากว่า  นางยิ้มแย้มไม่นำเงินที่ได้รับจากนายสดใสไปให้นางเกียว  นางเกียวจะเรียกร้องให้นายสดใสรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในแหวนเพชรที่หายไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี  หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป  หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้นแม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน  หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ลูกจ้างของนายสดใสได้ลักแหวนเพชรของนางเกียวที่นางยิ้มแย้มนำไปให้นายสดใสเพื่อทำความสะอาดนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของลูกจ้างดังกล่าว  จึงถือว่าลูกจ้างของนายสดใสได้กระทำละเมิดต่อนางเกียวตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเกียว

และเมื่อการทำละเมิดของลูกจ้างนายสดใสต่อนางเกียวนั้น  ได้กระทำในระหว่างที่เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้าง  ดังนั้นนายสดใสนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิด  คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ของนายเกียวตามมาตรา  425 

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายสดใสได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางยิ้มแย้มซึ่งเป็นผู้ครองแหวนอันเป็นสังหาริมทรัพย์ในขณะที่มีการละเมิดไปแล้วโดยสุจริต  คือ  โดยเข้าใจว่าแหวนเพชรเป็นของนางยิ้มแย้ม  ดังนั้นนายสดใสย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  441 คือ  ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ในมูลละเมิดดังกล่าว

ดังนั้นหากว่านางยิ้มแย้มไม่นำเงินที่ได้รับจากนายสดใสไปให้แก่นางเกียว  นางเกียวก็จะเรียกร้องให้นายสดใสรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในแหวนเพชรที่หายไปไม่ได้

สรุป  นางเกียวจะเรียกร้องให้นายสดใสรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในแหวนเพชรที่หายไปไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายประเทืองไม่ชอบสมชัย  จึงยุให้ลิงของนายสมศักดิ์ไปไล่กัดนายสมชัย  นายสมชัยได้รับบาดเจ็บจึงวิ่งหนีกลับเข้าบ้าน  แต่เนื่องจากยังโกรธนายประเทืองอยู่  นายสมชัยจึงได้ไปยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายสมศักดิ์  ลิงของนายสมศักดิ์ได้รับบาดเจ็บ  จึงร้องโหยหวนและวิ่งหนีไปบนหลังคารถของยายหวานที่จอดอยู่หน้าบ้าน  ยายหวานตกใจเสียงลิงร้องและเห็นลิงมาอยู่ที่หลังคา  จึงช็อกและขาดใจตายทันที

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ใครจะต้องรับผิดในความตายของยายหวานและลิงของนายสมศักดิ์ที่ได้รับบาดเจ็บ  และถ้าข้อเท็จจริงได้ความว่ายายหวานอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับตาอยู่โดยไม่ได้จดทะเบียนกัน  เมื่อยายหวานถึงแก่ความตาย  ตาอยู่จึงได้จัดการศพตามประเพณี  เสียค่าใช้จ่ายไป  100,000  บาท

ให้วินิจฉัยว่า  ตาอยู่จะเรียกร้องค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  443  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สมชัยยุให้สุนัขของตนกัดลิงของสมศักดิ์จนได้รับบาดเจ็บนั้น  การกระทำของสมชัยถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของสมชัย จึงถือว่าสมชัยได้กระทำละเมิดต่อสมศักดิ์ตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมศักดิ์

และการที่ลิงของสมศักดิ์ได้วิ่งหนีไปบนหลังคารถของยายหวาน  และส่งเสียงร้องจนทำให้ยายหวานตกใจช็อกถึงแก่ความตายนั้น  ก็เป็นผลมาจากการกระทำของสมชัยที่ยุสุนัขให้กัดลิงในตอนแรก  เมื่อผลที่เกิดขึ้นกับยายหวานสัมพันธ์กับการกระทำของสมชัย  ดังนั้นจึงถือว่าสมชัยกระทำละเมิดต่อยายหวานและต้องรับผิดในความตายของยายหวานด้วยตามมาตรา  420  ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ใช่ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์  เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา  433  จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง  มิใช่มนุษย์ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ

แต่อย่างไรก็ตาม  ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตายเท่านั้น  เมื่อได้ความว่าตาอยู่มิได้เป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของยายหวาน  จึงไม่ถือว่าตาอยู่เป็นทายาทของยายหวานผู้ตาย  ดังนั้นตาอยู่จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพยายหวานตามมาตรา  443  วรรคแรก

ส่วนการที่ประเทืองยุให้ลิงของสมศักดิ์ไปไล่กัดสมชัยจนได้รับบาดเจ็บนั้น  แม้จะถือว่าประเทืองกระทำละเมิดต่อสมชัยและต้องรับผิดต่อสมชัยตามมาตรา  420  แต่เนื่องจากภัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว  สมชัยจึงได้ยุให้สุนัขกัดลิงของสมศักดิ์เพราะความโกรธ  ดังนั้น  ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยายหวานและลิงของสมศักดิ์จึงไม่เกี่ยวกับความรับผิดของประเทืองที่มีต่อสมชัย

สรุป  สมชัยจะต้องรับผิดในความตายของยายหวานและลิงของนายสมศักดิ์ที่ได้รับบาดเจ็บและตาอยู่จะเรียกร้องค่าปลงศพไม่ได้ 

 

 

ข้อ  3  นายแดงใช้อาวุธปืนยิงนาย  ก  กระสุนนัดแรกไม่ถูกนาย  ก  ขณะที่นายแดงกำลังจะยิงนัดที่สอง  นาย  ก  ใช้อาวุธปืนยิงไปที่นายแดง  กระสุนปืนไม่ถูกนายแดงแต่กลับพลาดไปถูกนายขาวได้รับบาดเจ็บ  นายขาวรักษาตัวในโรงพยาบาล  เสียค่าใช้จ่ายไป  5,000  บาท ดังนี้

(1) นายขาวจะฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายขาวจะฟ้องให้นายแดงรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  วรรคแรก  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้

1       จะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น

2       ภยันตรายนั้นจะต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

3       เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

4       ผู้กระทำได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้  ผู้ที่ต้องเสียหายจากการป้องกันนั้นอาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้อีกด้วย  ตามมาตรา  449  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์

1       การที่นายแดงใช้อาวุธปืนยิงนาย  ก  แต่กระสุนนัดแรกไม่ถูกนาย  ก  และกำลังจะยิงนัดที่สองนั้น  ถือเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และภยันตรายดังกล่าวใกล้จะถึงตัวนาย  ก  ซึ่งการที่นาย  ก  ใช้อาวุธปืนยิงไปที่นายแดงเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น  และเมื่อการกระทำดังกล่าวพอสมควรแก่เหตุ  จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่ากระสุนจะพลาดไปถูกนายขาวได้รับบาดเจ็บ  ก็เป็นผลมาจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย  ก  ดังนั้นการกระทำของนาย  ก  จึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  วรรคแรก  นาย  ก  จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายขาวผู้เสียหาย

2       เมื่อนายขาวเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย  ก  จึงสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงผู้เป็นต้นเหตุให้นาย  ก  ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้  ตามมาตรา  449  วรรคสอง

สรุป

1       นายขาวจะฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

2       นายขาวฟ้องนายแดงให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

 

 

ข้อ  4  ห้างสรรพสินค้า  เดอะแมว   มีบริการลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาจับจ่ายซื้อของ  ได้มอบหมายให้บริษัทมือโปรจำกัด  ดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถ  บริษัทมือโปร  จำกัด  ได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำทางเข้าออกลานจอดรถทุกจุด โดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดต้องรับบัตรผ่านจากพนักงาน  และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็ต้องมอบบัตรผ่านคืนให้กับพนักงานที่ทางออก  จึงจะสามารถนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถได้  หากไม่คืนบัตรผ่านที่ถูกต้อง  พนักงานจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออกนอกลานจอด  โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของบัตรจอดรถอย่างเคร่งครัด

นายเล็กลูกค้าที่มาซื้อของและจอดรถที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าพบว่ารถของตนหายไป  เนื่องจากคนร้าย  งัดแงะ  และขับผ่านจุดตรวจที่นายเปิ่นลูกจ้างพนักงานของบริษัทดังกล่าวประจำอยู่  เพราะนายเปิ่นไม่ได้ทำการตรวจสอบบัตรจอดรถอย่างรอบคอบเพียงแต่มองผ่านๆ  เห็นเลขทะเบียนคล้ายกันเลยให้รถออกไป

จงวินิจฉัยว่า  นายเล็กจะสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลใดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเปิ่นพนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด  อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์  เป็นผลทำให้รถยนต์ของนายเล็กถูกลักไปนั้น  การงดเว้นดังกล่าวของนายเปิ่นถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเปิ่น  จึงถือว่านายเปิ่นได้กระทำละเมิดต่อนายเล็กตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายเล็ก

และเมื่อการกระทำดังกล่าวของนายเปิ่น  เป็นการกระทำในระหว่างที่นายเปิ่นเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของบริษัทมือโปร  จำกัด  ดังนั้นบริษัทมือโปร  จำกัด  ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเปิ่น  ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งการละเมิดต่อนายเล็กตามมาตรา  425

ส่วนห้างสรรพสินค้าเดอะแมว  เมื่อได้มอบหมายให้บริษัทมือโปร  จำกัด  เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของห้างดังกล่าว  จึงต้องร่วมกับบริษัทมือโปร  จำกัด  และนายเปิ่นซึ่งเป็นตัวแทนของตนที่ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายรับผิดต่อนายเล็กในฐานะที่เป็นตัวการ  ตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425

สรุป  นายเล็กสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเปิ่น  บริษัทมือโปร  จำกัด  และห้างสรรพสินค้าเดอะแมวได้

Advertisement