การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  หนึ่งล้านบาท  มีกำหนดเวลาสาปี  ก  ได้นำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้ไว้และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่า  หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระเท่าใด  ลูกหนี้จะรับผิดชอบจนครบจำนวน  ข้อเท็จจริงหลังจากกู้ไปได้หกเดือน  ก  ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย  ข  เห็นว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนด  จึงไม่ได้เรียกมิได้บังคับชำระหนี้  เมื่อครบกำหนดตามสัญญา  ข บังคับชำระหนี้เอากับ  ค  ทายาท  ค  ต่อสู้ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้และคดีขาดอายุความ  ข้อต่อสู้ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/27  ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ได้ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม  แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา  203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  1754  วรรคสาม  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา  193/27  แห่งประมวลกฎหมายนี้  ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี  มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้  หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

วินิจฉัย

ตามมาตรา  1754  วรรคสาม  ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม  มิฉะนั้นจะขาดอายุความ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  โดยมีกำหนดเวลา  3  ปี  หลังจากกู้ไปได้  6  เดือน  ก  ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย  ซึ่ง  ข  เจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของ  ก  ลูกหนี้  ดังนี้  แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่าง  ก  และ  ข  จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ  ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา  203  วรรคสอง  แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ตายก่อนกำหนด  ดังนั้นเจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตายตามมาตรา  1754  วรรคสาม  เมื่อ  ข  เจ้าหนี้ไม่ได้บังคับให้ชำระหนี้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่  ก  ลูกหนี้ตาย  หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ  ข  เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เอาจาก  ค  ทายาท  ของลูกหนี้ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  1754  วรรคสาม  จะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา  193/27  ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม

และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  นั้น  ก  ได้นำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้ไว้  ดังนั้น  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วตามมาตรา  1754  วรรคสาม  แต่กฎหมายมาตรา  193/27  ก็ยังให้สิทธิแก่  ข  ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้  แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของ  ก

สรุป  ข้อต่อสู้ของ  ค  ที่ว่าคดีขาดอายุความนั้นฟังขึ้น  แต่  ข  เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่รับจำนองไว้ได้  แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว

 

 

ข้อ  2  หลังจากหย่ากันแล้ว  จตุพรผู้สามีก็จากไปปล่อยให้ภริยาเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สามคนอยู่ฝ่ายเดียว  จตุพรไม่เคยมาดูดำดูดีบุตรและภริยาเลย  เมื่อภริยาขอให้ศาลบังคับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามี  จตุพรขอให้ศาลยกฟ้อง  อ้างว่าการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิของบุตรที่จะเรียกไม่ใช่สิทธิของภริยา  และผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  ข้ออ้างของจตุพรฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  226  วรรคแรก  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้  รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

มาตรา  229  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย  และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น  หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้  มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น  และเข้าใช้หนี้นั้น

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน  เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น  เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร  ลูกหนี้คนอื่นๆ  ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้  แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด  เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว  ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา  1490  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  การอุปการะเลี้ยงดู  ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

มาตรา  1562  ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ  อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา  1564  วรรคแรก  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

มาตรา  1565  การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น  นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา  1562  แล้ว  บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

วินิจฉัย

โดยหลัก  กฎหมายให้สิทธิบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น  หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้น  สามารถเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  และใช้สิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง  (มาตรา  226  ประกอบมาตรา  229(3))

กรณีตามอุทาหรณ์  จตุพรผู้เป็นสามีได้ทิ้งให้ภริยาของตนเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  3  คนอยู่เพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งตามกฎหมายนั้นกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์  และให้ถือว่าหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างบิดามารดาตามมาตรา  1490(1)  ประกอบมาตรา  1564  วรรคแรก  โดยถือว่า  บิดามารดามีความผูกพันร่วมกันในการที่จะต้องชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตร  (ลูกหนี้ร่วม)  กล่าวคือ  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งหมดก็ยังคงต้องผูกพันจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง  และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้น  ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนๆเท่ากัน  เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา  229(3)  ประกอบมาตรา  291 , 296

ตามข้อเท็จจริง  เมื่อภริยาขอให้ศาลบังคับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามีคือจตุพร  แต่จตุพรขอให้ศาลยกฟ้อง  โดยอ้างว่าการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิของบุตรที่จะเรียกไม่ใช่สิทธิของภริยาและผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  กรณีนี้ถึงแม้ตามกฎหมาย  บุตรจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาไม่ได้เพราะถือว่าเป็นคดีอุทลุม  (มาตรา  1562)  ก็ตาม  แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าภริยาแต่ผู้เดียวได้ชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสามจึงเป็นกรณีที่  บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น(ลูกหนี้ร่วม)  มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้น  ดังนั้น  ภริยาย่อมได้รับสิทธิของบุตรเจ้าหนี้โดยอำนาจของกฎหมายเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจตุพรได้กึ่งหนึ่งตามมาตรา  226, 229(3) ,  291, 296  ประกอบมาตรา  1565  ข้ออ้างของจตุพรดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของจตุพรฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ  3  จันทร์และอังคารเป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้ยืมมีพุธเป็นเจ้าหนี้  หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจันทร์เข้าทำสัญญาเพราะถูกกลฉ้อฉลของพุธ  อันเป็นโมฆียะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  159  วรรคหนึ่ง  ในกรณีดังกล่าวนี้อังคารจะอ้างเหตุที่จันทร์ถูกพุธใช้กลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญาบอกล้างสัญญาดังกล่าวนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

วินิจฉัย

โดยหลัก  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษของลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่น  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง  (มาตรา  295  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์เข้าทำสัญญากู้ยืมเพราะถูกกลฉ้อฉลของพุธอันจะมีผลทำให้สัญญาเป็นโมฆียะนั้น  ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจันทร์ลูกหนี้ร่วมเพียงคนเดียว  จึงมีผลแต่เฉพาะจันทร์ผู้เดียวเท่านั้นไม่มีผลถึงอังคารซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย  ดังนั้น  อังคารจะอ้างเหตุที่จันทร์ถูกพุธใช้กลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญากู้ยืมบอกล้างสัญญาดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา  295  วรรคแรก  ให้ถือว่าการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญากู้ยืมของอังคารมีผลสมบูรณ์

สรุป  อังคารจะอ้างเหตุที่จันทร์ถูกพุธใช้กลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญากู้ยืมบอกล้างสัญญาดังกล่าวไม่ได้

 

 

ข้อ  4  ก  กู้เงิน  ข  ไปสองแสนบาท  แต่ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้  ต่อมาปรากฏว่า  ค  ละเมิดโดยขับรถยนต์ชน  ก  เป็นเหตุให้  ก  ได้รับบาดเจ็บสาหัส  ขาหักทั้งสองข้าง  ต้องรักษาตัวโดยผ่านการผ่าตัดหลายครั้งอยู่โรงพยาบาลและรักษาตัวต่อที่บ้านอีกหลายเดือน  ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน  ต้องขาดเรียนและเรียนซ้ำชั้น  เป็นความทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจ  เป็นเหตุให้  ก  มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่มิใช่เป็นตัวเงินในส่วนนี้จาก  ค  ผู้ละเมิดได้ประมาณสองแสนบาทตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  446  แต่  ก  เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น  ดังนี้  ข  จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของ  ก  ลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวนี้  ได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

วินิจฉัย

การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา  233  นั้น  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       ลูกหนี้ขัดขืนเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง

2       ปรากฏว่าการขัดขืนหรือเพิกเฉยของลูกหนี้นั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์  และ

3       การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้นั้นต้องปรากฏว่าไม่ใช่ข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ลูกหนี้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงินจาก  ค  ผู้ทำละเมิด  ได้ประมาณ  2  แสนบาท  แต่  ก  เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น  ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง  และการเพิกเฉยของลูกหนี้นั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือ  ข  ต้องเสียประโยชน์  เพราะตามข้อเท็จจริง  ก  ลูกหนี้  ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แต่อย่างใด  ซึ่งโดยหลัก  กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ในการควบคุมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้นั้น  ต้องปรากฏว่าไม่ใช่ข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  สิทธิเรียกร้องดังกล่าวของ  ก  ถือเป็นข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้  ดังนั้น  ข  เจ้าหนี้จึงใช้สิทธิเรียกร้องของ  ก ลูกหนี้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก  ค  แทนลูกหนี้ไม่ได้  เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา  233  ดังกล่าวข้างต้น

สรุป  ข  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของ  ก  ลูกหนี้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก  ค  แทนลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวไม่ได้

Advertisement