การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายเอก  ได้กู้เงินจากนายข้อง  100,000  บาท  โดยนายเอกได้เขียนข้อความลงในกระดาษด้วยลายมือตนเองว่า  ข้าพเจ้านายเอก  ได้ยืมเงิน  100,000  บาท  ไปจากนายข้อง  เมื่อวันที่  10  มกราคม  2548  แล้วนายเอกลงลายมือชื่อในกระดาษนั้นมอบกระดาษนั้นแก่นายข้อง  นายข้องมอบเงินแก่นายเอกไป  โดยกล่าวด้วยว่า  ช่วงที่ยืมไปนี้ไม่คิดดอกเบี้ย  เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกัน  เวลาผ่านไปนานหลายปี  นายข้องเห็นว่า  นายเอกยังไม่ได้ชำระเงินดังกล่าวคืนแก่ตน  นายข้องจึงมาปรึกษานักศึกษาว่า  จะทำอย่างไรจึงจะได้รับเงินต้นพร้อมอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากนายเอก  จึงให้นักศึกษาแนะนำนายข้องว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง  จึงจะเป็นไปตามที่นายข้องต้องการ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง  ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา  203  วรรคแรก  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

มาตรา  204  วรรคแรก ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกได้เขียนข้อความลงในกระดาษด้วยลายมือตนเองว่า  ข้าพเจ้านายเอก  ได้ยืมเงิน  100,000  บาท  ไปจากนายข้อง  เมื่อวันที่  10  มกราคม  2548  แล้วนายเอกลงลายมือชื่อในกระดาษนั้น  เห็นได้ชัดว่าข้อความในกระดาษซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แต่อย่างใด  ทั้งตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่านายเอกกับนายข้องได้ตกลงกันในเรื่องนี้ไว้ด้วย  กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  203  วรรคแรกที่ว่า  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้  เช่นนี้  นายข้องเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้นายเอกลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และถือได้ว่าหนี้เงินกู้รายนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  (ฎ. 917/2539)

สำหรับดอกเบี้ยนั้น  โดยหลักแล้วนายข้องจะคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้ยืมหาได้ไม่  เพราะนายข้องและนายเอกไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กัน  กรณีจึงไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา  7  ที่ว่า  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน  ซึ่งหมายความเฉพาะกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันหรือมีเจตนาที่จะเรียกดอกเบี้ยจากกัน  แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่านั้น  นายข้องจึงเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากนายเอกในอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปีตามมาตรา  7  ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม  หากนายข้องต้องการได้ดอกเบี้ย  นายข้องจะต้องให้คำเตือนนายเอกลูกหนี้ด้วยการทวงถามให้นายเอกชำระหนี้เงินกู้  100,000  บาท  หากนายเอกไม่ชำระหนี้หลังจากนายข้องเตือนแล้ว  นายเอกก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตามมาตรา  204  วรรคแรก  เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้และหนี้นั้นเป็นหนี้เงิน  นายข้องย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่นายเอกผิดนัดร้อยละ  7.5  ต่อปีได้ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ดังนั้น  ในกรณีนี้ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายข้องว่า  นายข้องมีสิทธิเรียกเงินต้น  100,000  บาท  คืนได้ทันที  เพราะถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วตามมาตรา  203  วรรคแรก  ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนั้น  นายข้องจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อนายข้องได้เตือนให้นายเอกชำระหนี้แล้ว  เมื่อนายเอกไม่ชำระหนี้ตามคำเตือนก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  204  วรรคแรก  นายข้องก็จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ตามมาตรา  224  วรรคแรก  ส่วนดอกเบี้ยก่อนหน้าที่นายเอกจะผิดนัด  นายข้องไม่สามารถเรียกให้นายเอกชำระได้  เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กันเลย

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายข้องดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  บริษัทคำพอง  จำกัด  รับจ้างสร้างหม้อต้มกลั่นพลังงานไอน้ำให้แก่โรงงานของบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  โดยจะต้องส่งมอบพร้อมติดตั้งและทดสอบการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์  ที่โรงงานของบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ในวันที่  2  กรกฎาคม  2551  แต่เนื่องจากหม้อต้มกลั่นนี้มีขนาดใหญ่มาก  จำเป็นที่บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  จะต้องจัดเตรียมพื้นที่โรงงานให้พร้อมสำหรับรองรับขนาดและน้ำหนักของหม้อต้มกลั่นนี้  โดยจะต้องให้แล้วเสร็จในวันที่  1  กรกฎาคม  2551  ต่อมา  บริษัทคำพอง  จำกัด

ได้สร้างหม้อต้มกลั่นเสร็จเมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2551  จึงได้แจ้งไปยังบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  พร้อมที่จะนำหม้อต้มกลั่นไปติดตั้งและทดสอบตามกำหนดในสัญญา  แต่ในวันนั้นบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ยังจัดเตรียมพื้นที่ไม่เสร็จ  และจะเสร็จอย่างเร็วในวันที่  10  สิงหาคม  2551  ต่อมาวันที่  1  กรกฎาคม  2551  บริษัทคำพอง  จำกัด  ทราบแน่นอนว่า

แม้จะนำหม้อต้มกลั่นไปส่งมอบตามกำหนดก็ไม่อาจติดตั้งและทดสอบการทำงานได้ตามสัญญา  จึงได้ตัดสินใจไม่นำหม้อต้มกลั่นไปติดตั้งตามกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  เป็นเหตุให้บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  คิดจะนำคดีไปฟ้องศาลกล่าวอ้างว่าบริษัทคำพอง  จำกัด  ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามกำหนด  และเรียกค่าเสียหาย  บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  จึงมาขอคำปรึกษาจากนักศึกษาว่า  บริษัทคำพอง  จำกัด  ต้องรับผิดชอบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  209  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด  ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  บริษัทคำพอง  จำกัด  จะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  การที่คู่สัญญาได้ตกลงให้บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  เจ้าหนี้ตระเตรียมพื้นที่โรงงานให้พร้อมโดยจะต้องให้แล้วเสร็จในวันที่  1  กรกฎาคม  2551  ย่อมถือเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้กำหนดเวลาไว้แน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด  หรือถือเป็นสัญญาที่ถือเอากำหนดเวลาและวิธีการส่งมอบเป็นข้อสาระสำคัญตามมาตรา  209  ในกรณีเช่นนี้บริษัทคำพองลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ก็ต่อเมื่อบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ได้ตระเตรียมพื้นที่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้เท่านั้น  ถ้าหากเจ้าหนี้มิได้กระทำการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กำหนดกันไว้  ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้และถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน  ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่  1  กรกฎาคม  2551  บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  เจ้าหนี้ยังจัดเตรียมพื้นที่ไม่เสร็จ  และจะเสร็จอย่างเร็วในวันที่  10  สิงหาคม  2551  จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ละเลยไม่รับชำระหนี้จากลูกหนี้ภายในกำหนดเวลาอันเป็นสาระสำคัญ  บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  จึงเป็นฝ่ายผิดนัดและผิดสัญญา  การที่บริษัทคำพอง  จำกัด  ตัดสินใจไม่นำหม้อต้มกลั่นไปติดตั้งตามกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  บริษัทคำพอง  จำกัด  ย่อมมีสิทธิทำได้ตามมาตรา  209  ที่กำหนดว่า  ลูกหนี้จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด  ดังนั้น  เมื่อบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  เจ้าหนี้เป็นผู้ผิดนัด  จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อให้บริษัท  คำพอง  จำกัด  รับผิดตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้  บริษัทคำพอง  จำกัด  จึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  (ฎ. 44/2532)

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ว่า  บริษัทคำพอง  จำกัด  ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

 

 

ข้อ  3  จันทร์ได้ยกที่ดิน  1  แปลง  ให้แก่อังคารโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมาอังคารได้ประพฤติเนรคุณ  โดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรง  จันทร์จึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้  แต่ปรากฏว่าก่อนจันทร์ยื่นฟ้องอังคารเรียกถอนคืนการให้เพียง  1  วัน อังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นให้แก่พุธ  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนและพุธรับไว้โดยสุจริต  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้วิธีใดเหมาะสมที่สุด  ที่ควรนำมาใช้กับเรื่องนี้  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เหมาะสมที่สุด  คือ  การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา  237  สำหรับหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลดังกล่าว  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2       ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า  จันทร์ (ผู้ให้)  ยกที่ดิน  1  แปลงให้แก่อังคารโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมาการที่อังคารได้ประพฤติเนรคุณโดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรง  กรณีเช่นนี้จันทร์จึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้นับแต่วันที่ทราบเหตุเนรคุณตามมาตรา  531  จันทร์จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และอังคารอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้

แต่ปรากฏว่าก่อนจันทร์จะยื่นฟ้องอังคารเรียกถอนคืนการให้เพียง  1  วัน  อังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นให้แก่พุธโดยเสน่หา  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนทั้งพุธก็รับดอนไว้โดยสุจริต  ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  ซึ่งเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  เมื่อกรณีเป็นการยกให้โดยเสน่หา  การจะขอเพิกถอนการฉ้อฉลได้โดยกฎหมายกำหนดแต่เพียงว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  ดังนั้นการที่อังคารลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวถึงเหตุที่จะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แม้พุธผู้ได้ลาภงอกจะสุจริตไม่รู้ถึงเหตุนั้นด้วย  จันทร์ (ผู้ให้)  ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างอังคารกับพุธได้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

สรุป  มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เหมาะสมที่สุด  คือ  การร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างอังคารกับพุธอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา  237  วรรคแรก

 

 

ข้อ  4  ก  และ  ข  เป็นเจ้าหนี้ร่วม  ในหนี้เงินสองแสนบาท  โดยมี  ค  เป็นลูกหนี้  หนี้รายนี้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้เอาไว้  ถ้าต่อมาปรากฏว่า  ก  แต่เพียงผู้เดียว  เตือนให้  ค  ชำระหนี้  และ  ค  ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้  หลังจากนั้น  ค  ไปชำระหนี้ให้  ข  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และ  ก  จะเรียกดอกเบี้ยจาก  ค  ฐานผิดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

มาตรา  298  ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือ  เจ้าหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้  แม้ทั้งนี้เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว

มาตรา  299  วรรคสาม  นอกจากนี้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  292, 293  และ  295   มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ  แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ร่วมนั้น  ลูกหนี้มีสิทธิเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่ลูกหนี้จะเลือก  แม้ว่าเจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งจะได้ฟ้องคดีเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไว้แล้วก็ตาม (มาตรา  298)

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การชำระหนี้ของ  ค  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ร่วมเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งก็ได้  ดังนั้นในกรณีนี้  ลูกหนี้จึงมีสิทธิชำระหนี้ให้แก่  ข  ได้  แม้  ข  จะมิได้เรียกให้  ค  ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ตาม  การที่  ค  ชำระหนี้ให้  ข  จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ก  จะเรียกดอกเบี้ยจาก  ค  ในระหว่างผิดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้เอาไว้ตามมาตรา  203  วรรคแรก  เจ้าหนี้จึงต้องเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนตามมาตรา  204  วรรคแรก  และเมื่อเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้ร่วม  เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งจะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ได้  เมื่อ  ก  แต่เพียงผู้เดียว  เตือนให้  ค  ชำระหนี้  และ  ค  ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ย่อมถือว่า  ค  ผิดนัดต่อ  ก  เจ้าหนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น  มิได้ผิดนัดต่อ  ข  ด้วย  ตามมาตรา  295  ประกอบมาตรา  299  วรรคสาม  ทั้งนี้เพราะถือว่าการผิดนัดดังกล่าวเป็นเรื่องท้าวถึงตัวเจ้าหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณแต่เฉพาะแก่เจ้าหนี้คนนั้น  เมื่อ  ค  ผิดนัดต่อ  ก  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีจาก  ค  ได้ตามมาตรา  224  วรรคแรก  จะอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้แก่  ข  แล้วหนี้จึงระงับสิ้นไป  ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ได้  เพราะการผิดนัดดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการชำระหนี้

สรุป  การชำระหนี้ของ  ค  ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  298  และ  ก  มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจาก  ค  ได้ตามมาตรา  224  วรรคแรก  295  และ  299  วรรคสาม        

Advertisement