การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  นายเมฆซึ่งเป็นชาวไร่มันสำปะหลังได้กู้ยืมเงินจากนายหมอกเพื่อนสนิทของตน  100,000  บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการเพาะปลูกมันสำปะหลังและได้ทำสัญญาเงินกู้ยืมไว้เป็นหลักฐาน  แต่เนื่องจากในขณะทำสัญญานายเมฆยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถชำระหนี้แก่นายหมอกได้เมื่อใด  คู่สัญญาจึงตกลงให้เว้นว่างในช่องกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้คืนไว้ก่อน  ต่อมาวันที่  15  มีนาคม  2554

นายเมฆได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงนายหมอกแจ้งว่า  จะชำระหนี้เงินกู้ให้นายหมอกเมื่อขายมันสำปะหลังได้มากพอ  ขณะนี้กำลังรวบรวมเงินอยู่  นายหมอกได้รับทราบข้อความในจดหมายดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้ตอบกลับ  ปรากฏว่าช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม  2554  เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วไปหมดทั้งจังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนายเมฆกับนายหมอก

ทรัพย์สินต่างๆและผลผลิตมันสำปะหลังของนายเมฆได้รับความเสียหายหมด  จนกระทั่งวันที่  29  กุมภาพันธ์  2555  นายหมอกได้ให้ทนายความยื่นฟ้องเรียกเงินกู้จำนวนดังกล่าวคืนจากนายเมฆ พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้ยืมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ  นายเมฆได้ให้การต่อสู้ว่า  หนี้เงินกู้รายนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระเพราะไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ก่อนฟ้อง

นายหมอกไม่เคยทวงถามก่อนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง  นอกจากนี้นายเมฆได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม  ทรัพย์สินเสียหายและผลผลิตก็ถูกน้ำท่วมเสียหายหมดการชำระหนี้จึงตกเป็นพ้นวิสัย  นายเมฆจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้แล้ว  ในส่วนของดอกเบี้ยนั้นเมื่อไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา  นายหมอกจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย  ขอให้ยกฟ้อง  ถ้านักศึกษาเป็นผู้พิพากษา  นักศึกษาจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง  ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา  203  วรรคแรก  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

มาตรา  204  วรรคแรก ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

มาตรา  219  วรรคหนึ่ง  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีดังนี้  การที่นายเมฆทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอก  โดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้นั้นแม้ต่อมานายเมฆจะส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงนายหมอกว่าหากขายมันสำปะหลังได้มากพอจะชำระหนี้เงินกู้คืนให้นายหมอก  ก็ถือไม่ได้ว่าคู่สัญญาได้ตกลงในเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนกันอย่างไร  ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่อาจทราบกำหนดเวลาชำระหนี้ได้  เพราะไม่อาจรู้ได้ว่านายเมฆจะขายผลผลิตและรวบรวมเงินได้พอแก่การชำระหนี้เมื่อใด  ดังนั้นนายหมอกเจ้าหนี้จึงสามารถเรียกให้นายเมฆลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และให้ถือว่าหนี้รายนี้ถึงกำหนดชำระแล้วตามมาตรา  203  วรรคแรก  (ฎ.  248/2509)  กล่าวคือ  นายหมอกมีอำนาจฟ้องให้นายเมฆชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องทวงถามก่อน

ส่วนกรณีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนทรัพย์สินและผลผลิตของนายเมฆเสียหายหมดนั้น  แม้จะทำให้นายเมฆไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ในเวลานี้  แต่ก็เป็นเหตุที่ยังไม่อาจถือได้ว่าทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยตามมาตรา  219  นายเมฆจึงยังไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้

สำหรับกรณีดอกเบี้ยนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่าในสัญญากู้ยืมได้กล่าวถึงหรือแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนาจะให้ดอกเบี้ยแก่กัน  นายหมอกผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากนายเมฆตั้งแต่วันทำสัญญากู้  กรณีไม่ต้องด้วย  ป.พ.พ.  มาตรา  7

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายหมอกให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลเรียกให้นายเมฆชำระหนี้เงินกู้รายนี้  ย่อมถือได้ว่า  การฟ้องคดีเป็นการทวงถามให้ชำระหนี้แล้ว  เมื่อนายเมฆไม่ยอมชำระหนี้  จึงถือว่านายเมฆผิดนัดชำระหนี้ตามมาตรา  204  วรรคแรก  ดังนั้น  นายหมอกจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับตั้งแต่วันที่นายเมฆผิดนัดคือนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่านายเมฆจะชำระหนี้เสร็จตามมาตรา  224  วรรคแรก

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษา  ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยคดีนี้ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  นายเอกเป็นผู้ให้เช่าห้องพักรายเดือน  นายโทได้ทำสัญญาเช่าห้องพักดังกล่าวเป็นเวลา  12  เดือน  ค่าเช่าเดือนละ  2,000  บาท ตกลงกันด้วยว่า  นายโทจะต้องโอนเงินผ่านระบบธนาคารเข้าบัญชีของนายเอกในวันที่  5  ของเดือนถัดไป  เมื่อเข้าพักในห้องเช่าแล้ว

นายโทคิดต้องการจะประหยัดค่าธรรมเนียมธนาคารในการที่ต้องโอนเงินค่าเช่าทุกเดือน  จึงรอจนเวลาผ่านไป  3  เดือน  จึงไปโอนเงินค่าเช่า  6,000  บาทเข้าบัญชีให้เอก  และเมื่อผ่านไปอีก  3  เดือนก็ทำเช่นเดิมอีก  นายเอกได้มาปรึกษานักศึกษาซึ่งเป็นทนายความว่าจะถือว่านายโทผิดสัญญาเช่าและเลิกสัญญาได้หรือไม่  นักศึกษาจะให้คำปรึกษาแนะนำนายเอกในเรื่องนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  208  วรรคแรก  การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด  ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง

มาตรา  215  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้ของมูลหนี้ไซร้  เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแนะนำแก่นายเอกดังนี้  การที่นายโทได้ทำสัญญาเช่าห้องพักจากนายเอกเป็นเวลา  12  เดือน โดยตกลงโอนเงินค่าเช่าห้องพักเป็นรายเดือนผ่านระบบธนาคารเข้าบัญชีของนายเอกภายในวันที่  5  ของเดือนถัดไปนั้น  ย่อมถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินตามมาตรา  204  วรรคสอง  นายโทจึงต้องชำระหนี้ตามวันที่กำหนด  คือ  ทุกวันที่  5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาเช่า

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายโทรอจนเวลาผ่านไป  3  เดือน  จึงรวมเงินค่าเช่าไปโอนเข้าบัญชีให้นายเอกครั้งหนึ่ง  และเมื่อผ่านไปอีก  3 เดือน  ก็ทำเช่นเดิมอีก  ดังนี้  ย่อมถือว่านายโทผิดสัญญาเช่าและผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เดือนแรกแล้ว  เพราะไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ตามมาตรา  204  วรรคสอง

และการที่นายโทรวมค่าเช่าหลายเดือนจึงไปโอนเงินครั้งหนึ่งนั้น  ยังถือเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามความประสงค์แท้จริงแห่งมูลหนี้  (มาตรา  215)  เพราะการชำระหนี้ของผู้เช่าจะสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้เช่าก็ด้วยการชำระค่าเช่าตามกำหนดเป็นรายเดือนทุกเดือน  ผู้เช่าจึงต้องชำระหนี้ต่อผู้ให้เช่าให้เป็นไปตามนั้นโดยตรงตามมาตรา  208  วรรคแรก  ดังนั้น  นายเอกจึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแนะนำนายเอกดังที่ได้กล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  3  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้  โดยมีสองเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงินกู้ยืมห้าแสนบาท  เพื่อมิให้หนึ่งได้รับการชำระหนี้  สองจึงได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่สามในราคาห้าแสนบาท  สามรับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้อันเป็นทางให้หนึ่งเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  ต่อมาในวันที่  10  มกราคม  2555  สามได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่สี่อีกทอดหนึ่งในราคาห้าแสนบาท

หลังจากสี่รับโอนไว้เรียบร้อยแล้วในวันที่  20  มกราคม  2555  สี่จึงได้ทราบความจริงว่าสองต้องการฉ้อฉลเจ้าหนี้  ปรากฏว่าในวันที่  30 มกราคม  2555  หนึ่งได้เป็นโจทย์ฟ้อง  ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างสองกับสาม  และระหว่างสามกับสี่ด้วย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายระหว่างสามกับสี่ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา  238  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น  ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก  อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

วินิจฉัย

 กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สองลูกหนี้ได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่สามนั้น  ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  และเมื่อสามผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้  โดยหลักแล้ว  หนึ่งเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างสองกับสามได้  ตามมาตรา  237  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อต่อมาปรากฏว่าสามได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวให้แก่สี่อีกทอดหนึ่ง  โดยสี่ได้รับการโอนขายบ้านพร้อมที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทน  และได้รับโอนมาโดยสุจริต  กล่าวคือ  ในขณะที่สี่รับโอนมานั้นสี่ไม่รู้ว่ามีการฉ้อฉลเกิดขึ้นมาก่อน  อีกทั้งสี่ได้รับการโอนขายมาก่อนที่หนึ่งผู้เป็นเจ้าหนี้จะยื่นฟ้องคดีขอเพิกถอน  ดังนั้น  สี่ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  238 ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายระหว่างสามกับสี่ไม่ได้

สรุป  ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายระหว่างสามกับสี่ไม่ได้

 

 

ข้อ  4  จันทร์และอังคารเป็นลูกหนี้ร่วม  กู้เงินของพุธไปสองแสนบาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี  กำหนดชำระหนี้วันที่  15  มกราคม 2555  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  จันทร์แต่ผู้เดียวนำเงินสองแสนบาทพร้อมดอกเบี้ยไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อพุธโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่พุธปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นับแต่วันที่พุธปฏิเสธไม่รับชำระหนี้จากจันทร์  พุธจะเรียกดอกเบี้ยจากอังคารต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อพุธโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่พุธปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น  ย่อมถือว่าพุธเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดต่อจันทร์ตามมาตรา  207  และมีผลทำให้พุธไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากจันทร์ได้ในระหว่างที่ตนผิดนัด  คือนับแต่วันที่  15  มกราคม  2555  เป็นต้นไป  ตามมาตรา  221

และเมื่อจันทร์เป็นลูกหนี้ร่วมกับอังคาร  ซึ่งตามมาตรา  294  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้น  อังคารจึงได้ประโยชน์จากการผิดนัดของพุธเจ้าหนี้ด้วย  พุธจึงเรียกดอกเบี้ยจากอังคารในระหว่างที่ตนผิดนัดไม่ได้เช่นกัน

สรุป  นับแต่วันที่พุธปฏิเสธไม่รับชำระหนี้จากจันทร์  พุธจะเรียกดอกเบี้ยจากอังคารต่อไปไม่ได้

Advertisement