การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายพิชัยกับนายเพชรได้ทำสัญญากันเอง  โดยนายพิชัยอนุญาตให้นายเพชรสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินของนายพิชัยได้ตลอดชีวิตของนายเพชร  หลังจากนายเพชรสร้างเรือนไม้สักอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้  5  ปี  นายพิชัยถึงแก่ความตาย  นายพิชิตบุตรของนายพิชัยได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่รับมรดกที่ดินและเรือนไม้สักดังกล่าว  โดยนายพิชิตไม่รู้เรื่องสัญญาระหว่างนายพิชัยกับนายเพชรมาก่อน  หลังจากนั้นนายพิชิตแจ้งให้นายเพชรออกไปจากที่ดินและเรือนไม้สักหลังนั้น   นายเพชรจึงอ้างสัญญาที่นายพิชัยทำไว้กับนายเพชร

แต่นายพิชิตต่อสู้ว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงไม่ผูกพันนายพิชิตผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและเรือนไม้สักมาโดยสุจริต  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก.      สัญญาระหว่างนายพิชัยกับนายเพชรมีผลผูกพันนายพิชิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.      ระหว่างนายพิชิตกับนายเพชร  ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

สัญญาที่นายพิชัยอนุญาตให้นายเพชรสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินของนายพิชัยได้ตลอดชีวิตของนายเพชร  และนายเพชรสร้างเรือนไม้สักอยู่ในที่ดินดังกล่าว  เป็นกรณีที่นายเพชรได้สิทธิเหนือพื้นดินบนที่ดินของนายพิชัย  อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  ตามมาตรา  1299  วรรคหนึ่ง  แต่เนื่องจากนิติกรรมฉบับนี้ไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  แต่ยังมีผลบังคับใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิ

สำหรับประเด็นที่นายเพชรสร้างเรือนไม้สักในที่ดินของนายพิชัย  โดยอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินตามสัญญานั้น  นายเพชรจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของนายพิชัย  และได้อาศัยสิทธินั้นสร้างโรงเรือนในที่ดินของนายพิชัย  เรือนไม้สักจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน  ตามมาตรา  146 นายเพชรจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักที่ตนสร้างขึ้น  ส่วนนายพิชัยไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักดังกล่าว

หลังจากนายเพชรสร้างเรือนไม้สักอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้  5  ปี  นายพิชัยถึงแก่ความตาย  นายพิชิตบุตรของนายพิชัยได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่รับมรดกที่ดินและเรือนไม้สักดังกล่าว  นายพิชิตจึงเป็นผู้สืบสิทธิของนายพิชัยเจ้ามรดก  ซึ่งต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก  ดังนั้น

ก  สัญญาระหว่างนายพิชัยกับนายเพชรย่อมมีผลผูกพันถึงนายพิชิตด้วย  แม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม  เพราะสัญญาดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิ  รวมถึงทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกด้วย  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข  นายเพชรมีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักดีกว่านายพิชิต  เพราะเรือนไม้สักไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน  นายพิชัยบิดาของนายพิชิตจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สัก  ดังนั้นนายพิชิตจึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนรับมรดกเรือนไม้สักดังกล่าวตามกฎหมาย  ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

 

ข้อ  2  นายรุ่งได้ยืมเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งของนายเรืองมาใช้งาน  เมื่อใช้งานเสร็จ  นายรุ่งไม่ยอมคืนแต่ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปขายที่ร้านไอทีเซ็นเตอร์  ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์มือสองและรับซ่อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาหลายปี  ร้านไอทีเซ็นเตอร์ให้ราคา  20,000  บาท  แก่นายรุ่งเป็นค่าคอมพิวเตอร์และนายรุ่งได้นำเงินไปฝากนายโรจน์เก็บไว้

ต่อมาในวันที่  1  ตุลาคม  2549  นายเรืองมาทวงคอมพิวเตอร์คืนจากนายรุ่ง  นายรุ่งอ้างว่าได้นำไปซ่อมไว้ที่ร้านไอทีเซ็นเตอร์  ขอให้นายเรืองไปรับคืนเอง  นายเรืองจึงไปที่ร้านไอทีเซ็นเตอร์  พบว่าร้านได้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้ว  เมื่อวันที่  5  ตุลาคม  ผู้ซื้อไปคือนายโรจน์ในราคา  23,000  บาท  ร้านปฏิเสธไม่รับทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นคอมพิวเตอร์ของผู้ใด  ขอให้นายเรืองไปติดตามทวงคืนจากนายโรจน์เอง

ดังนี้  เมื่อนายเรืองไปขอให้นายโรจน์คืนคอมพิวเตอร์แก่ตน  นายโรจน์จะไม่ยอมคืนได้หรือไม่  หรือหากจะต้องคืนนายโรจน์จะขอให้นายเรืองจ่ายเงินให้ตน  23,000  บาท  เพื่อแลกกับการส่งคืนคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

การที่นายโรจน์ซื้อทรัพย์สินคือเครื่องคอมพิวเตอร์มาจากร้านไอทีเซ็นเตอร์  ผู้ประกอบการจำหน่ายคอมพิวเตอร์มาหลายปี  จึงเป็นการซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น  ตามมาตรา  1332  ดังนั้นนายโรจน์แม้จะไม่มีสิทธิในคอมพิวเตอร์เครื่องนี้  และต้องคืนให้แก่นายเรืองผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงไป  แต่นายโรจน์ยังคงไม่ต้องคืนทรัพย์แก่นายเรืองจนกว่านายเรืองจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา  คือ  23,000  บาท  แก่นายโรจน์

 

ข้อ  3  นายดำอาศัยปลูกบ้านครอบครองอยู่บนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงบิดามาได้  3  ปี  นายแดงได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายฝากไว้กับนายเหลืองเป็นเวลา  7  ปี  ไม่ไถ่คืนจนเลยกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว  แต่นายดำก็ยังคงอาศัยครอบครองบนที่ดินแปลงนี้ตลอดมา  เมื่อหมดกำหนดเวลาไถ่คืนมาได้  1  ปี  นายเหลืองได้นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขต  นายดำคัดค้านการรังวัดที่ดินแปลงนี้มาได้  6 เดือน  นายเหลืองจึงได้ฟ้องขับไล่นายดำออกจากที่ดินแปลงนี้  ดังนี้ท่านเห็นว่านายเหลืองมีสิทธิฟ้องขับไล่นายดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และข้ออ้างของนายดำรับฟังได้เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

วินิจฉัย

นายดำอาศัยปลูกบ้านครอบครองอยู่บนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงบิดามาได้  3  ปี  นายแดงได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายฝากไว้กับนายเหลืองเป็นเวลา  7  ปี  ไม่ไถ่คืนจนเลยกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว  แต่นายดำก็ยังคงอาศัยครอบครองบนที่ดินแปลงนี้ตลอดมา  ถือว่านายดำครอบครองที่ดินแปลงนี้แทนนายเหลืองตลอดมา  จึงนับอายุความครอบครองปรปักษ์ไม่ได้  เมื่อหมดกำหนดเวลาไถ่คืนมาได้  1  ปี นายเหลืองได้นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขต  นายดำได้คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้  เป็นการที่นายดำได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือโดยเจตนาเป็นเจ้าของแล้ว  ตามมาตรา  1381  นายดำคัดค้านการรังวัดที่ดินแปลงนั้นมาได้  6  เดือน  นายเหลืองจึงได้ฟ้องขับไล่นายดำให้ออกจากที่ดินแปลงนี้  นายเหลืองจึงฟ้องขับไล่นายดำได้  เพราะนายดำครอบครองปรปักษ์มาได้เพียง  6  เดือน  และข้ออ้างของนายดำรับฟังไม่ได้เพราะการครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ  10  ปี  ตามมาตรา  1382

 

ข้อ  4  นายสำลีเป็นพ่อค้ารับซื้อของเก่า  นายสำลีได้มาซื้อบ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งที่ดินแปลงนั้นด้านหลังติดที่ดินของนายส้ม  นายสำลีจึงได้ใช้ที่ดินบางส่วนของนายส้มเก็บของเก่าที่นายสำลีรับซื้อมาและยังเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำในคลองสาธารณะที่อยู่ติดกับที่ดินของนายส้มเพื่อมาใช้ทำความสะอาดของเก่าเตรียมไว้ขายให้โรงงาน  โดยนายส้มไม่ทราบถึงการกระทำของนายสำลีเลยนายสำลีใช้ที่ดินและเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำมาได้สิบสองปี  นายส้มได้ห้ามนายสำลีไม่ให้เข้ามาในที่ดินของนายส้มไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น  แต่นายสำลีโต้แย้งว่าตนได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อโต้แย้งของนายสำลีรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ส่วนนายส้มจะฟ้องศาลห้ามไม่ไห้นายสำลีเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินของตนและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายสำลีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1374  ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน  เพราะมีผู้สอดแทรกเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้

มาตรา  193/29  เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

นายสำลีมีบ้านพร้อมที่ดินซึ่งที่ดินด้านหลังติดที่ดินของนายส้ม  นายสำลีจึงได้ใช้ที่ดินของนายส้มเก็บของเก่าที่นายสำลีซื้อมา  และยังเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำในคลองสาธารณะที่อยู่ติดกับที่ดินของนายส้มเพื่อมาใช้ทำความสะอาดของเก่าเตรียมไว้ขายให้โรงงาน  โดยนายส้มไม่ทราบถึงการกระทำของนายสำลีเลย  นายสำลีใช้ที่ดินและเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำมาได้สิบสองปี  นายส้มได้ห้ามนายสำลีไม่ให้เข้ามาในที่ดินของนายส้มไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น  แต่นายสำลีโต้แย้งว่าตนได้ภารจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ข้อโต้แย้งของนายสำลีฟังไม่ได้เพราะการใช้ที่ดินของนายส้มเก็บของเก่า  และยังเดินผ่านเข้าไปตักน้ำมาใช้ทำความสะอาดของเก่าเตรียมไว้ขายให้โรงงานไม่ใช่เพื่อประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา  1387  นายส้มจะฟ้องศาลห้ามไม่ให้นายสำลีเข้ามารบกวนการครอบครอง  ศาลสามารถยกระยะเวลาฟ้องปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้ว่าเลยระยะเวลา  1  ปีแล้วตามมาตรา  1374  เพราะเป็นระยะเวลาฟ้องร้องไม่ใช่สิทธิเรียกร้อง  ส่วนค่าสินไหมทดแทนต้องฟ้องร้องภายในหนึ่งปี  และเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องเป็นไปตามมาตรา  193/29

Advertisement