การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  คำแท้กับน้ำผึ้งทำสัญญากันเอง  โดยคำแท้อนุญาตให้น้ำผึ้งอาศัยอยู่ในบ้านของคำแท้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และไม่มีการกำหนดระยะเวลาแต่อย่างใด  เมื่อน้ำผึ้งเข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าว  น้ำผึ้งได้ต่อเติมห้องใหม่ขึ้นอีกหนึ่งห้องเพื่อใช้เป็นห้องนอนโดยไม่ได้บอกกล่าวคำแท้แต่อย่างใด

ต่อมาอีก  1  ปี  คำแท้ถึงแก่ความตาย  คำนางบุตรของคำแท้ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพร้อมกับบ้านหลังดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรม  ต่อจากนั้นคำนางได้ทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินพร้อมบ้านหลังนั้นให้กับแสงดาว  โดยแสงดาวไม่รู้เรื่องสัญญาระหว่างคำแท้กับน้ำผึ้งมาก่อน  หลังจากนั้นแสงดาวได้แจ้งให้น้ำผึ้งออกไปจากบ้านหลังนี้  น้ำผึ้งจึงอ้างสิทธิตามสัญญาที่ตนทำไว้กับคำแท้

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าแสงดาวจะให้น้ำผึ้งออกไปจากบ้านหลังดังกล่าวได้หรือไม่  และถ้าน้ำผึ้งต้องย้ายออกไปจากบ้านหลังนี้จริงๆ  น้ำผึ้งจะเรียกให้แสงดาวชดใช้เงินเป็นค่าต่อเติมห้องนอนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

การที่คำแท้กับน้ำผึ้งทำสัญญากันเอง  โดยคำแท้อนุญาตให้น้ำผึ้งอาศัยอยู่ในบ้านของคำแท้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และไม่มีการกำหนดระยะเวลาแต่อย่างใดนั้น  ถือว่าน้ำผึ้งเป็นผู้มีสิทธิอาศัยในโรงเรียนของคำแท้  อันเป็นการได้มาซึ่งสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  แต่เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  และไม่ผูกพันถึงบุคคลภายนอกแต่อย่างใด  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคหนึ่ง

ส่วนกรณีที่น้ำผึ้งต่อเติมห้องใหม่ขึ้นอีกห้องหนึ่งเพื่อใช้เป็นห้องนอนโดยไม่ได้บอกกล่าวคำแท้แต่อย่างใดนั้น  ห้องที่ต่อเติมนี้ถือเป็นส่วนควบของบ้าน  เพราะเป็นสารถสำคัญในการเป็นอยู่ของบ้าน  และไม่สามารถแยกออกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  144  วรรคหนึ่ง  และไม่เข้าข้อยกเว้นตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  146 เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่ติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราว  และการกระทำของน้ำผึ้งก็ไม่ได้รับความยินยอมจากคำแท้แต่อย่างใด  คำแท้เจ้าของบ้านจึงเป็นเจ้าของห้องที่ต่อเติมขึ้นด้วย  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  144  วรรคสอง

เมื่อคำแท้ถึงแก่ความตาย  คำนางบุตรของคำแท้ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรม  แล้วคำนางได้ทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินพร้อมบ้านหลังนั้นให้กับแสงดาว  โดยแสงดาวไม่รู้เรื่องสัญญาระหว่างคำแท้กับน้ำผึ้งมาก่อน  เช่นนี้  นิติกรรมระหว่างคำแท้กับน้ำผึ้งจึงไม่ผูกพันแสงดาวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด

ดังนั้น  แสงดาวจึงให้น้ำผึ้งออกไปจากบ้านของตนได้  และน้ำผึ้งไม่สามารถเรียกให้แสงดาวชดใช้เงินค่าต่อเติมห้องนอนแต่อย่างใด

 

ข้อ  2  นายดำกับนายขาวเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเดียวกัน  ต่อมาทั้งสองได้ปลูกบ้านลงในที่ดินคนละหลัง  หลังจากนั้นได้ไปทำการแบ่งโฉนดออกเป็นสองแปลง  โดยแบ่งจากพื้นที่คนละครึ่ง  เมื่อแบ่งแล้วปรากฏว่าชายคาบ้านของนายดำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาว  ส่วนถังส้วมซีเมนต์ของบ้านนายขาวก็รุกล้ำไปอยู่ในเขตที่ดินของนายดำ  นายดำและนายขาวต่างก็เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเข้ามาออกไปเสีย  แต่ก็ไม่มีใครยอมรื้อ  ทั้งสองจึงไปพบทนายความเพื่อขอคำแนะนำ

หากท่านเป็นทนายความ  จงให้คำแนะนำแก่นายดำและนายขาวโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  4  วรรคสอง  เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

มาตรา  1312  วรรคแรก  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหาเป็นเรื่องการสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่น  ซึ่งข้อเท็จจริงมิใช่กรณีของมาตรา  1312  เพราะเพราะเป็นการสร้างโรงเรือนก่อนมีการแบ่งโฉนดออกเป็น  2  แลง  แต่แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับมาตรา  4  วรรคสอง  ได้วางหลักของการอุดช่องว่างกฎหมายให้ใช้หลักกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  นั่นก็คือใช้มาตรา  1312

การสร้างโรงเรือนของนายดำและนายขาวเป็นการสร้างที่สุจริต  เพราะขณะก่อสร้างต่างฝ่ายต่างไม่รู้แนวเขตที่ดินจะอยู่แนวใด  ดังนั้น สำหรับชายคาบ้านของนายดำที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาว  ชายคาบ้านเป็นส่วนควบของโรงเรือน  นายดำจึงไม่ต้องรื้อถอนชายคาที่รุกล้ำ  แต่ต้องเสียเงินให้แก่นายขาวเป็นค่าใช้ที่ดินและนายขาวต้องไปจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่นายดำ

ส่วนถังส้วมซีเมนต์ของนายขาวรุกล้ำมาในที่ดินของนายดำ  เนื่องจากถังส้วมซีเมนต์ไม่ใช่ส่วนควบของโรงเรือน  นายขาวจึงต้องรื้อถอนถังส้วมให้ออกมาจากที่ดินของนายดำ

 

ข้อ  3  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามมีอาชีพทำการเกษตรเหมือนกัน  และมีที่ดินอยู่ติดกัน  เมื่อหลายีมาแล้วทั้งนายหนึ่ง  นายสอง และนายสามได้ร่วมกันออกเงินคนละเท่าๆกัน  ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อขุดบ่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรร่วมกัน  และยังร่วมกันออกเงินเท่าๆกันซื้อเครื่องสูบน้ำไว้ใช้ร่วมกันหนึ่งเครื่อง  ต่อมานายสามได้ขายที่ดินของตนให้นายดำ  จึงต้องการจะขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมโดยนำที่ดินที่สร้างบ่อออกขายเพื่อนำเงินของตนที่ออกไปคืนมา  และยังนำเครื่องสูบน้ำที่ร่วมกันซื้อเครื่องนั้นไปให้นายดำเช่าโดยทั้งนายหนึ่งและนายสองไม่ทราบ 

ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมอธิบายว่า  นายหนึ่งและนายสองจะเรียกคืนเครื่องสูบน้ำจากนายดำได้หรือไม่  และนายสามจะขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1359  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก

มาตรา  1361  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จะจำหน่ายส่วนของตน  หรือจำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้

แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย  จำนำ  จำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน

มาตรา  1363  วรรคหนึ่ง  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้  เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่  หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร  ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้

วินิจฉัย

นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  มีอาชีพทำการเกษตรเหมือนกัน  และมีที่ดินอยู่ติดกันเมื่อหลายปีมาแล้วทั้งนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ได้ร่วมกันออกเงินคนละเท่าๆกัน  ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อขุดบ่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรร่วมกัน  และยังร่วมกันออกเงินเท่าๆกัน  ซื้อเครื่องสูบน้ำไว้ใช้ร่วมกันหนึ่งเครื่อง  ต่อมานายสามได้ขายที่ดินของตนให้นายดำ  จึงต้องการจะขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินที่สร้างบ่อน้ำไม่ได้เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้น้ำในบ่อร่วมกันเป็นการถาวรตามมาตรา  1363  วรรคหนึ่งส่วนเครื่องสูบน้ำที่ร่วมกันซื้อเครื่องนั้นนายสามไปให้นายดำเช่าโดยทั้งนายหนึ่งและนายสองไม่ทราบสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์  ตามมาตรา  1361  วรรคสอง  นายหนึ่งและนายสองจะเรียกคืนเครื่องสูบน้ำจากนายดำได้ตามมาตรา  1359

 

ข้อ  4  นายฟ้าเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายฝนทำการเกษตรและปลูกบ้านอยู่มาหลายปีโดยได้จ่ายค่าเช่าทุกเดือนให้นายฝน  เมื่อนายฝนตายนายฟ้าทราบเรื่องจึงตั้งใจจะยึดเอาที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  และประกอบกับก็ไม่มีใครมาเก็บค่าเช่าจากนายฟ้าจนกระทั่งเวลาผ่านไป  6  เดือนหลังจากนายฝนตาย  ซึ่งนายฟ้าคิดว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตนแล้ว  นายน้ำบุตรชายนายฝนได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้จากนายฝน  ได้มาทวงค่าเช่าที่นายฟ้าค้างทั้งหมด  แต่นายฟ้าปฏิเสธและบอกกับนายน้ำว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  ตนจึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าให้ใคร  เมื่อนายฟ้าปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าเช่าให้นายน้ำมาได้  6  เดือน  นายน้ำจึงต้องการฟ้องขับไล่นายฟ้าให้ออกไปจากที่ดินแลงนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายน้ำจะฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายฟ้าได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย

นายฟ้าเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายฝนทำเกษตรและปลูกบ้านอยู่มาหลายปีโดยได้จ่ายค่าเช่าทุกเดือนให้นายฝน  เมื่อนายฝนตายนายฟ้าทราบจึงตั้งใจที่จะยึดเอาที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  และประกอบกับก็ไม่มีใครมาเก็บค่าเช่าจากนายฟ้าจนกระทั่งเวลาผ่านไป  6 เดือน  หลังจากนายฝนตาย  ซึ่งนายฟ้าคิดว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตนแล้ว  นายน้ำบุตรชายนายฝนได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้จากนายฝน  ได้มาทวงค่าเช่าที่นายฟ้าค้างทั้งหมด  แต่นายฟ้าปฏิเสธและบอกกับนายน้ำว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  นายฟ้าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วตามมาตรา  1381  เมื่อนายฟ้าปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าเช่าได้  6  เดือน  นายน้ำจึงต้องการฟ้องขับไล่นายฟ้าให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้  นายฟ้ายังเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแย่งการครอบครองจากนายน้ำได้เพียง  6  เดือน  ยังไม่ครบ  1  ปี  เพราเมื่อนายฝนตายแม้นายฟ้าไม่ได้ชำระค่าเช่าก็ยังไม่ถือว่านายฟ้าแย่งการครอบครองจากนายฝนหรือนายน้ำตามมาตรา  1381  นายน้ำจะฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายฟ้าได้  ตามมาตรา  1375

Advertisement