การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  นายสมบูรณ์ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ซื้อสายสร้อยคอทองคำเส้นหนึ่งจากร้านค้าของนางสมศรีราคา 38, 000 บาทโดยไม่ได้บอกให้นายสมบัติบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยธรรมของตนทราบ ต่อมาอีก 7 วัน นายสมบัติบิดาของนายสมบูรณ์ทราบเรื่อง จึงแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำดังกล่าว โดย

ก.    นายสมบัติไปที่ร้านของนางสมศรีและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำต่อนางสมศรีกรณีหนึ่ง

ข.    นายสมบัติทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวแล้วมอบให้นายสมพงษ์ถือไปส่งให้นางสมศรีที่ร้านของนางสมศรี แต่ปรากฏว่านางสมศรีไมอยู่ นายสมพงษ์จึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นายทองดีเจ้าของร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางสมศรีรับไว้แทน อีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรี มีผลตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 168 “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์การที่นายสมบัติผู้แทนโดยชอบธรรมไปที่ร้านนางสมศรีและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรี กรณีนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าจึงถือได้ว่านางสมศรีได้ทราบการแสดงเจตนาบอกล้างของนายสมบัติแล้วตามมาตรา 168 ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวจึงมีผลตามกฎหมายแล้ว

สรุป  การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวมีผลตามกฎหมายแล้ว

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคแรก การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ นายสมบัติทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับ นางสมศรีแล้วมอบให้นายสมพงษ์ถือไปส่งให้นางสมศรีที่ร้านของนางสมศรี แต่ปรากฏว่านางสมศรีไม่อยู่ นายสมพงษ์จึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นายทองดีเจ้าของ ร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางสมศรี รับไว้แทน  ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรีจึงไม่มีผลทางกฎหมาย

สรุป  การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรีไม่มีผลตามกฎหมาย

 

ข้อ 2.    ข้อสอบข้อนี้เป็นของวิชา LA 211 (LW 303) จึงให้ตัดออก (ยกประโยชน์ให้แก่นักศึกษา)

พิจารณาแล้ว จากคำแนะนำด้านบนที่กล่าวว่า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)  ดังนั้น  เมื่อมีการยกประโยชน์ให้กับนักศึกษาที่เข้าทำการสอบ  วิชา   LAW 1003 (LA 103) (LW 203)  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ประจำภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา 2552

จึงหมายถึง  ทุกๆคนที่เข้าทำการสอบจะได้คะแนนข้อนี้ไปโดยอัตโนมัติ  คือ  25  คะแนนเต็ม  ยินดีด้วยครับ


ข้อ 
3.

ก.  เงื่อนไขคืออะไร และอาจแบ่งออกได้กี่ประเภท จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ                     

ข. นายแดงทำสัญญาจะขายสุนัขตัวหนึ่งของตนให้แก่นายดำ ราคา 20, 000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรอให้สุนัขของนายแดงอีกตัวหนึ่งซึ่งกำลังตั้งท้องตกลูกเสียก่อน ต่อมานายดำได้ไปพบกับนายฟ้า นายฟ้าได้เสนอขายสุนัขของตนซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสุนัขตัวที่นายดำตกลงซื้อกับนายแดง แต่นายฟ้าได้เสนอราคาสุนัขตัวดังกล่าวในราคา 5,000 บาท นายดำไม่ต้องการซื้อสุนัขจากนายแดงอีกต่อไป จึงจ้างนายโหดให้ไปลอบวางยาเบื่อสุนัขที่กำลังตั้งท้องของนายแดงจนถึงแก่ความตาย เพื่อมิให้เงื่อนไขของนายแดงสำเร็จ

จงวินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อขายสุนัขระหว่างนายแดงกับนายดำ มีผลอย่างไรตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 182 “ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลสิ้นผลต่อเมื่อเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 183 วรรคแรกและวรรคสอง นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง   นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

อธิบาย

เงื่อนไข” คือ ข้อกำหนดที่ทำให้นิติกรรมมีผลสมบูรณ์บังคับใช้กันได้หรือทำให้นิติกรรมสิ้นสุดลง ใช้บังคับไม่ได้อีกต่อไป โดยข้อกำหนดนี้อาศัยเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ดังนั้น หากเหตุการณ์ที่กำหนดเกิดขึ้น ก็ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นผลใช้บังคับได้ทันที หรือทำให้นิติกรรมนั้นสิ้นผลทันที

ตัวอย่างเช่น นายแดงทำสัญญากับนายดำว่า นายแดงจะขายรถยนต์ของตนให้กับนายดำ ในราคา 300, 000 บาท ถ้าหากนายดำทำการสมรสกับน้องสาวนายแดงภายในเวลา 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไข เพราะการที่ดำจะสมรสกับน้องสาวของแดงหรือไม่ เป็นเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน

สำหรับประเภทของเงื่อนไข แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.     เงื่อนไขบังคับก่อน   คือ เงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมมีผลใช้บังคับได้ทันทีที่มีเงื่อนไขนั้นสำเร็จ เช่น ตามตัวอย่างข้างต้น เมือนายดำสมรสกับน้องสาวนายแดง ย่อมถือว่าเงื่อนไขสำเร็จแล้ว ทำให้สัญญานั้นใช้บังคับได้ทันที เงื่อนไขนี้เรียกว่าเงื่อนไขบังคับก่อน

2.     เงื่อนไขบังคับหลัง   คือ เงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมที่ทำไว้ต่อกันสิ้นผลหรือบังคับระงับใช้บังคับกันไม่ได้อีกต่อไปในทันทีที่เงื่อนไขเกิดขึ้นสำเร็จ เช่น นายแดงให้นายดำเช่าบ้านของตนโดยมีเงื่อนไขว่าหากนายดำย้ายไปรับราชการที่ต่างจังหวัดเมื่อใดให้สัญญาเช่าสิ้นสุดทันที เมื่อนายดำเข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวได้ 2 ปี ทางราชการมีคำสั่งย้ายนายดำไปทำงานที่จังหวัดระยอง ดังนี้ สัญญาเช่าบ้านดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลงเพราะเงื่อนไขที่กำหนดได้เกิดขึ้นแล้ว

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 182 “ข้อความอันใดบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 186  วรรคแรก  ถ้า ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดเสียเปรียบและคู่กรณีฝ่าย นั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นไม่สำเร็จให้ถือว่า เงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

ตาม อุทาหรณ์ ข้อตกลงระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนเพราะเป็นข้อบังคับที่ ทำให้นิติกรรมระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นผลเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตซึ่งคือการคลอดลูกสุนัขอีกตัวของนายแดง

เมื่อความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะทำให้นายดำเสียเปรียบ เพราะต้องซื้อสุนัขในราคาสูง และนายดำได้กระทำการโดยไม่สุจริตด้วยการจ้างนายโหดให้ไปวางยาเบื่อสุนัขที่กำลังตั้งท้อง จนเป็นเหตุให้เงื่อนไขการคลอดนั้นไม่สำเร็จ เพราะสุนัขที่กำลังตั้งท้องถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะมีการคลอด กฎหมายให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว และเมื่อเงื่อนไขนั้นได้สำเร็จแล้วทำให้นิติกรรมระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นผล นิติกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุป   นิติกรรมการซื้อสุนัขระหว่างนายแดงกับนายดำมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 


ข้อ 
4.   นายศรีกรุงอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่งจดหมายเสนอขายพระสมเด็จวัดระฆังองค์หนึ่งของตนมูลค่าจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่นายศรีตรังซึ่งอยู่ที่จังหวัดตรัง โดยแจ้งว่าหากนายศรีตรังตกลงซื้อก็ให้ตอบให้ทราบภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีตรังได้รับจดหมายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 และส่งจดหมายตอบตกลงซื้อพระสมเด็จฯ องค์นั้นถึงนายศรีกรุงทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากส่งจดหมายแล้วนายศรีตรังถูกศาลสั่งให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถในวันต่อ มา นางศรีสวยคู่สมรสของนายศรีตรังได้โทรศัพท์แจ้งข่าวดังกล่าวให้แก่นายศรีกรุง ทราบในวันเดียวกัน 

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของทางการไปรษณีย์ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดส่งจดหมายของ นายศรีตรังไปยังจังหวัดหนองคายแทนที่จะส่งมาจังหวัดตรังตามปกติ เพราะความประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้จดหมายของนายศรีตรังซึ่งตาม ปกติควรมาถึงบ้านนายศรีกรุงภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 กลับมาถึงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีกรุงเห็นว่าจดหมายของนายศรีตรังมาถึงล่วงเวลาที่กำหนดในจดหมายของตน ทั้งนายศรีตรังก็ยังตกเป็นคนไร้ความสามารถตามกฎหมายไปแล้ว  นายศรีตรังจึงไม่น่าจะต้องการพระสมเด็จฯ องค์นั้นอีกต่อไป จึงเปลี่ยนใจไม่อยากขายพระสมเด็จฯ องค์นั้นอีก

นายศรีกรุงจึงไม่สนใจที่ติดต่อนางศรีสวยทายาทของนายศรีตรังในเรื่องการซื้อขายนั้นอีก ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางศรีสวยซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของนายศรีตรังจะเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้แก่ตนซึ่งตนพร้อมจะชำระราคาให้ตอบแทนโดยนางศรีสวยอ้างว่าสัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์นั้นได้เกิดขึ้นแล้วได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาเมื่อส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ   ควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดนพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะบอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

มาตรา 361 วรรคแรก อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายศรีตรังส่งจดหมายตอบตกลงซื้อพระสมเด็จวัดระฆังไปยังนายศรีกรุง เป็นการแสดงเจตนาทำคำสนองต่อนายศรีกรุงผู้เสนอซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แม้ได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว นายศรีตรังผู้แสดงเจตนาทำคำสนองได้ถูกศาลสั่งให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถก่อน การแสดงเจตนานั้นไปถึงนายศรีกรุง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 360 การแสดงเจตนาทำคำสนองที่ได้ส่งออกไปแล้วนั้นจึงไม่เสื่อมเสียไปตามมาตรา 169 วรรคสอง

และแม้การแสดงเจตนานั้นไปถึงนายศรีกรุงผู้รับการแสดงเจตนาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่นายศรีกรุงกำหนดให้นายศรีตรังทำคำสนองก็ตาม แต่โดยที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งปกติควรจะมาถึงนายศรีกรุงภายในเวลากำหนด คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อนายศรีกรุงผู้รับคำสนองมิได้บอกกล่าวแก่นางศรีสวยโดยพลันว่าคำสนองมาถึงเนิ่นช้า ก็ต้องถือว่าคำสนองนั้นมิได้ล่วงเวลาตามมาตรา 358 วรรคสอง สัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์ดังกล่าวระหว่างนายศรีกรุงและนางศรีสวยคู่สมรสของนายศรีตรังจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตามมาตรา 361 วรรคแรก นางศรีสวยจึงเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้นางศรีสวย โดยรับเงินจำนวน 1 ล้านบาท ไปจากนางศรีสวยได้

สรุป   นางศรีสวยเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้นางศรีสวย โดยรับเงินจำนวน ล้านบาท ไปจากนางศรีสวยได้

Advertisement