การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ก.  ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      นายสีป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก  เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครสวรรค์  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินของตนแปลงหนึ่งให้แก่นายแสงซึ่งอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง  ในราคา  สามล้านบาท  โดยนายสีได้ระบุไปในคำเสนอนั้นด้วยว่า  ข้อเสนอนี้มีผลในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  หลังจากที่นายสีส่งจดหมายฉบับนั้นไปได้  5  วัน  นายสีถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  การแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินของนายสีมีผลในกฎหมายประการใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น  ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย หลักกฎหมายดังกล่าวเป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

1       ตายหรือ

2       ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือ

3       ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

มาตรา  360 บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง…

วินิจฉัย

มาตรา  169  วรรคสอง  ซึ่งได้อธิบายในข้อ  ก  นั้น  มีข้อยกเว้น  2  กรณี  ตามที่บัญญัติไว้ใน  มาตรา  360  ซึ่งกรณีหนึ่ง  คือ  ในการแสดงเจตนาทำคำเสนอ  ถ้าผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ว่าหากภายหลังจากที่ได้แสดงเจตนาทำคำเสนอไปแล้ว  ผู้เสนอตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ให้คำเสนอของเขาเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป  ก็ให้เป็นไปตามเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดง

นายสีซึ่งเป็นผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ในคำเสนอขายที่ดินด้วยว่า  คำเสนอของเขามีผลผูกพันในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ดังนั้นเมื่อนายสีถึงแก่ความตายหลังจากได้ส่งจดหมายเสนอขายที่ดินไปแล้ว  จึงมีผลให้คำเสนอขายที่ดินของนายสีเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป  ไม่มีผลผูกพันนายสีอีกต่อไป

 

ข้อ  2  คนไร้ความสามารถเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  175

ถามว่า  คนไร้ความสามารถนั้นจะใช้สิทธิบอกล้างได้เมื่อใด  และจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาใด  อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  175  โมฆียะกรรมนั้น  บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว…มาตรา  179  การให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น  จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ… จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  คนไร้ความสามารถจะใช้สิทธิบอกล้างได้  เมื่อพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ  ตามมาตรา  175(2)  กล่าวคือ  เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการเป็นคนไร้ความสามารถ  และจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา  181  กล่าวคือ  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลา  1  ปี  นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  ส่วนเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ของคนไร้ความสามารถนอกจากกรณีต้องพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ  อันเป็นเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว  ตามมาตรา  179  วรรคหนึ่ง  คนไร้ความสามารถนั้นยังต้องได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมที่ตนเองทำขึ้นด้วย  ตามมาตรา  179  วรรคสอง  กำหนดระยะเวลา  1  ปี  จึงเริ่มนับเมื่อนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม  คนไร้ความสามารถจะบอกล้างโมฆียกรรมมิได้  เมื่อพ้นเวลา  10  ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

 

ข้อ  3  ก.  การนับอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไป  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/12  ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด  จงอธิบาย

ข.      เมื่อวันที่  3  กุมภาพันธ์  2547  นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำจำนวน  50,000  บาท  ดังนี้  อยากทรายว่าอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปของหนี้รายนี้จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด  ในกรณีดังต่อไปนี้ 

1)    นายดำได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา

2)    นายดำไม่ได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนแต่ตกลงกันว่า  ถ้านายแดงมีเงินเมื่อใดก็ให้นำมาชำระคืนได้เมื่อนั้น

ธงคำตอบ

มาตรา  193/12  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/3  วรรคสอง  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็น…ปี… มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน…

วินิจฉัย

การเริ่มนับอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปตามมาตรา  193/12  แยกออกได้เป็น  2  กรณีคือ

1       กรณีเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

กฎหมายให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่เมื่อใดอายุความก็เริ่มนับตั้งแต่เมื่อนั้น  กล่าวคือ

1)    สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งมีกำหนดเวลาชำระหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้ (โดยนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตาม ป.พ.พ.  193/3 วรรคสอง)

2)    สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้  ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้โดยพลัน  ในกรณีเช่นนี้อายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม (โดยนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตาม ป.พ.พ.  193/3 วรรคสอง)

2       กรณีเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

กฎหมายให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น  ในกรณีที่นิติกรรมกำหนดให้ลูกหนี้งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  หากลูกหนี้ฝ่าฝืนข้อกำหนดในนิติกรรมอายุความเริ่มนับตั้งแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปของหนี้รายนี้จะเริ่มนับดังนี้

1       นายดำได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  การทำสัญญากู้รายนี้มีกำหนดเวลาชำระหนี้  นายดำเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ตั้งแต่วันที่หนี้ถึงกำหนด  1  ปี  คือวันที่  3  กุมภาพันธ์  2548  อายุความจึงเริ่มนับ  (ตามมาตรา  193/12) ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น  คือวันที่  4  กุมภาพันธ์  2548  (ตามมาตรา  193/3 วรรคสอง)

2       นายดำไม่ได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนแต่ตกลงกันว่า  ถ้านายแดงมีเงินเมื่อใดก็ให้นำมาชำระ  การตกลงเช่นนี้เป็นการทำสัญญากู้โดยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  นายดำเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรมคือวันที่  3  กุมภาพันธ์  2547  (ตามมาตรา  193/12)  และให้เริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น  คือวันที่  4  กุมภาพันธ์  2547  (ตาม มาตรา  193/3  วรรคสอง)

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  11  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2547  นายพิชิตได้ไปที่สำนักงานบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  และได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทว่า  ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  80  ตัน  แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ  ต่อมาอีกสามวัน  นายพิชัยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  ได้ทำหนังสือตอบไปยังนายพิชิตว่า  บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่ท่านจำนวนตามที่ท่านเสนอ  ราคาตันละ  80,000  บาท  ทั้งนี้ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน  ดังนี้  สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายพิชิตกับบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  เกิดขึ้นอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะ  2  ประการคือ

1       เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2       มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที

วินิจฉัย

นายพิชิตได้แสดงเจตนาโดยอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัท  สินแร่ไทยจำกัดว่า  ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  80  ตัน  แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ”  การแสดงเจตนาในส่วนแรกที่ว่าข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  80  ตัน  เป็นข้อความที่ไม่แน่นอน  จึงไม่เป็นคำเสนอ  แต่ข้อความในส่วนต่อไปที่ว่า  แต่จะซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน  และมีความมุ่งหมายว่าถ้าอีกฝ่ายหนึ่งสนองตอบตกลง  สัญญาเกิดขึ้นทันที  ข้อความในส่วนหลังนี้จึงเป็นคำเสนอของนายพิชิตซึ่งเสนอซื้อแร่ดีบุกจาก  บริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  จำนวน  20  ตัน  เมื่อนายพิชัยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  ได้ทำหนังสือตอบตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่นายพิชิตเต็มจำนวนตามที่นายพิชิตเสนอ  จึงเกิดสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายพิชิตกับบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  จำนวน  20  ตัน

Advertisement