การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ 

ข้อ 1  ก. ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด

ข .นายสมบัติซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพ มหานครให้แก่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคาห้าล้านบาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  5  วัน

นายสมบัติถูกศาลแพ่งสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายอาทิตย์ได้ทราบข่าวว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  แต่อยากได้บ้านหลังนั้น  นายอาทิตย์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายสมบัติ  ณ  ที่อยู่ของนายสมบัติ  นางสมศรีซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ดังนี้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 ก.      มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย  หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

(1) ตาย

(2) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือ

(3) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่า  การแสดงเจตานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

ข.      มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่า…ก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัย 

กรณีตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่าก่อนที่นายอาทิตย์จะทำคำสนองตอบตกลงซื้อบ้านของนายสมบัติ  นายอาทิตย์ได้รู้อยู่แล้วว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  กรณีต้องตามข้อยกเว้นในมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  169  วรรคสอง  มาใช้บังคับ  จึงมีผลให้การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายสมบัติเป็นอันเสื่อมเสียไป

กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่มีคำเสนอของนายสมบัติ  มีแต่เพียงคำสนองของนายอาทิตย์  ถึงแม้นางสมศรีผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายำสนองของนายอาทิตย์ไว้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ก็ไม่เกิดขึ้น

สรุป  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ไม่เกิดขึ้น

 


ข้อ  2  เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2541  นาย ก. คนไร้ความสามารถได้ให้แหวนเพชรหนัก  1  กะรัต แก่นาย ข. หลังจากนั้นอีก 6 ปี  นาย ก. หายจากอาการวิกลจริต  ผู้อนุบาลได้ร้องขอและศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้นาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 31  จนกระทั่งเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2551  นาย ก.  จำได้ว่าตนได้ให้แหวนเพชรแก่นาย  ข.  ประสงค์จะบอกล้างโมฆียกรรมนี้   จึงมาปรึกษาให้ท่านแนะนำนาย ก. ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  179  วรรคสอง  บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้น  ภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

วินิจฉัย

กำหนดการบอกล้างโมฆียะกรรม  ตามมาตรา  181  นั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  ซึ่งกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น  ในกรณี นาย ก.  คนไร้ความสามารถคือ วันที่  1  ตุลาคม  2551  ซึ่งเป็นวันที่นาย ก.  ได้รู้เห็น(จำได้ว่า)  ซึ่งโมฆียกรรมนั้น  หลังจากที่ศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วเมื่อประมาณ  4  ปี  ที่ผ่านมาตามมาตรา  179  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  เวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้นั้นต้องไม่เกดินเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น  ซึ่งในวันที่  1  ตุลาคม  2551  เป็นวันที่ครบสิบปีพอดี

ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นาย  ก.  ต้องใช้สิทธิบอกล้างในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ถ้าเกินกว่านั้นจะพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำโมฆียะกรรมขึ้น

สรุป  นาย ก.  ต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในวันที่  1  ตุลาคม  2551

 


ข้อ 3  เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์  2548  นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษม  จำนวน 3 เครื่องเป็นเงิน  250,000  บาท  โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  มีนาคม  2548  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระ  นายเกษมได้ทวงถามตลอดมา  จนกระทั่งวันที่  1  มีนาคม  2550  ซึ่งเหลือเวลาอีก  9  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกเงินค่าซื้อของเชื่อ  ต่อมาวันที่  7  มีนาคม  2550  นายเฉลิมได้ไปขอร้องให้นายเกษมถอนฟ้องและได้ทำหนังสือให้นายเกษมไว้  1  ฉบับ  มีใจความยอมรับว่าเป็นหนี้นายเกษมจริงและจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  เมษายน  2550  นายเกษมจึงไปถอนฟ้องคดีครั้นถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระให้ตามที่ตกลงกันไว้  นายเกษมจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  30  กันยายน  2551  นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง  

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้  ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า…เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้…

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี… เพื่อให้ชำระหนี้มาตรา  193/17  วรรคแรก  ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามาตรา 193/14(2)  หากคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง…  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษมเป็นเงินจำนวน  250,000  บาท  โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  มีนาคม  2548  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  นายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระจนกระทั่งวันที่  1  มีนาคม  2550  ซึ่งเหลือเวลาอีก  9  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  ตามมาตรา  193/34(1)  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(2)  แต่ปรากฏว่า  คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะนายเกษมไปถอนฟ้องคดีให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา 193/17  วรรคแรก  อายุความจึงนับต่อไป  ในวันที่ 7  มีนาคม  2550  นายเกษมได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่นายเกษม  1  ฉบับ  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(1)  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่  7  มีนาคม  2550  และจะครบ  2  ปี  ในวันที่  7  มีนาคม  2552  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  30  กันยายน  2551  คดีจึงไม่ขาดอายุความ

สรุป  นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง  ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมจึงฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายอู่ทองตกลงขายรถยนต์กระบะคันหนึ่งให้แก่นายพิชัย  
800,000 บาท  โดยนายพิชัยได้ชำระเงินค่ารถยนต์เป็นเงินสด  จำนวน  200,000  บาท  ในวันทำสัญญานายอู่ทองได้ส่งมอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซึ่งตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่นายพิชัยแล้ว  แต่เนื่องจากรถยนต์กระบะของนายอู่ทองยังผ่อนชำระกับนายดุสิตไม่หมด   นายอู่ทองจึงยังไม่ได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวจากนายดุสิตแต่อย่างใด  ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกำหนดเงื่อนไขให้กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังนายพิชัยจนกว่านายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด  และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว  

ในระหว่างนั้นปรากฏว่า  ได้เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณชุมชนใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัย  แล้วเพลิงได้ลุกลามมาไหม้บ้านของนายพิชัยเสียหายหมดทั้งหลัง  รวมทั้งรถยนต์กระบะที่นายพิชัยได้รับมอบไว้ด้วย  จนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้เลย

ดังนี้  นายอู่ทองจะมีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอู่ทองหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

มาตรา  371  วรรคแรก  บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้  ท่าน มิให้ใช้บังคับถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์อันเป็น วัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างนายอู่ทองและนายพิชัยเป็นการทำ สัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  เมื่อ ปรากฏว่ารถยนต์ที่นายพิชัยได้ครอบครองไว้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดโดยไฟลุกลามมา จากชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัยด้วยเหตุอันโทษใครไม่ได้  ก่อนที่นายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด  และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือถูกทำลายลงในระหว่างเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ  กรณีนี้จะนำบทบัญญัติของมาตรา  370  มาใช้บังคับไม่ได้  การสูญหรือเสียหายนั้นหาตกเป็นพับแก่นายพิชัยหรือเจ้าหนี้ไม่

หากแต่นายอู่ทองลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายต้องเป็นผู้รับผลแห่งภัยพิบัติเอง  นายอู่ทองจึงหามีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคาค่ารถยนต์กระบะส่วนที่เหลืออยู่ได้ไม่  ตามมาตรา  371  วรรคแรก  อีกทั้งกรณีนี้ไม่จำต้องอ้างมาตรา  372  ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอื่นด้วย

สรุป  นายอู่ทองไม่มีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอู่ทอง

Advertisement