การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   นายโฉดทราบว่านายธรรมต้องการเช่าพระสมเด็จวัดกระดิ่งองค์หนึ่ง จึงบอกกับนายธรรมว่านายเฉยมีพระที่นายธรรมต้องงการเช่าและตนสามารถนัดให้นายเฉยมาพบกับนายธรรมเพื่อทำสัญญาเช่าพระดังกล่าวได้ แต่แท้จริงแล้วนายโฉดทราบว่าว่าพระที่นายเฉยเป็นเจ้าของเป็นพระที่ทำขึ้นเลียนแบบพระสมเด็จวัดกระดิ่งเท่านั้น

นายธรรมได้ติดต่อขอดูพระของนายเฉยแล้วเห็นว่าเป็นพระที่สวยงามเชื่อว่าเป็นพระวัดกระดิ่งที่แท้จริงจึงเช่ามาในราคา 1 ล้านบาท โดนนายเฉยไม่ทราบว่านายโฉดบอกกับนายธรรมว่าพระของตนเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง ต่อมานายธรรมทราบว่าพระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่งแต่เป็นพระเลียนแบบ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา 159 “การแสดงเจตนาเพราะผู้ถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่เป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธรรมได้ทำนิติกรรมโดยการทำสัญญาเช่าพระกับนายเฉย เพราะหลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นายโฉดกล่าวอ้างว่าพระของนายเฉยเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง จึงถือว่านายธรรมได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้กลฉ้อฉลดังกล่าว นายธรรมก็คงจะมิได้ทำสัญญาเช่าพระองค์นั้น (มาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง)

และตามอุทาหรณ์เมื่อกลฉ้อฉลนั้น เป็นกลฉ้อฉลจากบุคคลภายนอก ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย (มาตรา 159 วรรคสาม) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเฉยไม่ทราบถึงกลฉ้อฉลดังกล่าว ดังนั้นสัญญาเช่าพระระหว่างนายธรรมกับนายเฉยจึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกล ฉ้อฉล

แต่อย่างก็ตาม เมื่อต่อมานายธรรมทราบว่า พระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง แต่เป็นพระเลียนแบบ ซึ่งถ้าตนได้ทราบตั้งแต่แรกก็จะไม่ทำสัญญาเช่าพระองค์นี้แน่นอน ดังนั้นนายธรรมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม นิติกรรมในรูปของสัญญาเช่าพระดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 157

สรุป   สัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา 157

 


ข้อ 
2.   คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมไปมีผลเป็นโมฆียะ ดังนี้ ใครบ้างที่จะมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และจะบอกล้างได้เมื่อใด อธิบายพอให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 175 “โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

1. บุคคล ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความ สามารถก็ได้ถ้าได้รับความนิยอมของผู้พิทักษ์

ถ้าบุคคลผู้นิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

อธิบาย

 กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรม และนิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 ได้กำหนดผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะไว้ดังนี้ คือ

1.     คนเสมือนไร้ความสามารถ มีสิทธิบอกล้างโมฆียะนั้นได้ เมื่อได้พ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือาจจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้ารับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

2.       ผู้พิทักษ์ ซึ่งสามารถบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ เมื่อตนได้รู้ถึงโมฆียะกรรมนั้นแล้ว

3.     ทายาทของคนเสมือนไร้ความสามารถ มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถได้ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น

 


ข้อ 
3.   นายแดงได้ขับรถยนต์ชนนายดำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 นายแดงได้นำนายดำไปส่งโรงพยาบาลโดยไม่ได้ออกค่ารักษาพยาบาลให้ นายดำได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 10 วัน ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปจำนวน 200,000 บาท ต่อมานายดำได้มาเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายแดง แต่นายแดงไม่มีเงินจึงได้ผัดผ่อนเรื่อยมา

จนกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 (ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน จะครบอายุความ 1 ปี) นายแดงได้ทำหนังสือให้นายดำไว้ฉบับหนึ่ง ว่าตนได้ขับรถยนต์ชนนายดำจริง และตกลงจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่นายดำเป็นจำนวนเงิน 180,000 บาท แต่ขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ละ 10,000 บาท

งวดแรกจะชำระให้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ 18 งวด แต่ปรากฏว่าพอถึงวันที่ 1 มีนาคม 2553 นายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระให้และมิได้นำมาชำระให้อีกเลย นายดำจึงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2553  แต่นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น  ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

1. ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้ขับรถยนต์ชนนายดำได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 นั้น ถือว่านายแดงได้กระทำละเมิดต่อนายดำ ซึ่งอายุความฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ซึ่งอายุความฟ้องร้อง 1 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 4 มีนาคม 2553

แต่ตามข้อเท็จจริง เมื่อนายดำได้มาเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายแดง ปรากฏว่านายแดงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นายดำ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14(1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนั้น การที่นายดำนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ การที่นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ 
4.

ก.  คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.  นายสมพงษ์เขียนจดหมายถึงกรมป่าไม้มีข้อความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้ทราบว่ากรมป่าไม้มีไม้ของกลางซึ่งทางการยึดได้จากผู้ลักลอบตัดไม้ในป่าหลายแห่งและศาลพิพากษาให้ริบเป็นของแผ่นดินจำนวน 1,500 ท่อน บัดนี้คดีถึงที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอซื้อไม้ของกลางดังกล่าวทั้งหมด ส่วนราคานั้นทางการจะขายเท่าใด แล้วแต่ทางการจะเห็นสมควร”  ต่อมาอีก 10 วัน กรมป่าไม้ทำหนังสือตอบนายสมพงษ์ว่า กรมป่าไม้ตกลงขายไม้ของกลางดังกล่าวให้แก่ท่านจำนวน 1,550 ท่อน ราคาลูกบาศก์เมตรละ 5,000บาท ทั้งนี้ ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน” ดังนี้ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.  คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

1.เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2. มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

ข. โดยหลักของกฎหมาย สัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไปเป็นคู่สัญญาแสดง เจตนาเป็นคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน หรืออาจกล่าวสรุปได้ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคู่สัญญาสองฝ่ายได้ ให้คำเสนอและคำสนองสอดคล้องตรงกัน

และการแสดงเจตนาที่ถือว่าเป็นคำเสนอนั้น จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.       ต้องเป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2.       มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

กรณีตามอุทาหรณ์ การแสดงเจตนาของนายสมพงษ์ตามจดหมายที่นายสมพงษ์เขียนส่งถึงกรมป่าไม้นั้น เป็นข้อความที่ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำเสนอ แต่เป็นเพียงคำปรารภว่านายสมพงษ์ประสงค์จะเข้าทำสัญญาเท่านั้น

และการแสดงเจตนาของกรมป่าไม้ตามหนังสือที่ตอบนายสมพงษ์ไปนั้น ได้กระทำขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคำเสนอใด ๆ มายังกรมป่าไม้ จึงไม่ถือว่าเป็นคำสนอง แต่เนื่องจากหนังสือของกรมป่าไม้ เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน และมีความมุ่งหมายว่าถ้านายสมพงษ์ตกลงด้วยตามนั้น สัญญาจะเกิดขึ้นทันที จึงถือว่าการแสดงเจตนาโดยหนังสือของกรมป่าไม้ดังกล่าวเป็นคำเสนอ

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ จึงมีเพียงคำเสนอของกรมป่าไม้ ไม่มีคำสนองของนายสมพงษ์ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้จึงไม่เกิดขึ้น(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 927/2498)

สรุป  สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้ไม่เกิดขึ้น

Advertisement