การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายถึงบ่อเกิดของกฎหมายเอกชนของไทยว่าได้แก่อะไรบ้าง  พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายมาพอสังเขป

ธงคำตอบ

บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายเอกชนไทยมีดังนี้  คือ

1  ศีลธรรม  เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ

มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น  และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ  และติดต่อกันเป็นเวลานาน  

ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด  เช่น  การที่สามีมีภริยาหลายคน  ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม  จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย  เช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว  จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก  หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  ผลคือตกเป็นโมฆะ  เป็นต้น     

2  จารีตประเพณี  คือ  ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน  โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์  เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา  ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร  หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา  หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้

จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1)   เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน  หรือธรรมเนียม

(2)   ประชาชนเห็นต้องกันว่า  จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  และจะต้องปฏิบัติตามตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย  เช่น  จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้  และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

3  ศาสนา  คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น  เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ  มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน  เช่น  ข้อห้ามในศีล  5  ของศาสนาพุทธ  อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม  ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า  การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ  อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้  เป็นต้น

4  ความยุติธรรม  ในทางนิติปรัชญา  กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม  การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  เช่น  ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า  อิควิตี้ (Equity)  มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย  ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้

ตัวอย่างเช่น  ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย  ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น  มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น  การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น  ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้  หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย   แต่ต้องการตัวบ้าน  ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา  ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้  ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา  นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้  โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  คือ  ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้  เป็นต้น

5  คำพิพากษาของศาล  ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law )  เช่น  อังกฤษ  มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน  จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร  เช่น  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ไทย  ฯลฯ  จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน  คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

6  ความคิดเห็นของปราชญ์  ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี  นักวิชาการ  หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย  หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้  ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้

ตัวอย่างเช่น  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า  การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง  ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา  น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา  ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย  เป็นต้น

7  ข้อตกลงระหว่างประเทศ  เมื่อประเทศต่างๆ  มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว  ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว

 

ข้อ  2  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ในวันที่ 1  มกราคม  2550  นายไก่ซึ่งมีอาชีพเป็นกัปตันเรือสำราญฟ้าสีครามได้ออกเรือเพื่อไปเกาะกง  ในวันนั้นเองระหว่างเดินทางเกิดพายุเรืออับปาง  ทำให้มีคนบาดเจ็บ  ล้มตาย  สูญหายไปเป็นจำนวนมาก  ในวันที่  15  มกราคม  2550  นางไข่ได้รับโทรศัพท์จากนายไก่เล่าว่าพลัดไปติดเกาะของประเทศเพื่อนบ้านแต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ที่ไหน  หลังจากวันนั้นนางไข่และใครๆก็ไม่พบเห็นตัวและไม่ได้รับข่าวจากนายไก่อีกเลย

1)    นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    การหายไปของนายไก่เป็นการสาบสูญในกรณีใด  จะครบกำหนดเมื่อใด  และนางไข่จะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  ตามมาตรา  61  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1        ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2        ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามวรรคแรก  หรือ  2  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญพิเศษในเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในวรรคสอง  (1)  (3)

3        ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4        ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ถ้าบุคคลใดหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หรือไม่มีใครได้รับข่างคราวประการใดเลย  เป็นเวลาติดต่อกันตามที่กฎหมายกำหนด  ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์

1       นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  บุคคลที่จะร้องขอต่อศาลให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ  บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นพนักงานอัยการ  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นางไข่จึงมีฐานะเป็นคู่สมรสอันถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งนายไก่สามีเป็นคนสาบสูญได้2       กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  ตามมาตรา  61  วรรคสอง  ทั้งนี้เนื่องจากข้อเท็จ จริงแม้จะเป็นเรื่องที่นายไก่เดินทางไปกับเรือซึ่งเป็นยานพาหนะที่บุคคลนั้น เดินทางแล้วเรือเกิดอับปางลงแต่นายไก่ก็มิได้หายไปเพราะเหตุที่เรืออับปาง ดังกล่าว  เพราะข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าในวันที่  15  มกราคม  2550  นายไก่ยังสามารถติดต่อกับนางไข่ได้อยู่  ดังนั้นการที่นายไก่หายไปจึงเป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  ตามมาตรา  61  วรรคแรก

เมื่อเป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  การนับระยะเวลาจึงต้องนับจากวันที่บุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หรือนับจากวันที่ได้ข่าวคราวของบุคคลนั้นเป็นครั้งหลังสุด  ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่  15  มกราคม  2550  นางไข่ยังสามารถติดต่อกับนายไก่ได้  แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นหรือได้รับข่าวคราวของนายไก่อีกเลย  ระยะเวลา  5  ปี  จึงต้องนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป  กรณีนี้จึงครบกำหนด  5  ปี  ในวันที่  15  มกราคม  2555

ดังนั้น  หากนางไข่จะไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญ  นางไข่จึงร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  16  มกราคม  2555  เป็นต้นไป

สรุป

1       นางไข่ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

2       เป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  จะครบกำหนด  5  ปี  ในวันที่  15  มกราคม  2555  นางไข่จึงไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  16  มกราคม  2555  เป็นต้นไป

 

ข้อ  3  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  เพราะเหตุใด

1)    ขาว  อายุย่างเข้า  15  ปี  ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา  เมื่อตนถึงแก่ความตาย  พินัยกรรมที่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

2)    นายเขียวคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางเหลืองผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถจักรยานยนต์ราคา  4  หมื่นบาทจากร้านนายแดง  สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเขียวและนายแดงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

3)    แสดคนวิกลจริตซื้อรถยนต์จากม่วงในขณะกำลังวิกลจริต  แต่ม่วงไม่ทราบว่าแสดวิกลจริต  สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างแสดและม่วงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1       ตามมาตรา  25  นั้น  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ  15  ปีบริบูรณ์  หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ  เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมเลย  ตามมาตรา  1703  ดังนั้นการที่ขาวผู้เยาว์อายุย่าง  15  ปี  ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านให้มูลนิธิชัยพัฒนาเมื่อตนถึงแก่ความตาย  ขาวจึงไม่สามารถทำได้  ตามมาตรา  25  พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1703

2       คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น  ต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน  การที่นายเขียวคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางเหลืองผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถจักรยานยนต์ราคา  4  หมื่นบาท  จากร้านของนายแดง  สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเขียวและนายแดงย่อมตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  29  แม้ผู้อนุบาลจะให้ความยินยอมหรืออนุญาตก็ตาม3       สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างแสดและม่วงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ทั้งนี้เพราะนิติกรรมใดๆที่บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นในกรณีนี้  แม้แสดคนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะทำสัญญาซื้อรถยนต์จากม่วงในขณะจริตวิกลอยู่ก็ตาม  แต่เมื่อม่วงซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ว่าแสดเป็นคนวิกลจริต  สัญญาซื้อขายรถยนต์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกำหมาย  ไม่เป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  30  แต่อย่างใด

สรุป

1       พินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ

2       สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเขียวและนายแดงมีผลเป็นโมฆียะ

3       สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างแสดและม่วงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

Advertisement