การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2544

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1  หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง  กฎหมายอาญา  และกฎหมายมหาชน  มีความแตกต่างกันอย่างไร  จงอธิบาย 

ธงคำตอบการตีความกฎหมาย  หมายถึง  การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง  เพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของบทกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร  ซึ่งกฎหมายแต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์ในการตีความแตกต่างกันไป  คือ 

1       ถ้าเป็นกฎหมายแพ่ง  (หรือกฎหมายเอกชน)  เมื่อพิจารณาบทบัญญัติใน  ป.พ.พ.  มาตรา  4  วรรคแรกว่า  อันกฎหมายนั้นท่านว่าต้องใช้ในบรรดาซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ  แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ …  แสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายแพ่งนั้น  จะต้องตีความตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นไปพร้อมๆกัน  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายในลักษณะเท่าเทียมกัน

2       ถ้าเป็นกฎหมายอาญา  เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา  2  ที่ว่า  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น  ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย…  แสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายอาญานั้น  จะต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด  โดยไม่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด  ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า  ไม่มีกฎหมาย  ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ

3       ถ้าเป็นกฎหมายมหาชน  การตีความจะต้องตีความโดยพิเคราะห์ตัวอักษรและเหตุผลหรือเจตนารมณ์พิเศษของกฎหมายมหาชนนั้นๆ  รวมทั้งอาจพิเคราะห์ถึงระเบียบปฏิบัติทางการปกครอง  ตลอดจนจารีตประเพณีทางการเมืองการปกครองประกอบด้วย  เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสังคม  ทั้งนี้เนื่องมาจากกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนนั่นเอง

 

ข้อ 2  จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองผู้สุจริตตามที่บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ  ของป.พ.พ.  รวมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยสุจริต  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5

ธงคำตอบ

หลักเกณฑ์ในการคุ้มครองบุคคลผู้ใช้สิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

การคุ้มครองผู้ใช้สิทธิโดนสุจริตเฉพาะเรื่อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีบัญญัติคุ้มครองเอาไว้หลายมาตรา  เช่น มาตรา   155, 412 , 905 , 1299 , 1300 , 1303 , 1311 , 1312 , 1329 , 1330 , 1331 และมาตรา  1332  เป็นต้น

ความสุจริตในกรณีนี้หมายถึง  ความไม่รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาก่อน  หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ซึ่งผู้ใช้สิทธิโดยสุจริตนี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย  เช่น  การที่ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นทรัพย์สินที่ขโมยมาก็ดี  หรือการได้รับโอนทรัพย์สินไว้โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือแสดงเจตนาหลอกลวงกันในระหว่างคู่สัญญาคนก่อนๆก็ดี  ถือเป็นการกระทำโดยสุจริต  ซึ่งกฎหมายจะเข้ามาคุ้มครองโดยบัญญัติให้ไม่ต้องคืนทรัพย์สินนั้น  หรืออาจคืนทรัพย์สินโดยได้รับเงินที่เสียไปคืน  เป็นต้น

2       การใช้สิทธิโดยสุจริตทั่วไป  ตามป.พ.พ. มาตรา  5  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี  ในการชำระหนี้ก็ดี  บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริตการใช้สิทธิโดยสุจริตในกรณีทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา  5  นี้  จะมีความหมายกว้างกว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตเฉพาะเรื่อง  เพราะกรณีนี้ถือว่าเป็นหลักที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการใช้สิทธิและการชำระหนี้ทางแพ่งโดยทั่วๆไป  โดยถือว่าในการที่บุคคลได้ผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันแล้วทุกคนต้องซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน  และต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์และไว้วางใจด้วย  ถ้าการกระทำใดเป็นปฏิปักษ์ต่อความซื่อสัตย์และความไว้วางใจดังกล่าว  ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต  ซึ่งศาลจะไม่รับรองและไม่รับบังคับให้  ตามหลักที่ว่า  บุคคลที่มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด

 

ข้อ 3  นายดำเป็นคนวิกลจริต  ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมดังต่อไปนี้  มีผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร

1       ซื้อรถยนต์ราคา  500,000  บาท  จากนายแดง  โดยได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล

2       ทำพินัยกรรมยกเงินจำนวน  100,000  บาทให้กับนายขาว

3       ซื้อจักรยานราคา  2,000  บาท  เพื่อขี่ออกกำลังกาย  โดยได้ทำนิติกรรมขณะวิกลจริต  แต่นายเขียวซึ่งเป็นผู้ขายไม่ทราบว่านายดำเป็นคนวิกลจริต

ธงคำตอบ

มาตรา  29  บัญญัติว่า  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  1704  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการทำพินัยกรรมของคนไร้ความสามารถไว้ว่า  พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

จากหลักกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า  นิติกรรมใดๆ  ที่คนวิกลจริตซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น  เว้นแต่ถ้าเป็นพินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะ  โดยไม่คำนึงว่าคนไร้ความสามารถจะได้ทำนิติกรรมในขณะวิกลจริตหรือไม่  หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้หรือไม่ว่าเป็นคนวิกลจริต  หรือจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่

ดังนั้นนิติกรรมของนายดำซึ่งเป็นคนวิกลจริตที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นย่อมมีผลตามกฎหมายดังนี้  คือ

1       นิติกรรมซื้อขายรถยนต์ราคา  500,000 บาท  จากนายแดง  มีผลเป็นโมฆียะ  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม

2       การทำพินัยกรรมยกเงินจำนวน  100,000 บาท  ให้กับนายขาว  มีผลเป็นโมฆะ  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1704

3       การทำนิติกรรมซื้อขายจักรยานราคา  2,000 บาท เพื่อขี่ออกกำลังกาย  มีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา  29  แม้ว่าในขณะทำนิติกรรมนายเขียวผู้ขายจะไม่ทราบว่านายดำเป็นคนวิกลจริตก็ตาม

Advertisement