การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  3  ข้อ  

ข้อ  1  จงอธิบายว่าหลักกฎหมายทั่วไปคืออะไร  และหลักกฎหมายทั่วไปสามารถนำมาใช้อุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายทั่วไปคือหลักกฎหมายที่เป็นพื้นฐานหรือเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปที่เป็นโครงสร้างของกฎหมาย  กฎหมายจะบัญญัติขึ้นจากหลักเกณฑ์ทั่วไปเหล่านี้  หลักกฎหมายทั่วไปแบ่งออกได้   2  ประเภทคือ

1         หลักกฎหมายทั่วไปในระบบกฎหมายไทย  เช่น  หลักกฎหมายโรมันซึ่งได้นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เช่น  หลักสุจริต  หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  ฯลฯ


2         หลักกฎหมายทั่วไปในระบบกฎหมายอื่น  เช่น  การขนส่งทางทะเลซึ่งนำหลักมาจากประเทศอังกฤษ  เป็นต้น

หลักเกณฑ์การอุดช่องว่างของกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  4  วรรคสอง  “เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”  

ดังนั้น หลักกฎหมายทั่วไปอาจนำมาอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับคดีที่เกิดขึ้นได้  และยังไม่มีหลักจารีตประเพณีและบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับกับคดีได้อีกด้วย  ศาลจึงอาจนำหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าวข้างต้นมาตัดสินคดีได้โดยการนำมาอุดช่องว่างของกฎหมายนั่นเอง

 

ข้อ  2  จงบอกประเภทของกิจการที่ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ไม่มีอำนาจกระทำได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  มาให้ถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ 

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  5  “ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา  801  และมาตรา  802  ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจต้องขออนุญาตต่อศาล  และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้”

มาตรา  801  “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

1)       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2)       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3)       ให้

4)       ประนีประนอมยอมความ

5)       ยื่นฟ้องต่อศาล

6)       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาตามหลักกฎหมายเรื่องตัวแทนเกี่ยวกับผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ซึ่งหมายความรวมถึงผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ด้วยนั้น  ตามปกติผู้จัดการทรัพย์สินมีสิทธิจัดการทรัพย์สินแทนผู้ไม่อยู่ได้ ทุกประการยกเว้นกิจการบางอย่างที่ต้องขออนุญาตต่อศาลก่อนจึงจะมีสิทธิทำได้  ตามมาตรา  801  ประกอบกับมาตรา  54

ดังนั้น  กิจการของผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ไม่มีอำนาจกระทำได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  คือ

1         ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2         ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3         ให้

4         ประนีประนอมยอมความ

5         ยื่นฟ้องต่อศาล

6         มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

 

ข้อ  3  นายโชคดีอายุ  20  ปีบริบูรณ์  เป็นคนวิกลจริต  ให้นายโชคช่วยเช่าบ้านของตนเป็นเวลา  1  ปีในราคา ปีละ  500  บาท  และในขณะตกลงทำสัญญาเช่าบ้านนั้น  นายโชคดีไม่มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด  ส่วนนายโชคช่วยนั้นทราบมาก่อนแล้วว่านายโชคดีเป็นคนวิกลจริต  หลังจากนั้นไม่นานนายโชคดีอาการหนักขึ้นจนมารดาต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายโชคดีเป็นคนไร้ความสามารถ  โดยมีมารดาเป็นผู้อนุบาล  มารดานายโชคดีสงสารลูกชายมากจึงอนุญาตให้นายโชคดีไปซื้อเครื่องเสียงราคา  20,000  บาท  โดยลำพังเพื่อปลอบใจนายโชคดีที่มีคำสั่งศาลให้เป็นคนไร้ความสามารถ

อยากทราบว่าการทำสัญญาเช่าบ้านและการซื้อเครื่องเสียงของนายโชคดีมีผลในกฎหมายอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  30  “การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา  29  “การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย  ตามอุทาหรณ์

 1         ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  30  การทำนิติกรรมของคนวิกลจริตจะมีผลเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ

1)       ได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นมีอาการจริตวิกล

2)       คู่กรณีอีกฝ่ายรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต ซึ่งการที่นิติกรรมจะมีผลเป็นโมฆียะจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขหรือองค์ประกอบทั้ง 2  ข้อดังกล่าวจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้   แต่ตามอุทาหรณ์นี้นายโชคดีทำนิติกรรม  คือ  สัญญาเช่าบ้านในขณะที่ไม่มีอาการจริตวิกล  แต่นายโชคช่วยก็ทราบดีว่านายโชคดีเป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นสัญญาเช่าบ้านจึงมีผลสมบูรณ์ทุกประการ

2         ตามอุทาหรณ์  นายโชคดีเมื่อมีคำสั่งศาลให้เป็นคนไร้ความสามารถโดยมีมารดาเป็นผู้อนุบาลแล้วนั้น  การไปทำสัญญาซื้อเครื่องเสียงตามลำพังแม้จะได้รับคำยินยอมจากผู้อนุบาลแล้วก็ตาม  นิติกรรมที่ทำขึ้นคือการซื้อเครื่องเสียงราคา  20,000  บาท  ก็มีผลเป็นโมฆียะเสมอ  เพราะคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆไม่ได้เลย  ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน  ถ้าฝ่าฝืนย่อมตกเป็นโมฆียะดังนั้น การทำสัญญาเช่าบ้านของนายโชคดีมีผลสมบูรณ์ แต่การทำสัญญาซื้อเครื่องเสียงของนายโชคดีมีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement