การสอบไล่ภาค 1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3ข้อ

ข้อ 1  จงอธิบายว่าประเทศไทยใช้กฎหมายระบบใด  พร้อมบอกลักษณะสำคัญของกฎหมายมาให้ถูกต้องและครบถ้วนด้วย

ธงคำตอบ

ประเทศไทยชะระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil  Law)

ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้จะอยู่ในรูปของประมวลกฎหมาย  ซึ่งประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องมีการจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้น  โดยเฉพาะในทางกฎหมายแพ่งนั้นใช้ระบบกฎหมาย  “Civil  Law”  มาจากภาษาลาตินของโรมันว่า  “Jus  Civile” โดยกษัตริย์โรมันชื่อ  Justinian  ได้ทรงรวบรวมกฎหมายประเพณี  ซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะ  รวมทั้งรวบรวมนักกฎหมายในสมัยพระองค์ช่วยกันบัญญัติออกมาเป็นรูปกฎหมาย  Civil  Law  ขึ้น  มีชื่อว่า “Corpus  Juris  Civilis”  ซึ่งต่อมาฝรั่งเศสและเยอรมันได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแพ่ง  (Civil  Code)  ขึ้น  จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Condifild  Law  นั่นเอง

ประมวลกฎหมายคือ  กฎหมายที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้น  โดยรวบรวมเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นเรื่องเดียวกัน  แต่กระจัดกระจายกันอยู่ไม่เป็นระเบียบ  เอามารวบรวมจัดให้เป็นหมวดหมู่วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกัน  และมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ

กฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักอักษรนี้  เป็นการพิจารณาหลักเกณฑ์  ทั่วไปมาสู่เรื่องเฉพาะเรื่อง  คือ  เอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับด้วยเป็นรายๆไป  ดังนั้นประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงต้องคำนึงถึงตัวบทเป็นสำคัญ  ส่วนคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงช่วยในการตีความในตัวบทของประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเท่านั้น  ไม่ใช่ที่มาของกฎหมายอย่างเช่นระบบ Common  Law  ซึ่งที่มาของประมวลกฎหมายต่างๆ  ในระบบ  Civil  Law  นี้จะมาจากกฎหมายโรมันอันเป็นต้นแบบนั้นเอง

และนอกจากนี้  กฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายนี้  แยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน  คือ  ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาชนก็มีศาลปกครอง  และในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายเอกชนก็มีศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาคดี  ส่วนกฎหมายระบบ  Common  Law  ไม่มีการแยกประเภทคดีทั้งทางมหาชนและเอกชนต้องพิจารณาในศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียว

สำหรับลักษณะสำคัญของกฎหมายมีอยู่  5  ประการ  คือ

  1. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดขึ้นจากรัฏฐาธิปัตย์  คือ  มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศ  โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติสร้างกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อบังคับแห่งกฎหมาย  เรียกว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Codified  Law)  หรือกฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมาย  เช่นประเทศไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยความเห็นชอบของรัฐสภา  เป็นต้น  ฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลธรรมดาด้วยกันเองแล้วย่อมไม่มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับให้เป็นข้อกฎหมายใช้บังคับแก่คนทั่วไป

อนึ่ง  ฝ่ายนิติบัญญัติอาจมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เช่นกัน  เช่น  พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง  ซึ่งนับได้ว่าเป็นกฎหมายเช่นกัน

  1. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปกับทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้นๆ

               คือ  มิได้ทำขึ้นเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้โดยเฉพาะ  หรือออกมาเพื่อกิจการอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ        แต่ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป  และทุกสถานที่โดยเสมอภาค

  1. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป  คือ  เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว  ต้องใช้กฎหมายนั้นไปจนกว่าจะมีกฎหมายใหม่สำหรับเรื่องเดียวกันนั้นออกมา  และให้ยกเลิกกฎหมายเก่าอันนั้นเสีย

4        กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม  ข้อบังคับดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทำการก็ได้  ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษในทางอาญา5        กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ  ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในทางอาญาและในทางแพ่ง

 สภาพบังคับในทางอาญา  คือ  โทษ  นั่นเอง  ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี  5  ชนิด  โดยเรียง         จากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด  ได้แก่  1  ประหารชีวิต   2  จำคุก    3  กักขัง    4  ปรับ   5  ริบทรัพย์สิน

–  สภาพบังคับในทางแพ่ง  หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น  คือ  การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน  ได้แก่  การคืนทรัพย์  การชดใช้ราคาแทนทรัพย์  และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

 

ข้อ 2  ภูมิลำเนาหมายความว่าอย่างไร  บุคคลใดบ้างที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาได้  จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบพอสังเขป

ธงคำตอบ

ภูมิลำเนา  หมายถึง  แหล่งที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญของบุคคลธรรมดา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  44  กำหนดให้บุคคลธรรมดาเลือกภูมิลำเนาได้โดยสมัครใจ  ยกเว้นบุคคล  5  ประเภทที่กฎหมายได้กำหนดภูมิลำเนาให้ไว้ในมาตรา  43  ถึงมาตรา  47  ดังนี้  คือ

ภูมิลำเนาของสามีภรรยา   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  43  บัญญัติว่า  ภูมิลำเนาของสามีภริยา  ได้แก่  ถิ่นที่อยู่ที่สามีภริยาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา  เว้นแต่สามีภริยาได้แสดงเจตนาให้ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกัน  กฎหมายไม่ได้บังคับว่าสามีภริยาต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในที่เดียวกัน  แต่ก็ไม่ต้องการทำลายสถาบันครอบครัว  ถ้าสามีภริยาอยู่ด้วยกันภูมิลำเนาก็จะอยู่  ณ  ที่นั้น  เว้นแต่สามีภริยาได้แสดงเจตนาให้ปรากฏซึ่งเจตนานี้ไม่ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร  เช่น  กรณีสามีภริยาอยู่จังหวัดใกล้เคียงกัน  จึงตกลงกันต่างคนต่างอยู่เป็นเพื่อนดูแลบิดามารดาของแต่ละฝ่าย  และระหว่างนั้นต่างก็ไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน  อย่างนี้ถือว่าภูมิลำเนาของสามีและภริยามีภูมิลำเนาคนละแห่ง

2       ภูมิลำเนาของผู้เยาว์  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  44  บัญญัติว่า  ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่  ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรม  ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง

ในกรณีผู้เยาว์อยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา  ถ้าบิดามารดามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกัน  ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่ภูมิลำเนาของบิดาหรือมารดาซึ่งตนอยู่ด้วย  ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ย่อมได้แก่  ภูมิลำเนาของผู้ใช้อำนาจปกครอง  หรือผู้ปกครองเพื่อสอดคล้องกับหลักที่ว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  แต่ถ้าบิดามารดาผู้เยาว์ต่างมีภูมิลำเนาคนละที่  ถ้าผู้เยาว์อยู่กับใครภูมิลำเนาของผู้เยาว์ก็จะอยู่ที่นั่นด้วย

และเนื่องจากผู้แทนโดยชอบธรรมคือ  ผู้ใช้อำนาจปกครอง  หรือผู้ปกครองนั้นยังเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลอุปการะเลี้ยงดูและจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ด้วย  ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมดูแลผู้เยาว์  กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้เยาว์ถือภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งได้แก่บิดามารดาของผู้เยาว์นั่นเอง  เพราะบิดามารดาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์  ถ้าบิดาหรือมารดาตาย อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา  ถ้าบิดามารดาผู้เยาว์ตาย  ศาลตั้งผู้ปกครองไปอยู่ในความปกครองของใคร  ผู้เยาว์ย่อมถือเอาภูมิลำเนาของผู้นั้นเป็นภูมิลำเนาของตน  กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของใครก็ย่อมถือเอาภูมิลำเนาของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น

3       ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  45  บัญญัติว่า  ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถ  ได้แก่  ภูมิลำเนาของผู้อนุบาล  คนไร้ความสามารถนั้นคือ  คนวิกลจริตที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  และศาลจะตั้งผู้ดูแลคนไร้ความสามารถซึ่งเรียกว่า  ผู้อนุบาล  (ป.พ.พ. มาตรา  28)  และผู้อนุบาลต้องดูแลคนไร้ความสามารถทั้งในเรื่องส่วนตัว  และในการจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถด้วย  ดังนั้นกฎหมายในเรื่องภูมิลำเนาจึงบัญญัติให้ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามรถคือภูมิลำเนาของผู้อนุบาลนั้นเองภูมิลำเนาของข้าราชการ   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  46  บัญญัติว่า  ภูมิลำเนาของข้าราชการ  ได้แก่  ถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่  หากมิใช่เป็นตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราว  ชั่วระยะเวลาหรือเป็นเพียงแต่งตั้งไปเฉพาะการครั้งเดียวคราวเดียว  ข้อราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ประจำ  ณ  ถิ่นใด  ให้ถือว่ามีภูมิลำเนาอยู่  ณ  ถิ่นนั้น  ข้าราชการคือบุคคลที่ได้รับตำแหน่งหน้าที่ให้รับใช้มหาชนไม่จำกัดว่าเป็นฝ่ายใด  เช่น  ข้าราชการพลเรือน  ตำรวจ  ทหาร  หรือพนักงานเทศบาล  ข้อสำคัญจะต้องอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ประจำ  เช่น  ผู้ว่าราชการจังหวัด  ผู้พิพากษา  หรือนายด่านศุลกากรที่ไปประจำอยู่ในจังหวัด

5 ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุก  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  47  บัญญัติว่า  ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุก  ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย  ได้แก่  เรือนจำ  หรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว  มาตรนี้เป็นมาตราใหม่ที่เกิดจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ  1  ปี  พ.ศ. 2535  ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องเรื่องภูมิลำเนาของผู้ถูกจำคุกโดยนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาประกอบการพิจารณา  และเห็นสมควรให้ถือสถานที่ที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลที่ถูกจำคุกด้วย

 

ข้อ  3  บุคคลต่อไปนี้จดทะเบียนสมรสได้หรือไม่  ถ้าจดทะเบียนสมรสต้องทำอย่างไร  และจะเกิดผลทางกฎหมายอย่างไร

1         นายไก่อายุย่างเข้า  15  ปี  กับนางสาวแดงอายุ 20 ปีบริบูรณ์

2        นายไข่อายุ  17  ปีบริบูรณ์  กับนางสาวเขียว อายุ  17  ปีบริบูรณ์เช่นกัน

3        นายขวดคนเสมือนไร้ความสามารถ

4        นายเป็ดคนวิกลจริต

5        นายห่านคนไร้ความสามารถ


ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย

มาตรา  1454  ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา  1436  มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวคือ  ผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  จึงจะทำการสมรสได้  การสมรสที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา  1448  การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร  ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

มาตรา  1449  การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต  หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืน  มาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

มาตรา  1503  การสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ  มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืน มาตรา  1448

1       นายไก่อายุย่างเข้า  15  ปี  กับนางสาวแดงอายุ  20  ปีบริบูรณ์  จะสมรสได้ต้องปฏิบัติตามมาตรา  1448  กล่าวคือ  จะจดทะเยนสมรสก็ได้ถ้า

1)      มีเหตุอันสมควร  เช่น  นางสาวแดงตั้งครรภ์

2)      ได้รับอนุญาตจากศาล

3)      จดทะเบียนสมรส  การสมรสจึงจะสมบูรณ์2  นายไก่และนางสาวเขียว

1)  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

2)  จดทะเบียนสมรส  การสมรสจึงจะสมบูรณ์

ถ้าฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวผลโมฆียะ  ตามมาตรา  1454

3       นายขวดคนเสมือนไร้ความสามารถไม่มีข้อห้ามในการจดทะเบียนสมรส  การสมรสผลจึงสมบูรณ์

4       คนวิกลจริตสมรส  ผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1449  มาตรา  1495

5       คนไร้ความสามารถสมรส  ผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1449  มาตรา  1495

Advertisement