การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ช่องว่างแห่งกฎหมายคืออะไร  เกิดขึ้นได้อย่างไร  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงวิธีการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้ว่าอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย  หมายถึง  กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้  กล่าวคือ  ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อมาใช้ปรับแก่กรณีไม่พบ

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมาย  อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากในขณะที่ร่างกฎหมายนั้น  ผู้ร่างกฎหมายไม่คาดคิดว่าจะมีกรณีนั้นๆเกิดขึ้นมา  จึงไม่ได้บัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์  หรือกรณีนั้นๆเอาไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกมีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ  ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนความเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีผลทำให้กฎหมายลายลักษณ์อักษรก้าวไม่ทันความเจริญ ก้าวหน้าในด้านต่างๆ  จึงเกิดเป็นช่องว่างแห่งกฎหมายขึ้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า

เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว  ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้  คือ

1.  ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

กรณีนี้หมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล  ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี  แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น  ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

1.      เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

2.      เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน

3.      เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.      เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป

5.      เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม

2.  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้  ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน  ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง  มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน

ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

1        พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่

2        พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่  ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้

3        พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น  ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้  แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

4        กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน  มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

3.  ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย  กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ไม่มีจารีตประเพณี  และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ  ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน  หรือสุภาษิตกฎหมาย  หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้

 

ข้อ  2  นิติกรรมของผู้เยาว์ในกรณีดังต่อไปนี้มีผลอย่างไร  (ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบทุกข้อ)

(1) นายโชคอายุ  18  ปี  สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้  บิดาของนายโชคมอบเงินรางวัลให้นายโชค  20,000  บาท  พร้อมกับสั่งให้นายโชคไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว  (laptop)  เพื่อมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษา  แทนที่นายโชคจะนำเงินรางวัลไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วตามที่บิดาสั่ง  นายโชคกลับนำเงิน  20,000  บาท  ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุดในราคา  20,000  บาท  จากร้านของนายทองดี  อยากทราบว่า  นิติกรรมที่นายโชคทำไปมีผลอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  26  ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์เพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้  ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร  อนึ่ง  ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด  ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นายโชคอายุ  18  ปี  ซึ่งเป็นผู้เยาว์  ได้รับรางวัลเป็นเงิน  20,000 บาท  จากบิดา  เพื่อให้ไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว  เป็นอุปกรณ์การศึกษา  ซึ่งถ้าหากนายโชคนำเงินไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว  นิติกรรมการซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วย่อมสมบูรณ์  ตามมาตรา  26

แต่ตามข้อเท็จจริง  ปรากฏว่านายโชคกลับนำเงินทั้ง  20,000  บาท  ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด  จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของบิดานายโชค  ซึ่งเท่ากับเป็นการทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของบิดานายโชค  ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม  ดังนั้น  นิติกรรมการซื้อโทรศัพท์มือถือของนายโชคซึ่งเป็นผู้เยาว์ย่อมเป็นโมฆียะตามมาตรา  21

สรุป  นิติกรรมการซื้อโทรศัพท์มือถือของนายโชคมีผลเป็นโมฆียะ 

(2) เด็กชายสุรินทร์  อายุ  14  ปี  ได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมากจากมารดาของตนเอง  แต่เด็กชายสุรินทร์ป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย  เด็กชายสุรินทร์จึงปรึกษากับนายบุรีรัมย์บิดาว่าจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอุดรพี่ชายของตนเอง  ซึ่งนายบุรีรัมย์ก็เห็นชอบด้วย  เด็กชายสุรินทร์จึงได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอุดร  อยากทราบว่าพินัยกรรมของเด็กชายสุรินทร์มีผลเป็นอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

โดยหลัก  ผู้เยาว์จะทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์ตามมาตรา  25  ซึ่งถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมในขณะที่อายุยังไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์  พินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  1703

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อเด็กชายสุรินทร์อายุ  14  ปี  ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำพินัยกรรมได้  เมื่อเด็กชายสุรินทร์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอุดรพี่ชายของตนเอง  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม  พินัยกรรมที่เด็กชายสุรินทร์ทำขึ้นมานั้นจึงเป็นโมฆะตามมาตรา  1703

สรุป  พินัยกรรมของเด็กชายสุรินทร์มีผลเป็นโมฆะ 

 

ข้อ  3  นายผดุงเดินทางไปเที่ยวเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ขณะโดยสารเรือข้ามไปเกาะสมุย  บังเอิญเกิดพายุโซนร้อนอย่างร้ายแรง  เป็นเหตุให้เรือที่นายผดุงโดยสารไปนั้นอับปางลง  นายผดุงได้หายไปพร้อมกับผู้โดยสารอื่น  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2550  จนถึงปัจจุบัน  (26  พฤษภาคม  2553)  ยังไม่ทราบข่าวคราวว่านายผดุงเป็นตายร้ายดีอย่างไร  อยากทราบว่า

(1) ใครเป็นผู้สามารถร้องขอต่อศาลให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้บ้าง

(2) การสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีปกติหรือกรณีพิเศษ

(3) จะมีการร้องขอให้ศาลสั่งให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้เมื่อใด  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(1) ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญ  ได้แก่

1.ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งหมายถึง  ผู้ที่มีสิทธิ  หรือได้รับสิทธิต่างๆขึ้น  เนื่องจากศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  เช่น  ทายาท  คู่สมรส

2. พนักงายอัยการ

(2) การสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีพิเศษ  เนื่องจากนายผดุงได้สูญหายไปเพราะยานพาหนะที่ใช้เดินทาง  คือ  เรือนั้นได้อับปางลงตามมาตรา  61  วรรคสอง(2)

(3) เมื่อการสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง (2)  ดังนั้นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ศาลสั่งให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่เรือซึ่งนายผดุงโดยสารไปนั้นได้อับปางลง  คือ  สามารถร้องขอได้ในวันที่  2  มกราคม  2552

สรุป

(1) ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญ  ได้แก่  ผู้มีส่วนได้เสียและพนักงานอัยการ

(2) การสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีพิเศษ

(3) ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ศาลสั่งให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้  ในวันที่  2  มกราคม  2552 

Advertisement