การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อข้อ  1  กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายเกี่ยวกับรัฐและอำนาจรัฐ  การใช้อำนาจรัฐในการปกครองประเทศ  การจัดองค์กรปกครองของรัฐ  และในรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเน้นการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  เพื่อมิให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ผู้อยู่ใต้การปกครอง

กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่มีหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ตอบสนองความต้องการของประชาชนคนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ  เน้นการปกครองโดยกฎหมายตามหลักนิติรัฐ  และเน้นการใช้การตีความกฎหมายตามหลักนิติธรรม  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและสร้างดุลยภาพขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ

ปัจจุบันมีคำกล่าวที่ว่า  ประเทศไทยเต็มไปด้วยอวิชชา  มีกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน  ความไม่ยุติธรรมในการใช้อำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย

จึงขอให้นักศึกษาอธิบายปัญหาความยุติธรรมในสังคมรัฐไทย  และความสัมพันธ์ของกฎหมายมหาชนกับความยุติธรรม  โดยเฉพาะกฎกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ธงคำตอบ

ปัญหาความยุติธรรมในสังคมรัฐไทย  มีปัญหาจากกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่เขียนโดยเอาอำเภอใจ  ความต้องการของผู้มีอำนาจเป็นตัวกำหนดที่มา  หรืออำนาจในการจัดให้มีและอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2550  มาจากเผด็จการที่ยึดอำนาจเมื่อ  19  ก.ย. 2549  หรือเรียกว่ามาจากวงจรอุบาทว์  กติกาที่เขียนไว้จึงเป็นการเขียนกฎหมายเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามเอาประโยชน์เข้าตัวเองไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ  มุ่งหมายทำลายล้าง  ขจัดกันทางการเมืองให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงง่ายๆ  (มาตรา  267)  ให้มีการยุบพรรคการเมือง  (มาตรา  237)  และเขียนยกเว้นการกระทำผิดทั้งหลายของคณะผู้ที่ทำรัฐประหารที่เขียนยกเว้นความผิดทั้งอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  (มาตรา  309)  ซึ่งขัดต่อหลักการของกฎหมายในเรื่องความรับผิด  เป็นการเขียนกฎหมายชนิดที่เห็นแก่ตัว  ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของชาติ  บ้านเมือง  ประโยชน์สาธารณะแต่ประการใด  การเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการทำลายระบบกฎหมาย  หลักนิติรัฐ  หลักนิติธรรม ฯลฯ

มาตรา  299  เป็นการเขียนกฎหมายให้องค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ  ให้ดำรงตำแหน่งและใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ  ทั้งๆที่องค์กรนี้ไม่มีความอิสระ  ความเป็นกลางในการพิจารณาคดีแต่อย่างใด

(ปัญหาความยุติธรรมในสังคมรัฐไทย  ยังมีอีกมากมายซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษา  วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของหลักการทางวิชาการ  และหลักกฎหมายมหาชน)

ในส่วนประเด็นความสัมพันธ์ของกฎหมายกับความยุติธรรม

ความยุติธรรมคืออะไร  เป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างมาก  เพราะกฎหมายนั้นตราออกมาใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรมในสังคม  ความยุติธรรมนี้จะเอาอะไรมาเป็นปทัสถานของความยุติธรรมว่าพอดี  หรือเพียงพอแล้ว  เพราะเวลาพูดถึงความยุติธรรมถ้าใช้สามัญสำนึกของตัวเองเป็นหลักบางเรื่องก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม  แต่ถ้าเอาสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้งก็อาจเป็นธรรม  เช่น  กรณีออกกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ  หากใช้บังคับแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกใช้เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว  เช่นนี้ก็ย่อมถือว่ากฎหมายนั้นยุติธรรมแล้ว

โดยทั่วไป  ความยุติธรรมเป็นบางสิ่งบางอย่างที่  “รู้สึก”  ได้  หรือรับรู้ได้โดย  “สัญชาตญาณ”  แต่ก็ยากที่จะอธิบาย  หรือให้นิยามความหมายของสิ่งที่รู้สึกได้ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของคำว่า  “ความยุติธรรม”  มีความหลากหลาย  รายละเอียดต่างๆอาจศึกษาหาอ่านได้โดยตรงในวิชานิติปรัชญา  ในที่นี้จะเพียงยกคำจำกัดความของนักกฎหมายหรือนักปราชญ์เพียงบางท่าน  เช่น 

เดวิด  ฮูม  (David  Hume)  อธิบายไว้ว่า  ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่มิได้ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ  แต่เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์  (Artificial  Virtue)

เพลโต  (Plato : 427 – 347 B.C.)  ปรัชญาเมธีชาวกรีกในงานเขียนเรื่อง  “อุดมรัฐ”  (The  Republic)  ได้ให้คำนิยามความยุติธรรมว่า  หมายถึง  การทำความดี  (Doing  well  is  Justice)  หรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง  (Right  Conduct) 

อริสโตเติล  (Aristotle)  มองว่าความยุติธรรม  คือ  คุณธรรมทางสังคม  (Social  Virtue)  ประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และคุณธรรมเรื่องความยุติธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อ มนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

อริสโตเติล  แบ่งความยุติธรรมออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  (Natural  Justice)  หมายถึง  หลักความยุติธรรม  ซึ่งมีลักษณะเป็นสากล  ไม่เปลี่ยนแปลง  ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคน  ไม่มีขอบเขตจำกัด  และอาจค้นพบได้โดย  “เหตุผลบริสุทธิ์”  ของมนุษย์

2       ความยุติธรรมตามแบบแผน  (Conventional  Justice)  หมายถึง  ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง  หรือธรรมนิยมปฏิบัติของแต่ละสังคมหรือชุมชน  ความยุติธรรมลักษณะนี้  อาจเข้าใจแตกต่างกันตามสถานที่และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาหรือตามความเหมาะสม

กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กัน  ดังที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  9  ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  สมัยที่  33  ปีการศึกษา  2523  ณ  อาคารใหม่สวนอัมพร  24  ตุลาคม  2524  ตอนหนึ่งว่า  “ตัวกฎหมายก็ไม่ใช่ความยุติธรรมเป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเท่านั้น  ดังนั้นนักกฎหมายในการใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาและอำนวยความยุติธรรม  และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย  หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา  ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย” 

นอกจากนั้น  ลอร์ดเดนนิ่ง  (Loard  Denning)  และจอห์น  รอลส์  (John  Rawls)  อธิบายความหมายของความยุติธรรมว่าคือสิ่งที่ผู้มีเหตุมีผล  และมีความรับผิดชอบในสังคม  ถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและบุคคลที่มีเหตุผลนั้นต้อง  “เป็นคนกลาง”  ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่วินิจฉัย  โดยความเห็นของ  Lord  Brown – Willkinson  ในคดีปิโนเช่ต์  ได้นำคำพิพากษาของลอร์ด  เฮวาร์ด  มาอ้างด้วยว่า  “เป็นความสำคัญขั้นพื้นฐานที่ว่าไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น  แต่ต้องทำให้คนเห็นปรากฏชัดเจนและปราศจากข้อสงสัยใดๆว่า  มีความยุติธรรมเกิดขึ้นจริง”  ในคำพิพากษานั้น

 

ข้อ  2  จงอธิบาย  “กฎหมายมหาชน”  ตามที่นักศึกษาเข้าใจพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย  กล่าวคือ  เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น  3  อำนาจ  คือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้  คือ  ศาล

กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  “การจัดระเบียบราชการบริหาร”  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  “บริการสาธารณะ”  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ตัวอย่างกฎหมายมหาชน  ได้แก่

1       กฎหมายรัฐธรรมนูญ

2       กฎหมายปกครอง

3       พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ.2534

4       พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด

5       พ.ร.บ. เทศบาล

6       พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

7       พ.ร.บ. บริหารราชการกรุงเทพมหานคร

หรือ  พ.ร.บ.  อื่นๆที่เมื่อเกิดกรณีพิพาทจะต้องนำคดีไปขึ้นศาลปกครอง  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้  จะเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่รัฐ  แก่หน่วยงานของรัฐ  และแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเหมือนกัน

 

ข้อ  3  การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  คืออะไร  มีกี่รูปแบบ  จงอธิบายรายละเอียดเหล่านั้น  และเมื่อพิจารณาการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบแก้ไข  ให้ท่านระบุว่า  วิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐดังกล่าว  รูปแบบใดที่รวดเร็วที่สุดพร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบ

ธงคำตอบ

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  หมายถึง  การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  องค์กรของรัฐ  หน่วยงานของรัฐ

เหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค  รัฐ  หน่วยงานของรัฐ  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  มีอำนาจเหนือประชาชนหากไม่มีการควบคุม  เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้  การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ  องค์กรของรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย  หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย  อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

ส่วนวิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายปกครอง  แบ่งออกเป็น  2  รูปแบบ  คือ

1       การควบคุมแบบป้องกัน  หมายถึง  ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง  ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีระบบป้องกันเสียก่อน  กล่าวคือ  มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ  หรือขั้นตอนต่างๆก่อนที่จะมีคำสั่งออกไปกระบวนการควบคุมดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมีตัวอย่างเช่น

– การโต้แย้งคัดค้าน  คือ  ผู้ที่อาจเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองจะต้องสามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ก่อนมีการกระทำนั้น  เพื่อหลีกเลี่ยง  “การปกครองที่ดื้อดึง”

– การปรึกษาหารือ  เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

-การให้เหตุผล  เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง

– หลักการไม่มีส่วนได้เสีย  กล่าวคือ  ผู้มีอำนาจสั่งการทางปกครองต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สั่งการนั้น

– การไต่สวนทั่วไปเป็นวิธีการที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง  โดยทำการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย  แล้วทำเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจกระทำการที่จะมีผลกระทบผู้มีส่วนได้เสีย

การควบคุมแบบป้องกัน  จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาล  เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง  ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย

2       การควบคุมแบบแก้ไข  หรือการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง  หลังการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว  สามารถกระทำได้หลายวิธี  ดังนี้

1)    การควบคุมโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหารเอง  เช่น

 -การร้องทุกข์

-การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยทางปกครอง

 2)   การควบคุมโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร  เช่น

 – การควบคุมโดยทางการเมือง  ได้แก่  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

-การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ  ได้แก่  ผู้ตรวจการแผ่นดิน

-การควบคุมโดยศาลปกครอง

การควบคุมแบบแก้ไขนี้  เป็นการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว  และเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางปกครองนั้นขึ้น  จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้

ส่วนการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบแก้ไขที่เร็วที่สุด  ได้แก่  การควบคุมภายในฝ่ายบริหารด้วยกันเอง  อันประกอบด้วยการร้องเรียนต่อตัวผู้สั่งการ  หรือผู้บังคับบัญชาที่มีระดับสูงขึ้น  ทั้งนี้เพราะหากพบว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ก็สามารถที่จะร้องเรียนให้มีการแก้ไข  ยกเลิกได้ทันที  โดยไม่จำเป็นต้องนำคดีไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง  (ถือเป็นอุทธรณ์ของฝ่ายบริหาร)  แต่อย่างไรก็ตาม  วิธีการดังกล่าวมัดขาดหลักประกันที่ฝ่ายบริหารจะยอม  ยกเลิก  เพิกถอน  นิติกรรมทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น  ทั้งนี้  เพราะถือว่าฝ่ายปฏิบัติการระดับล่างได้สั่งหรือใช้ดุลพินิจไปแล้ว

Advertisement