การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปลาม้ายืมรถยนต์ปิกอัพของปลาดาวเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของ  ระหว่างที่ปลาม้าใช้งานอยู่นั้น  ปลาม้าได้เอารถให้ชะเมาเพื่อนบ้านใช้งานด้วย  ระหว่างที่ชะเมาใช้รถอยู่นั้น  เกิดน้ำท่วมทั้งตำบลเป็นเวลาสองเดือน  ทำให้รถที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าหมื่นบาท  ดังนี้  ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมรถได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  8  คำว่า  “เหตุสุดวิสัย”  หมายความว่า  เหตุใดๆ  อันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  646  วรรคแรก  ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้  ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา  แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมรถยนต์ปิกอัพระหว่างปลาม้ากับปลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ที่มีกำหนดว่าจะเอาไปใช้เพื่อการใด  แต่มิได้กำหนดเวลาส่งคืนไว้  ซึ่งปลาม้าผู้ยืมย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ปิกอัพได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย  แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย  ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปลาม้าได้เอารถที่ยืมให้ชะเมาเพื่อนบ้านใช้งานด้วย  ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

และกรณีตามอุทาหรณ์  ในระหว่างที่ปลาม้าได้เอารถให้ชะเมาใช้งานอยู่นั้น  ได้เกิดน้ำท่วมทั้งตำบลเป็นเวลาสองเดือน  ทำให้รถที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าหมื่นบาท  ซึ่งกรณีเช่นนี้ปลาม้าผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้ว่าการเกิดน้ำท่วมจะเป็นเหตุสุดวิสัย  ตามมาตรา  8  ก็ตาม  ทั้งนี้เพราะตามมาตรา  643  ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่เกิดกับทรัพย์สินที่ยืม  หากผู้ยืมได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืม  หรือความเสียหายนั้นจะได้เกิดขึ้นเพราะแหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  643  ตอนท้าย  ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า  ผู้ยืมอาจหลุดพ้นความรับผิดได้หากผู้ยืมพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง  กล่าวคือ  หากปลาม้าพิสูจน์ได้ว่า  แม้ตนจะไม่ได้เอารถให้ชะเมาใช้งาน  หรือได้คืนรถให้แก่ปลาดาวแล้ว  รถยนต์คันดังกล่าวก็คงจะได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำท่วมอยู่ดี  เช่นนี้ปลาม้าอาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้

สรุป  ปลาดาวสามารถเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมรถได้ตามมาตรา  643  เว้นแต่ปลาม้าจะพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องได้รับความเสียหายอยู่นั่นเอง

 

ข้อ  2  นายจันทร์ยืมเงินนายอังคารเป็นเงิน  2,000.01  บาท  โดยทำเป็นหนังสือการยืมเงินที่ลงลายมือชื่อนายจันทร์แต่เพียงผู้เดียว  และไม่มีใครลงลายมือชื่อรับรองหรือเป็นพยานแต่อย่างใด  ต่อมานายอังคารได้นำหลักฐานหนังสือดังกล่าวไปไว้ในลิ้นชักที่บ้านของตน  หลังจากนั้นได้มีนางอินญาติของนายจันทร์เข้าไปทำงานในบ้านของนายอังคารมาพบหนังสือการยืมเงินแล้วได้ขโมยไปเพื่อช่วยนายจันทร์  ดังนี้  ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)    การยืมเงินดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

(ข)   เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง  และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา  650  เพียงแต่ตามมาตรา  653  วรรคแรก  ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไป  จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี  คือ

1       มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น  เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และมีข้อความปรากฏในเอกสารว่าผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินในเรื่องการกู้ยืมเงินกัน  และมีการระบุถึงจำนวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้  แต่ที่สำคัญจะต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสำคัญ  ส่วนผู้ให้ยืมและพยานจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญ 

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

 ก.       เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารได้ทำเป็นหนังสือการยืมเงินโดยได้ระบุจำนวนเงินไว้ชัดเจนคือ  2.000.01  บาท  แม้นายจันทร์จะลงลายมือชื่อแต่เพียงผู้เดียว  โดยไม่มีใครลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานแต่อย่างใด  การกู้ยืมเงินดังกล่าวก็มีผลถูกต้องและสมบูรณ์ทุกประการ

 ข.      เมื่อการกู้ยืมเงินนั้นได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  และมีการลงลายมือชื่อของนายจันทร์ผู้ยืมถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นแม้ต่อมาหลักฐานการกู้ยืมเงินจะถูกขโมยไป  เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องผู้กู้ยืมได้โดยการนำพยานบุคคลมาสืบว่าเคยมีหลักฐานการกู้ยืมจริง  (ฎ. 34/2476)

สรุป

ก.       การยืมเงินดังกล่าวถูกต้อง

ข.      เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง  โดยนำกระเป๋าเดินทางและเงินสดจำนวน  10,000  บาท  และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก  1  ตัว ราคาหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  เข้าไปในห้องพัก  ต่อมานายอาทิตย์ออกไปทำธุระนอกห้อง  เมื่อกลับมาพบว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหายไป  นายอาทิตย์รีบแจ้งนายจันทร์ผู้เป็นเจ้าสำนักทราบทันทีเพื่อให้รับผิดตามราคาทรัพย์ที่สูญหาย  คือหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  แต่นายจันทร์ต่อสู้ว่าโรงแรมได้ปิดประกาศไว้ในห้องพักทุกห้องว่าหากเกิดความเสียหายใดๆแก่ทรัพย์สินของผู้เข้าพัก  ทางโรงแรมจะรับผิดชอบไม่เกินราคาของห้องพักคือห้องละ  1,000  บาท  เมื่อผู้เข้าพักอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว  ย่อมถือได้ว่ายินยอมตกลงในข้อจำกัดความรับผิดของโรงแรม  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมที่มีต่อทรัพย์ของนายอาทิตย์

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

มาตรา  677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675  วรรคแรก  ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคา  15,000  บาท  ของนายอาทิตย์ซึ่งได้เข้าพักที่โรงแรมนั้นได้สูญหายไป  และนายอาทิตย์ก็ได้แจ้งให้นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมทราบทันที  ดังนี้นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายอาทิตย์ในความสูญหายของทรัพย์สินดังกล่าว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือ  ความรับผิดของโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์นั้น  ทางโรงแรมจะต้องรับผิดตามราคาทรัพย์สิน  คือ  15,000  บาท  หรือจะต้องรับผิดจำกัดเพียง  5,000  บาท  ตามมาตรา  675  วรรคสอง  กรณีนี้เห็นว่าเมื่อทรัพย์สินที่สูญหายไปเพราะถูกขโมยคือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  675  วรรคสอง  ดังนั้น  ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดตามราคาทรัพย์สินที่สูญหายไปนั้นคือ  15,000  บาท

ส่วนกรณีที่นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมจะรับผิดชอบไม่เกินราคาของห้องพักคือ  1,000  บาท  โดยอ้างข้อความที่ประกาศในห้องพักว่า โรงแรมได้ปิดประกาศให้แขกรับทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดของโรงแรมแล้วนั้น  ข้ออ้างของนายจันทร์ฟังไม่ขึ้น  ทั้งนี้เพราะตามมาตรา  677  ได้บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่โรงแรมได้มีข้อความปิดประกาศไว้ในทำนองเป็นข้อจำกัดความรับผิดของโรงแรมนั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นโมฆะ  และกรณีตามอุทาหรณ์  ก็ไม่ปรากฏว่านายอาทิตย์ได้ตกลงด้วยกับข้อความรับผิดนั้นแต่อย่างใด

สรุป  เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์ที่สูญหายไปตามราคาทรัพย์สินนั้นคือ  15,000  บาท          

Advertisement