การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สามชุกยืมรถยนต์ของกระเสียวไปใช้มีกำหนดหนึ่งปี  ขณะที่สามชุกใช้สอยอยู่นั้นมีกระเจียวขอเอารถคันดังกล่าวไปใช้  แต่กระเจียวเอารถยนต์ไปใช้ได้ไม่นาน  สามชุกกลัวว่ากระเสียวรู้แล้วจะเลิกสัญญาเอารถยนต์คืน  สามชุกจึงให้กระเจียวนำรถยนต์มาคืนให้กับตนก่อนที่กระเสียวจะรู้ถึงการที่กระเจียวเอารถไปใช้สอย  ดังนี้ถ้ากระเสียวทราบถึงเหตุดังกล่าว  จะเลิกสัญญาให้สามชุกเอารถมาคืนก่อนที่จะครบหนึ่งปีได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สามชุกยืมรถยนต์ของกระเสียวไปใช้มีกำหนดหนึ่งปีนั้น  เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  สามชุกผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  645  ได้กำหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมได้  ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  645  เช่น  การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สามชุกได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้กระเจียวใช้งาน  กรณีนี้จึงถือว่าสามชุกได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  แล้ว  คือ  เป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  แม้ว่าสามชุกจะให้กระเจียวนำรถมาคืนให้กับตนก่อนที่กระเสียวจะรู้ถึงการที่กระเจียวเอารถไปใช้สอยก็ตาม  ดังนั้นเมื่อกระเสียวผู้ให้ยืมได้ทราบถึงเหตุดังกล่าว  ย่อมมีสิทธิตามมาตรา  645  คือ  บอกเลิกสัญญาและเรียกให้สามชุกเอารถยนต์มาคืนก่อนที่จะครบหนึ่งปีได้

สรุป  กระเสียวสามารถบอกเลิกสัญญา  และเรียกให้สามชุกเอารถมาคืนก่อนที่จะครบกำหนดหนึ่งปีได้

 

ข้อ  2  นายเล็กเดียวดาย  นะยุดยา  ได้ขอยืมเงินจากนางเกดเป็นเงิน  50,000  บาท  โดยปากเปล่า  และนางเกดได้ตีเช็คให้ยืมไป  ต่อมานายเล็กเดียวดาย  ได้มีจดหมายมาหานางเกดความว่าเงินที่ได้รับมา  50,000  นี้ขอบคุณมาก  ถือเป็นหนี้ล้นพ้นประมาณ  จะนำมาชำระให้ในภายหลังโดยเร็ว  และจะให้ดอกเบี้ยตอบแทนอย่างสูงร้อยละ  16  ท้ายของหนังสือได้ลงลายมือชื่อเล่นของตนที่พ่อแม่เรียกว่าชายเล็ก  พร้อมทั้งให้เด็กฝาแฝดอายุ  7  ขวบ  ลงลายมือชื่อเป็นพยาน  ทั้งๆที่เด็กทั้งสองอ่านหนังสือไม่ออก  และไม่รู้ว่าการยืมเงินคืออะไร  แต่เขียนชื่อของตนได้เท่านั้น  ดังนี้หลักฐานดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่  เพียงใด  และหากต่อมานางเกดเจ้าหนี้ได้เติมตัวเลข  1  หน้าจำนวนตัวเลข  50,000  เพื่อให้เป็นจำนวน  150,000  บาท  ดังนี้จำเป็นหรือไม่ที่ลูกหนี้จะต้องชำระเงินคืน  และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ด้วยเงินสดคืนให้จะต้องชำระเท่าไร  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

ตามมาตรา  653  วรรคแรก  ในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไปนั้น  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งและลงลายมือชื่อผู้ยืม  ซึ่งลายมือชื่อผู้ยืมนี้จะเป็นชื่อตัว  ชื่อสกุล  หรือชื่อเล่นก็ได้  และหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้  แต่จะต้องมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  เช่น  มีการระบุจำนวนเงินที่กู้ยืม  มีข้อความว่าได้รับเงินไปตามจำนวนที่ระบุไว้  เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเล็กเดียวดาย  นะยุดยา  ได้ขอยืมเงินจากนางเกดเป็นเงิน  50,000  บาท  และต่อมาได้มีจดหมายมาหานางเกดความว่าเงินที่ได้รับมา  50,000  นี้ขอบคุณมาก  ถือเป็นหนี้ล้นพ้นประมาณ  จะนำมาชำระให้ในภายหลังนั้น  ดังนี้  จดหมายฉบับดังกล่าวถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว  เพราะมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าตอนท้ายของหนังสือได้ลงลายมือชื่อเล่นของนายเล็กเดียวดาย  ย่อมถือว่าการกู้ยืมเงินกันระหว่างนายเล็กเดียวดายและนางเกด  มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมแล้ว  จึงสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  แม้ว่าการลงลายมือชื่อของพยานทั้งสองคนจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม  เพราะกฎหมายบังคับเพียงแต่ให้มีลายมือชื่อผู้ยืมเท่านั้น

ส่วนกรณีดอกเบี้ยนั้น  การที่นายเล็กเดียวดายตกลงจะให้ดอกเบี้ยตอบแทนอย่างสูงร้อยละ  16  ต่อปี  ย่อมถือเป็นการขัดต่อกฎหมายมาตรา  654  ที่กำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ  15  ต่อปี  และยังขัดต่อ  พ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด

และกรณีที่นางเกดเจ้าหนี้ได้เติมตัวเลข  1  หน้าจำนวนตัวเลข  50,000  เพื่อให้เป็นจำนวน  150,000  บาทนั้น  การเติมตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการปลอมเอกสาร  ข้อความที่ปลอมขึ้นจึงใช้ไม่ได้  แต่ก็ไม่ทำให้ข้อความเดิมก่อนที่จะมีการปลอมเสียไปแต่อย่างใด

ดังนั้น  นางเกดจึงสามารถฟ้องร้องให้นายเล็กเดียวดาย  นะยุดยา  ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวได้โดยสามารถฟ้องเอาได้เฉพาะเงินต้นจำนวน  50,000  บาทเท่านั้น  จึงจำเป็นที่ลูกหนี้จะต้องชำระเงินคืน  และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ด้วยเงินสดคืนจะต้องชำระเป็นจำนวน  50,000  บาท

สรุป  หลักฐานดังกล่าวใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้  และลูกหนี้จำเป็นจะต้องชำระเงินคืน  และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ด้วยเงินสดคืนจะต้องชำระเป็นจำนวน  50,000  บาท

 

ข้อ  3  นายแดงเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น  โดยมีนายเล้งเป็นเจ้าสำนักและผู้ประกอบกิจการโรงแรม  ก่อนเข้าพักนายแดงได้นำพระเครื่อง  1  องค์  มูลค่า  8,000  บาท  ไปขอฝากไว้ให้โรงแรมเก็บรักษา  เกรงว่าจะสูญหายระหว่างที่ตนเข้าพักอยู่ในโรงแรม  นายเล้งผู้เป็นเจ้าสำนักรับไปดูแล้วคืนพระเครื่องกลับไปให้นายแดง  โดยบอกว่า  “ขอให้นายแดงเป็นผู้เก็บพระเครื่องราคา  8,000  บาทไว้แทนโรงแรม  ทางโรงแรมเป็นผู้เก็บหรือนายแดงเก็บก็เหมือนคนคนเดียวกัน”  ต่อมาในตอนดึกมีคนร้ายเข้าไปขโมยของในห้องพักของโรงแรม  และได้ขโมยพระเครื่องไป  นายแดงรีบแจ้งให้นายเล้งทราบทันที  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของโรงแรมที่มีต่อทรัพย์ของนายแดง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

โดยหลัก  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674  ประกอบมาตรา  675  วรรคแรก

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น  เป็นของมีค่า  เช่น  นาฬิกา  แหวนเพชร  หรือพระเครื่องฯ  กฎหมายกำหนดให้เจ้าสำนักรับผิดเพียงห้าพันบาท  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนำไปฝากไว้แก่เจ้าสำนักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง  ตามมาตรา 675  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงเข้าพักในโรงแรมโดยนำพระเครื่องซึ่งถือเป็นของมีค่าติดตัวเข้ามาด้วยนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายแดงได้นำพระเครื่องไปขอฝากไว้ให้ทางโรงแรมเก็บรักษาและนายเล้งผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรมได้รับไปดูแล้วคืนพระเครื่องให้นายแดง  โดยบอกว่า  ให้นายแดงเป็นผู้เก็บรักษาพระเครื่องราคา  8,000  บาทไว้แทนโรงแรม  กรณีนี้ย่อมถือได้ว่า  นายแดงได้นำพระเครื่องไปฝากไว้แก่เจ้าสำนักโรงแรมและบอกราคาชัดแจ้งแล้ว  แม้ว่านายแดงจะเป็นผู้เก็บรักษาพระเครื่องไว้เองก็ตาม

ดังนั้น  เมื่อมีคนร้ายเข้าไปขโมยพระเครื่องของนายแดงไป  และนายแดงได้รีบแจ้งให้นายเล้งเจ้าสำนักโรงแรมทราบทันที

ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อทรัพย์ของนายแดงตามราคาพระเครื่องที่ถูกขโมยไปคือ  8,000  บาท  ตามมาตรา  674  มาตรา  675  วรรคแรกและวรรคสอง

สรุป  ทางโรงแรมต้องรับผิดต่อทรัพย์ของนายแดงตามราคาพระเครื่อง  คือ  8,000 บาท

Advertisement