การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปลาม้ายืมบ้านของปลาดาวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย  มีกำหนดสองปีแต่ปลาม้าแบ่งห้องๆหนึ่งให้ชะเมาเช่า  ระหว่างที่ชะเมาเช่าอยู่นั้น เกิดน้ำท่วมทั้งตำบลที่บ้านของปลาดาวตั้งอยู่เป็นเวลาสองเดือนทำให้บ้านเสียหาย  ดังนี้ปลาดาวจะบอกเลิกสัญญา  ให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนกำหนดและเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  8  คำว่า  “เหตุสุดวิสัย”  หมายความว่า  เหตุใดๆ  อันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมระหว่างปลาม้ากับปลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ปลาม้าผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยบ้านเป็นที่อยู่อาศัยได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย  แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปลาม้าเอาบ้านที่ยืมมาแบ่งให้ชะเมาเช่า  ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  ซึ่งเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ตามมาตรา  643  ย่อมเป็นเหตุให้ปลาดาวผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญายืมได้ตามมาตรา  645  และให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนครบกำหนดได้

และในกรณีที่ผู้ยืมเอาบ้านที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วถูกน้ำท่วมซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย  ตามมาตรา  8  นั้น  โดยหลักแล้วผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ปลาม้าผู้ยืมสามารถพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร  ทรัพย์สินคือบ้านที่ให้ยืมนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง  ดังนั้นปลาดาวจะเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายที่บ้านถูกน้ำท่วมไม่ได้  (มาตรา  643)

สรุป  ปลาดาวจะบอกเลิกสัญญาและให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนกำหนดได้  แต่จะเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายไม่ได้ 

 

ข้อ  2  นายกังนัมสไตร์  น้องชายแท้ๆของนายชังนำหน้า  ได้ขอยืมเงินพี่ชายของตนเป็นจำนวน  2,000  บาท  โดยได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือเอาไว้  และได้มีข้อกำหนดในสัญญาว่านายกังนัมสไตร์จะผ่อนส่งหนี้ให้เดือนละ  200  บาท  เป็นจำนวน  10  ครั้ง  พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ  15.01  บาทต่อปี  ให้กับพี่ชายของตนซึ่งเป็นเจ้าหนี้  ต่อมานายชังนำหน้าพี่ชายแอบแปลงสัญญาเงินกู้โดยเติมตัวเลข  1 ใส่ข้างหน้าจำนวนเงินกู้เดิมจาก  2,000  บาท  เป็น  12,000 บาท  ดังนี้  นายกังนัมสไตร์ลูกหนี้  ต้องรับผิดตามสัญญาหรือไม่  อย่างใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในการกู้ยืมเงินไม่เกิน  2,000  บาท  แม้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  การกู้ยืมเงินนั้นก็มีผลสมบูรณ์และสามารถฟ้องร้องบังคับกันได้  (มาตรา  653  วรรคแรก)  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายกังนัมสไตร์ได้ยืมเงินนายชังนำหน้าซึ่งเป็นพี่ชายจำนวน  2,000  บาท  โดยได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือเอาไว้  ก็ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เพียงแต่ข้อกำหนดในสัญญาที่ตกลงดอกเบี้ยกันร้อยละ  15.01  บาทต่อปีนั้น  ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย  ดอกเบี้ยนั้นถือเป็นโมฆะทั้งหมด  มีเพียงเงินต้นเท่านั้นที่จะต้องส่งคืน

และตามอุทาหรณ์  การที่นายชังนำหน้าได้แอบแปลงสัญญาเงินกู้โดยเติมตัวเลข  1  ใส่ข้างหน้าจำนวนเงินกู้เดิมจาก  2,000  บาท  เป็น  12,000  บาทนั้น  ก็ถือว่าจำนวนเงินกู้ยืมเดิมนั้นเป็นจำนวนเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นนายกังนัมสไตร์ยังคงต้องรับผิดชอบในจำนวนหนี้ดังกล่าว  คือ  2,000  บาท  และการใช้เงินนั้นก็จะต้องทำเป็นหนังสือด้วยตามมาตรา  653  วรรคสอง

สรุป  นายกังนัมสไตร์ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาในจำนวนหนี้เดิม  คือ  2,000  บาท  แต่ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเพราะในส่วนดอกเบี้ยถือเป็นโมฆะทั้งหมด

 

ข้อ  3  นายเอกเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี  มีนายโทเป็นเจ้าสำนักและผู้ควบคุมกิจการโรงแรม  นายเอกได้ถอดสร้อยคอทองคำหนัก  3  บาท  วางไว้ในห้องพัก  (คิดเป็นมูลค่าประมาณ  72,000  บาท)  ที่สร้อยคอแขวนพระสมเด็จ  1  องค์  (พระสมเด็จมีมูลค่า  10,000  บาท)  ต่อมานายเอกออกไปรับประทานอาหารเย็นนอกโรงแรมกลับมาตอนดึกพบว่าสายสร้อยทองคำและพระหายไป  จึงแจ้งนายโทผู้เป็นเจ้าสำนักให้ชดใช้ราคาของที่หายรวม  82,000  บาท  แก่ตนทันที  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  โรงแรมจะต้องรับผิดต่อทรัพย์ที่หายไปนี้หรือไม่  เพียงไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกเข้าพักที่โรงแรมที่มีนายโทเป็นเจ้าสำนัก  เมื่อทรัพย์สินของนายเอกแขกอาศัยซึ่งนำมาด้วยนั้นสูญหายไป  นายโทเจ้าสำนักย่อมต้องรับผิดชอบต่อนายเอกตามมาตรา  674  และมาตรา  675  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทรัพย์สินของนายเอกที่สูญหายไปนั้น  คือสร้อยคอทองคำหนัก  3  บาท  (ราคาประมาณ  72,000  บาท)  และพระสมเด็จซึ่งแขวนอยู่ที่สร้อยราคา  10,000  บาท  ซึ่งทั้งสร้อยคอทองคำและพระสมเด็จนั้นอยู่ในความหมายของ  “ของมีค่า”  ตามมาตรา  675  วรรคสอง  ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกผู้เข้าพักในโรงแรมไม่ได้นำฝาก  และบอกราคาทรัพย์ให้ชัดแจ้ง  โรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายเอกเพียง  5,000  บาท

สรุป  โรงแรมจะต้องรับผิดต่อทรัพย์ของนายเอกที่หายไป  แต่จะรับผิดชอบเพียง  5,000  บาท

Advertisement