การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน  (มาตรา  149)  จงอธิบายหลักกฎหมาย  (พอสังเขป)  และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  149  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เรียกรับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ  หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด  ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น  จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน  ตามมาตรา  149  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       เป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

2       เรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

3       เพื่อกระทำการ  หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

4       โดยเจตนา

เรียก  หมายถึง  การที่เจ้าพนักงานฯแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้

รับ  หมายถึง  การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ  และเจ้าพนักงานฯได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

ยอมจะรับ  หมายถึง  การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ  และเจ้าพนักงานฯ  ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต  แต่ยังไม่ได้รับ

การเรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ

(ก)  เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่าง  ร.ต.อ.แดง  ออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดำฆ่าคนตายโดยเจตนา  แต่  ร.ต.อ.แดงไม่ยอมจับกุมนายดำ  นายขาวจึงยื่นเงินให้ ร.ต.อ.แดง  10,000  บาท  เพื่อให้จับกุมนายดำ  ร.ต.อ.แดงรับเงินมาแล้ว  จึงจับกุมนายดำส่งสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี  ดังนี้  ร.ต.อ.แดงย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา  149

(ข)  เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่าง  นายเอกเป็นตำรวจจราจร  กำลังตั้งด่านตรวจ  พบเห็นนายโทขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค  จึงเรียกให้จอด  แล้วบอกกับนายโทว่า  “ถ้าไม่อยากถูกออกใบสั่ง  ขอเงินให้ตน 500”  ดังนี้  แม้นายโทจะไม่ได้ให้เงินตามที่นายเอกบอก นายเอกก็มีความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตามมาตรา  149  แล้ว

 

ข้อ  2  ก  ตำรวจตรวจค้นตัว  ข  โดยชอบด้วยกฎหมาย  ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในตัว  ข  คุมตัว  ข  จากที่เกิดเหตุเดินข้ามสะพานข้ามคลองไปฝั่งตรงข้ามประมาณ  30  เมตร  จึงปล่อยตัว  ข  ไป  ดังนี้  ก  ตำรวจจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตำรวจตรวจค้นตัว  ข  แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย  แล้วไม่ยอมปล่อยตัว  ข  ทันที  แต่กลับคุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่งดังกล่าวนั้น  ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย  หรืออีกนัยหนึ่งถือเป็นการกลั่นแกล้ง  ข  ดังนั้น  จึงถือได้ว่า  ก  ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว  โดยมีเหตุจูงใจพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่  ข  และได้กระทำไปโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของ  ก  ตำรวจจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  ก  ตำรวจจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา  157

สรุป  ก  ตำรวจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ตามมาตรา  157

 

ข้อ  3  ชาวบ้าน  20  คน  ได้จัดขบวนแห่นาคจะไปอุปสมบทที่วัดแห่งหนึ่ง  ระหว่างทางที่ขบวนแห่นาคมาถึงหน้าตลาด  จำเลยเมาสุราได้ยิงปืนขึ้นฟ้า  2  นัด  เป็นเหตุให้ขบวนแห่นาคเกิดความโกลาหลวุ่นวาย  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  207  ผู้ใดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน  นมัสการหรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ  โดยชอบด้วยกฎหมาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนตามมาตรา  207  ประกอบด้วย

1       ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชน

2       เวลาประชุมกัน  นมัสการ  หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ

3       โดยชอบด้วยกฎหมาย

4       โดยเจตนา

สำหรับการก่อให้เกิดความวุ่นวายที่จะมีความผิดดังกล่าวข้างต้นนั้น  จะต้องเกิดในเวลาประชุมกันในเวลานมัสการ  หรือในเวลากระทำพิธีกรรมและต้องเป็นเรื่องตามศาสนาด้วย  เช่น  เวลาสวดมนต์ไหว้พระ  เวลาทำพิธีบรรพชาอุปสมบท  และไม่จำกัดสถานที่ว่าจะต้องทำในสถานที่ใด  อาจจะเป็นในบ้านก็ได้  ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาแล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้า  แม้จะทำให้ขบวนแห่นาคเกิดความโกลาหลวุ่นวาย  แต่เมื่อปรากฏว่าการแห่นาคเป็นเพียงการกระทำตามประเพณีนิยม  ไม่ใช่พิธีกรรมตามศาสนา  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา  207  เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา  207  ได้นั้น  จะต้องเป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน  นมัสการ  หรือกระทำพิธีกรรมทางศาสนา

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามมาตรา  207

 

ข้อ  4  นายแดงยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน  จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  และได้ประกาศแจกโฉนดให้ราษฎรที่ยื่นคำขอไว้มารับ  นายแดงมาขอรับแต่จำเลยยังไม่ได้มอบโฉนดให้นายแดงไป  ต่อมามีผู้มาขออายัดการออกโฉนด  จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกโฉนดจึงไม่แจกโฉนด  จากการที่มีผู้มาขออายัด  จำเลยเกรงว่าโฉนดที่ออกไปแล้วนั้นจะเป็นโฉนดที่สมบูรณ์  จำเลยจึงได้ทำการลบ  วัน  เดือน  ปี  และลายเซ็นชื่อของจำเลยเอง  ซึ่งได้เซ็นไว้ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินออกเสีย  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไข  ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ  ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้  ถ้าหากว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยลบวัน  เดือน  ปี  และลายเซ็นของจำเลยเองนั้นไม่ถือเป็นการปลอมเอกสาร  เพราะว่าเมื่อยังไม่ได้ส่งมอบโฉนดให้นายแดงไป  จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินรายนี้ออกโฉนดแล้ว  และโฉนดรายนี้ยังเป็นเอกสารที่อยู่ในความยึดถือหรือในความรับผิดชอบของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่  และถือว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่ดำเนินการออกโฉนด  ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขเสียได้  ไม่ถือเป็นการปลอมเอกสารแต่อย่างใด  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

Advertisement