การสอบไล่ภาคฤดูร้อน   ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้นักศึกษาเลือกทำคำตอบเพียงข้อเดียวเพื่อเป็นคำตอบข้อ  1  โดยให้อธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  และยกตัวอย่างประกอบ

(ก)   อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  (มาตรา  137)  หรือ

(ข)  อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144)

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง  ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน  เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล  จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137  (ฎ. 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา  ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้  เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้   แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ  หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา  ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด  ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่  (ฎ.1093/2522)  แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา  จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  นางโท  หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ  น.ส.ตรีอีก  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ซึ่งทั้งนางโทและ  น.ส.ตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส  ซึ่งกระทำโดยเจตนา  เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ  หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้  นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส  ดังนี้  การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว  แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส  จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  (ฎ.1237/2544)

(ข)หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา 

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  144  นี้  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย  จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม  กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา  144  เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144

นายแดงถูก  ส.ต.อ.ขาว  จับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง  จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว  แต่  ส.ต.อ.ขาว  ยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่า  นายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่  ส.ต.อ.ขาว  ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา  นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายแดงทราบว่า  ส.ต.อ.ขาว  จะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อให้  ส.ต.อ.  ขาว  เบิกความผิดจากความจริง  (เบิกความเท็จ)  ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  (ฎ.439/2469)

 

ข้อ  2  ร.ต.อ.แดงซ้อมดำผู้ต้องหาคดีจำหน่ายยาบ้าซึ่งตนเองรับผิดชอบคดีระหว่างสอบสวนเพื่อให้รับสารภาพ  ดำสลบ  แดงมีความผิดอาญาฐานใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ร.ต.อ.แดง  ซ้อมดำผู้ต้องหาคดีจำหน่ายยาบ้า  ซึ่งตนเองรับผิดชอบคดีระหว่างสอบสวนเพื่อให้รับสารภาพ  จนดำสลบนั้น  ถือได้ว่า  ร.ต.อ.แดงซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ดำ  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของ  ร.ต.อ.แดงจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  ร.ต.อ.แดงจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  157

สรุป  ร.ต.อ.  แดงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ตาม  ป.อ. มาตรา  157

 

ข้อ  3  จำเลยกับนาย  ก  ไม่ถูกกันมาก่อน  วันเกิดเหตุจำเลยขับรถไปตามถนน  เห็นรถของนาย  ก  จอดอยู่  จำเลยจึงขับรถไปจอดใกล้กับรถยนต์ของนาย  ก  โดยมีระยะห่างประมาณครึ่งเมตร  จำเลยต้องการที่จะเผารถยนต์ของนาย  ก  แต่แทนที่จะเทน้ำมันราดไปที่รถของนาย ก  จำเลยกลับเทน้ำมันราดที่รถของจำเลยเอง  แล้วจุดไม้ขีดไฟโยนลงไป  ปรากฏว่าไฟได้ไหม้รถของจำเลย  แล้วลุกลามไปไหม้รถของนาย  ก  เสียหายบางส่วน  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

วางเพลิงเผา  หมายถึง  การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม  เช่น  ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา  ใช้เลนส์

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา  ทรัพย์ของผู้อื่น  เท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น  กล่าวคือ  ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย  ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย  ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องกระทำโดยเจตนา  คือ  มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น  และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น  ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา  เช่น  วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง  ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยจุดไฟเผารถของตนเอง  โดยมีเจตนาจะให้ไฟลามไปไหม้รถของนาย  ก  ด้วยนั้น  ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาที่จะเผารถของนาย  ก  โดยตรง  เมื่อไฟได้ไหม้รถของนาย  ก  ได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา  217  ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ตามมาตรา  217

 

ข้อ  4  เด็กหญิงนกอายุ  14  ปี  รักนายปูมาก  เต็มใจจะไปร่วมประเวณีกับนายปู  เมื่อนายปูพาเด็กหญิงนกเข้าไปในห้อง  พวกของนายปูอีก  2  คน  ก็เดินตามเข้าไปในห้องขอกระทำชำเราด้วย  เด็กหญิงนกก็ยินยอมให้กระทำชำเราตามคำขอร้องของนายปู  พวกของนายปูได้ผลัดกันกระทำชำเรา  ส่วนนายปูขอประทำชำเราเป็นคนสุดท้าย  ได้ถอดกางเกงยืนรออยู่  แต่มีคนมายังที่เกิดเหตุเสียก่อน  นายปูจึงไม่ได้กระทำชำเรา  ดังนี้นายปูมีความผิดเกี่ยวกับเพศประการใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  277  วรรคแรกและวรรคสี่  ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี  ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน  โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  ต้องระวางโทษ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน  อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอมหรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด  หรือโดยใช้อาวุธ  ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  277  วรรคแรก  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       กระทำชำเรา

2       เด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปี  ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน

3       โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

4       โดยเจตนา

กระทำชำเรา  หมายความว่า  การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ  โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ  ทวารหนัก  หรือช่องปากของผู้อื่น  หรือการใช้สิ่งใดกระทำกับอวัยวะเพศ  หรือทวารหนักของผู้อื่น

เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี  ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน  หมายความว่า  ผู้ถูกกระทำชำเราตามมาตรานี้ต้องเป็น

(ก)  เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี  ไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นชายหรือหญิง  หากอายุเกินกว่า  15  ปี  ย่อมไม่เข้าเงื่อนไขของมาตรานี้  และ

(ข)  เด็กซึ่งถูกกระทำนั้นต้องมิใช่ภริยาหรือสามีของผู้กระทำ  หากเด็กนั้นเป็นภริยาหรือสามีของผู้กระทำแล้ว  ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  แต่ทั้งนี้คำว่า  สามีภริยา  ในที่นี้หมายถึงสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  หมายความว่า  เด็กผู้ถูกกระทำชำเราตามมาตรานี้จะยินยอมให้กระทำชำเราหรือไม่ยินยอมให้กระทำชำเราก็เป็นความผิดทั้งสิ้น  ทั้งนี้ก็เพราะว่าเด็กอายุเพียงเท่านั้นยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีพอ  ความรู้สึกนึกคิดยังน้อย  สมควรจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

กรกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ผู้กระทำจะต้องกระทำ  โดยเจตนา  กล่าวคือ  จะต้องรู้ว่าเด็กนั้นมิใช่ภริยาหรือสามีของตน  และเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปี  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมถือว่าขาดเจตนาไม่เป็นความผิด  เช่น  จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุ  15  ปี  โดยเข้าใจว่าเด็กหญิงนั้นอายุ  18  ปี  โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมให้กระทำชำเรา  ดังนี้  จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา  277

อนึ่งคำว่า  โทรมหญิง  หมายถึง  การร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเราต่อเนื่องกันไป

การร่วมกันกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้นจะต้องกระทำก่อนหลังกันอยู่ระหว่างที่พวกของนายปูบางคนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว  บางคนกำลังกระทำชำเราอยู่  การที่นายปูได้ถอดกางเกงยืนรออยู่พร้อมที่จะกระทำชำเราเด็กหญิงเป็นคนต่อไป  โดยเด็กนั้นยินยอม  แม้จะยังไม่ทันได้กระทำชำเราเด็กหญิงนก  เพราะมีคนมายังที่เกิดเหตุเสียก่อน  ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดแล้ว  ดังนั้นนายปูจึงอยู่ในลักษณะเป็นตัวการร่วมกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปี  อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามมาตรา  277  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  83  (ฎ.2200/2527)

อย่างไรก็ตาม  เมื่อการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง  ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้น  จะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา  277  วรรคสี่หรือไม่  เห็นว่า  เหตุในลักษณะฉกรรจ์ที่จะทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น  ตามมาตรา  277  วรรคสี่นี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์คือ

1       ร่วมกันกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน  และ

2       เด็กนั้นไม่ยินยอม

เมื่อเด็กหญิงนกยินยอมให้กระทำชำเรา  แม้จะเป็นความผิดอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงก็ตาม  ผู้กระทำความผิดก็ไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามวรรคสี่แต่อย่างใด  คงต้องรับโทษเพียงวรรคแรกเท่านั้น

สรุป  นายปูเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิง  ตามมาตรา  277  วรรคแรก

Advertisement